วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การสื่อสารที่สับสน คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556

การสื่อสารที่สับสน

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 3 คน 

            นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการของกองทุนฯ ได้ออกคำเตือนในการประชุมประจำปีล่าสุด ของธนาคารโลก/กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ว่า การเสพติดนโยบายการเงินแบบนอกกรอบปกติของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งบรรดานายธนาคารกลางของโลกพยายามประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยถ้อยคำใหม่ๆ เพื่อให้สวยหรูเกินคาด เพื่อหาความชอบธรรมจากการแทรกแซงตลาดเงิน
             การเสพติดดังกล่าว ทำให้เกิดภาพลวงว่า มาตรการทางการเงินแบบนอกกรอบ (โดยเฉพาะ QE) เป็นยาสารพัดนึก ทั้งที่ความจริงกลับสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินรุนแรง ไม่ว่าจะให้ดำเนินต่อไป หรือลดการใช้ลง
             ทางเลือกสำหรับลดความผันผวนอย่างยั่งยืนที่แท้ที่ถูกเสนอขึ้น คือ การสื่อสารจากธนาคารกลางที่ชัดเจน เกี่ยวกับมาตรการรับมือต่างๆ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากเลิกนโยบายนอกกรอบปกติช้าไปหรือเร็วเกินไป 
             คำเตือนสติดังกล่าว ไม่แตกต่างไปจากคำเตือนของจิ้งหรีด เจมินี่ คริกเก็ต ในนิทานเรื่อง พิน็อคคิโอ เพราะว่า วัฒนธรรมของนายธนาคารกลางทั้งหลายซึ่งโคลนนิ่งกันทั่วโลก และเสพติดถอนตัวไม่ขึ้น คือ การสื่อสารแบบกำกวม ให้ต้องตีความกันต่อ เหตุผลที่นำมาอ้างกันพร่ำเพรื่อคือ เพราะตลาดเงินเป็นตลาดที่ไม่แข่งขันสมบูรณ์ ในทางปฏิบัติจึงต้องมีธนาคารกลางเป็นผู้แทรกแซงที่ทรงอิทธิพลในฐานะผู้กำหนดกติกา/ผู้เล่นที่ทรงคุณธรรม
            ภารกิจรูปธรรมของนายธนาคารกลางของทุกประเทศ มีสูตรสำเร็จ 3 ประการ เพื่ออ้างเหตุผลว่ารักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือ 1) การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (ผ่านการพิมพ์ธนบัตร) 2) การดำเนินการผ่านตลาดเงิน (OMOs- open market operations) และ 3) หน้าต่างตั้งรับ (standing facilities as the last resort)
            สูตรข้อที่ 2) ซึ่งเป็นไม้ตายของธนาคารกลางทั้งหลาย คือการเข้าแทรกแซงตลาดเงิน ที่ยังคงดำเนินไปไม่สิ้นสุด ผ่านกลไกดอกเบี้ย ด้วยกรรมวิธี 4 ด้าน ประกอบด้วย การแทรกแซงผ่านตลาดซื้อคืน/ขายคืนพันธบัตร การออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง การสว็อปเงินตราต่างประเทศ และการทำธุรกรรมซื้อ/ขายหลักทรัพย์
            กระบวนการงานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามภารกิจ ได้สร้างสมวัฒนธรรมการสื่อสารเพื่อส่งสัญญาณทางการเงินล่วงหน้า จึงเป็นบทบาทที่ปรากฏซ้ำซากของนายธนาคารกลาง (รวมทั้งแบงก์ชาติของไทย)
             ปัญหาหลักของการส่งสัญญาณทางการเงินล่วงหน้า อยู่ที่ความคลุมเครือ และความไม่สมบูรณ์ ทั้งโดยสาระของข่าวสาร โดยช่องทางของข่าวสาร รวมทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาของผู้บริหารธนาคารกลาง ที่ให้ผลสะเทือนต่างกัน
             ความคลุมเครือ กำกวม และไม่สมบูรณ์ของการสื่อสาร ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่รู้กันดี ถึงขั้นในสหรัฐมีศัพท์ที่ใช้กันในวงการผู้สื่อข่าวทั้งหลายว่า Fed’s Lips หมายถึงการอ่านรหัสจากริมฝีปากของผู้ว่าเฟดฯ  โดยเจ้าหน้าที่ของเฟดฯนิรนาม ที่บรรยายสรุปและตีความให้ผู้สื่อข่าวเข้าใจถึงความหมายระหว่างบรรทัด
              แม้จะมีความพยายามเช่นนั้น แต่การสื่อสารของนายธนาคารกลาง ก็ยังคงมีปัญหาขีดจำกัด และไม่สมบูรณ์ต่อไปในหลายกรณี  
              บางครั้ง (และบ่อยครั้ง) นายธนาคารกลางอาจต้องการทำให้สาธารณชนไขว้เขว เพราะต้องการควบคุมให้สังคมเข้าใจในทิศทางที่ตนต้องการ ทั้งที่ในความเป็นจริงควรจะทำให้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความหลงผิด
              ในอดีต ในห้วงยามที่ ธนาคารกลางถูกควบคุมโดยกระทรวงการคลังจนไม่มีอิสระ การสื่อสารที่นายธนาคารกลางยุคดังกล่าวมักเน้นหนักที่เรื่องเกี่ยวโยงกับผลกระทบจากการที่รัฐจ่ายเงินมากขึ้น แต่กลับไปลดสภาพคล่องของภาคเอกชนลงไปเพราะถูกแย่งแหล่งทุน (crowding-out effect) เช่น การขึ้นภาษี หรือ ขึ้นดอกเบี้ย แทนที่จะกู้เงินต่างประเทศ ทำให้เอกชนลดการลงทุนลง
               ปัจจุบัน ธนาคารกลางทำการ “ปลดแอก” จากกระทรวงการคลัง (ดังกรณีกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปัจจุบัน) ก็เกินเลยเป็นการพยายามสร้าง “รัฐอิสระ” (หรือรัฐซ้อนรัฐ) ทำให้ การสื่อสาร มักมีเงื่อนไขกำกับเสมอว่า “ข้ารู้ดีกว่า” เอาไว้ด้วย และมักจะอ้างถึง “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” เพื่อยืนยันความชอบธรรม
              หนึ่งในพฤติกรรมที่โดดเด่นของนายธนาคารกลาง (โดยเฉพาะผู้บริหารแบงก์ชาติของไทย) ก็คือ การออกมาวิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐในนามของข้อมูลข่าวสาร “บริสุทธิ์กว่า”และ “โปร่งใสกว่า” ผ่านช่องทางของสื่อต่างๆ ที่สร้างเครือข่ายเอาไว้ยาวนาน จนกระทั่งสื่อเหล่านั้นกลายเป็นกระบอกเสียงที่ซื่อสัตย์ของนายธนาคารกลางอย่างคลั่งไคล้ โดยหาได้สำนึกไม่ว่า พวกสื่อเหล่านั้นกำลังถูกครอบงำโดย “คุณธรรม” (ที่มีคำถาม) ของนายธนาคารกลาง
              ตัวอย่างเช่น เฟดฯ ซึ่งร่วมสมคบคิดกับสื่ออเมริกัน ทำการจับชาวโลกเป็นตัวประกัน โดยเป่าสมองให้เชื่อว่า มาตรการ QE คือยาสารพัดนึก และเมื่อพากันจุดกระแสเริ่มพูดถึงการลด QEลง ค่าเงินในชาติกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ก็มีอันทรุดตัวลงสู่จุดต่ำสุดครั้งแล้วครั้งเล่า มีเพียงไม่กี่ประเทศ ที่สามารถรักษาระดับค่าเงินของตนไว้ได้
               เหตุผลเบื้องหลังก็เพราะพวกเขาเชื่อว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด มีนโยบายที่แข็งแรงมากพอจะรับมือกับการไหลเข้า-ออกของเงินทุนเก็งกำไรข้ามชาติอย่างพรวดพราด แม้แต่การจัดการกับอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของประเทศที่ขึ้นๆ ลงๆ
                ข้อเรียกร้องให้นายธนาคารกลางสื่อสารชัดเจน จึงเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีทางบรรลุเป้าหมาย ทำนองเดียวกันกับการแปะป้ายข้างรถสีแดงว่า “รถคันนี้สีเขียว”  ตราบใดที่การแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางยังเป็นจารีตชอบธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น