วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิรูปธนาคารโลก คอลัมน์ วันอังคารที่ 08 ตุลาคม 2556

ปฏิรูปธนาคารโลก

คอลัมน์ วันอังคารที่ 08 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 4 คน 

               อดีตหมออเมริกันเชื้อสายเกาหลี จิม ยอง คิม ซึ่งนั่งเป็นผู้ว่าการธนาคารโลก (IBRD) ในโควตาสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่า ในการประชุมธนาคารโลก จะเสนอแผนการปฏิรูปครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี ในการประชุมใหญ่ประจำปี ธนาคารโลก/กองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนนี้
               เหตุผลที่เป็นทางการให้ดูสวยหรูก็คือ เพื่อปรับปรุงให้ธนาคารโลกมีความฉับไวและทันสถานการณ์ ต่อการแก้ไขปัญหาการพัฒนาของชาติต่างๆ ในโลกอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เยิ่นเย้อเป็นเรือเกลือเพราะระบบราชการแบบที่เคยเป็นมา
              ในแผนดังกล่าว รวมถึงการลดขนาดขององค์กร (ลดจำนวนพนักงานที่เป็นแมวอ้วน) และการจัดโซนนิ่งเครือข่ายเพื่อให้เหมาะกับสภาพปัญหาเฉพาะภูมิภาค ไม่ใช่การตัดสินใจรวมศูนย์แบบเหมารวมเหมือนที่ผ่านมา จนกระทั่งมีคนตั้งคำถามว่า ควรจะเปลี่ยนฉายาของธนาคารโลก เป็น “ธนาคารเพื่อชาติที่ร่ำรวยของบางภูมิภาค” มากกว่า
              การลุกขึ้นมาปฏิรูปธนาคารโลกครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโต้ข้อกล่าวหาของชาติกำลังพัฒนาจำนวนมากที่มองเห็นว่า ธนาคารแห่งนี้ ซึ่งแต่ละปี ได้จ่ายเงินช่วยเหลือการพัฒนาสาธารณูปโภคและเรื่องพื้นฐานอื่นๆ ของชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายประมาณปีละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในกลไกเศรษฐกิจว่าเป็นแค่เครื่องมือสนองตอบนโยบายต่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจทุนนิยมของสหรัฐฯและมหาอำนาจตะวันตก มากกว่าจะทำให้ชาติต่างๆ พ้นจากความยากจน ซึ่งท้ายสุดผลพวงของการพัฒนาภายใต้แนวทางธนาคารโลก จะทำให้ชาติที่ร่ำรวยร่ำรวยมากขึ้น และชาติที่ยากจน ยากจนต่อไปชั่วนิรันดร
               ข้อกล่าวหาดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่มีมายาวนานหลายทศวรรษแล้ว ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งไม่ได้ทำให้ทิศทางและอหังการของธนาคารโลกหวั่นไหวแม้แต่น้อย แต่ที่ถึงขั้นจะทำให้ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปตนเองขนานใหญ่ดังที่ดำริกันนี้ น่าจะเกิดจากสาเหตุอื่นที่สำคัญกว่า
              สาเหตุที่ว่า คือ อิทธิพลของธนาคารโลกเริ่มลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประเทศต่างๆ พึ่งพาแหล่งเงินช่วยเหลือหรือเงินกู้อื่นๆ ทั้งจากแหล่งเงินกู้ของภาครัฐข้ามประเทศในภูมิภาค หรือ แหล่งช่วยเหลือภาคเอกชน หรือ แหล่งระดมทุนใหม่ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งตลาดแบบดั้งเดิมที่ธนาคารโลกเคยมีอำนาจมาก่อน
               อำนาจครอบงำ หรือ hegemony ที่ธนาคารโลกเคยมีมา เสื่อมถอยลงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดเจนโดยไม่มีข้อสงสัย จนกระทั่งทำให้คำกล่าวหาที่ว่า เงินกู้ธนาคารโลกที่ปล่อยออกไปนั้นคือ ต้นธาร “วัฒนธรรมแห่งความหวาดกลัว” ของชาติกำลังพัฒนา
              โครงสร้างทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ในโลก มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 3 ใน 4 หรือ 75%ของชาติที่เคยยากจนซ้ำซาก ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศไปพยุงฐานะทางเศรษฐกิจและความอยู่รอดของประชากร ได้กลายเป็นชาติกำลังพัฒนาใหม่ที่มีชนชั้นกลางเป็นแกนหลักของสังคม และมีการเติบโตที่รวดเร็วจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่บางครั้งหลุดกรอบจารีตแนวคิดของทุนนิยมเสรีแบบที่ธนาคารโลก/กองทุนการเงินระหว่างประเทศคอยบงการ
             ความมั่งคั่งของชาติต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ความจำเป็นต้องพึ่งพา และยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดของธนาคารโลกแบบในอดีต หมดความจำเป็นอีกต่อไป  หรือหากจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้ ก็ต่อรองเงื่อนไขอย่างสุดฤทธิ์เพื่อไม่ให้ตกเป็นเบี้ยล่างมากมายเกินจะรับได้ หากไม่ได้ ก็หาเงินกู้จากแหล่งอื่นๆ แทน
             นอกเหนือจากนั้น การที่ความรู้เรื่องการระดมแหล่งทุนในเวทีการเงินระหว่างประเทศ ทำให้บรรดาชาติต่างๆ สามารถเรียนรู้ที่จะระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ในหลากรูปแบบจากตลาดเงินได้อย่างคล่องตัว โดยผ่านคำแนะนำที่ชาญฉลาดของที่ปรึกษาการเงินเอกชนจากทั่วโลก พร้อมกับหาวิธีบริหารต้นทุนการเงินที่มีประสิทธิภาพได้อย่างดี โดยไม่ต้องง้อธนาคารโลกอีกต่อไป
             อินเดีย และจีน คือต้นแบบ ”ชาตินอกกรอบ” ที่มีพัฒนาการบนเส้นทางของตนเองโดดเด่นที่สุด ตามมาด้วยชาติ BRICS  5 ชาติ ที่กลายเป็นผู้ท้าทายอำนาจครอบงำของธนาคารโลก/กองทุนการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว ถึงขั้นที่ล่าสุดกลุ่มชาติ BRICS กำลังดำเนินการท้าทายด้วยการประกาศก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาของตนเอง ด้วยเงินลงขันครั้งแรก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารโลก
             แม้จะไม่มีรายละเอียดออกมามากนัก แต่แนวคิดของหมอจิม ยอง คิม ก็ไม่เลวเสียทีเดียว เพราะตั้งเจตนาว่าจะปรับรูปแบบการให้บริการของธนาคารโลกมาเป็น  ธนาคารบริการเบ็ดเสร็จ (Solution Bank)  หรือธนาคารความรู้ (Knowledge Bank) ที่ครบเครื่องทั้งการให้เงินกู้ ให้คำปรึกษา และส่งทอดความช่ำชองในการบริหารจัดการ โดยหวังว่าบริการที่จัดให้ จะจัดการให้ลูกหนี้บริหารเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มีการรั่วไหลเบี้ยบ้ายรายทางต่ำ
             บริการเบ็ดเสร็จดังกล่าว มุ่งเป้าหมายว่า ธนาคารโลกจะทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกับภาคเอกชนในการปล่อยเงินกู้หรือพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลก พร้อมกับเข้าไปร่วมแบกรับความเสี่ยง ร่วมรับรู้ผลตอบแทนการลงทุน และร่วมลงทุนในธุรกรรมหลากหลาย ครอบคลุม 14 ปริมณฑล ที่รวมเอาภาคเกษตรกรรม การศึกษา พลังงานและแปรรูป สาธารณสุขและโภชนาการ การค้าและการแข่งขัน ที่อาจจะถูกตั้งคำถาม ไม่ใช่ลอยตัวเหนือปัญหา แล้วทำตัวเป็น "ผู้รู้” ที่เทศนาคำสอนอันเลื่อนลอยซ้ำซาก ดังเช่นที่ผ่านมา
               การปรับตัวดังกล่าว ทำให้หลายคนมองย้อนกลับไปถึงการปรับตัวขององค์กรหลักของโลกในประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย ที่พยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอดและรักษาอำนาจเอาไว้ยาวนาน ดังเช่น ศาสนจักรโรมันคาทอลิกที่ปรับตัวใหญ่หลายครั้ง รวมทั้งการปฏิวัติเชิงตอบโต้ (Counter Revolution) กับพวกโปรเตสแตนท์ของยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ 16  อันลือลั่นมาแล้ว
              ธนาคารโลก จะทำได้สำเร็จหรือไม่ กับความพยายามปรับตัวรอบใหม่นี้ เพื่อไม่ให้เสาหลักทางการคลังของโลกที่ตั้งเจตนาเอาไว้ตอนที่ก่อตั้งในอดีต ยังคงรักษาเอาไว้ได้ ไม่หมดสภาพอย่างง่ายดายจากพลวัตของโลก เป็นโจทย์ท้าทาย
              คนหรือองค์กรที่ถูกบังคับให้ต้องปรับตัวรุนแรงเช่นนี้ ถือว่าเป็น ”เหยื่อของสถานการณ์” ที่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากไปตายเอาดาบหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น