วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตั้งกองทุนความมั่งคั่ง คอลัมน์ วันอังคารที่ 08 ตุลาคม 2556

ตั้งกองทุนความมั่งคั่ง

คอลัมน์ วันอังคารที่ 08 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

            สิ่งที่มาพร้อมกับประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ นายอำพน กิตติอำพน ก็คือ แนวคิดในการจัดตั้ง กองทุนความมั่งคั่ง” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “ซอฟเวอรีน เวลท์ ฟันด์”
           เพื่อนำทุนสำรองส่วนเกินเงินตราระหว่างประเทศไปจัดการบริหาร โดยไม่แตะต้องเงินบริจาคส่วนหลวงตาบัว
           ทุนสำรองฯในปัจจุบันอยู่ในระดับ 170,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดร.อำพนพูดว่า คงสำรองฯไว้แค่ 8 หมื่นล้านเหรียญฯก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนที่เหลือก็เอาไปลงทุนภายใต้กรอบลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด
           ผมก็ว่าไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินเลยไปแต่ประการใดเลย
           ตามเกณฑ์มาตรฐานปกติที่ปฏิบัติใช้กันทั่วโลก ทุนสำรองของประเทศ มีพอใช้สำหรับการนำเข้า 4 เดือนก็เพียงพอแล้ว สำหรับการใช้หนี้ระยะสั้นที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และการหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร
            ขณะนี้ ประเทศไทยมีการนำเข้าโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ฉะนั้นที่ดร.อำพนบอกว่า เก็บทุนสำรองฯไว้แค่ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็เป็นการเพียงพอแล้ว จึงไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินเลยไปจริงๆ
           ที่เหลือคือส่วนเกิน ที่ควรเอามาบริหารให้เกิดดอกออกผล
          ในปัจจุบัน ทุนสำรองฯของประเทศไทยที่เคลื่อนไหวอยู่ในระหว่าง 170,000-180,000 ล้านดอลลาร์ เอาไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯที่นิวยอร์ก ได้ดอกเบี้ยอยู่แค่ 0.5-0.75% เท่านั้น
          ในขณะที่ออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ในราว 3-4%
         ยิ่งมีทุนสำรองฯมากก็ยิ่งขาดทุน จึงไม่ต้องสงสัยเลยทำไมงบการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงย่ำแย่เช่นนี้
         การจัดตั้ง กองทุนความมั่งคั่ง” จึงเป็นทางออก ซึ่งหลายประเทศที่มี "ส่วนเกินทุนสำรองฯ” ก็จัดตั้งกองทุนนี้ และทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเสียด้วย
         สาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้กองทุนความมั่งคั่งไปลงทุนในแหล่งพลังงานทั่วโลก เรียกว่าแทบจะทุกภาคพื้นทวีป ซึ่งกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างความมั่งคั่งทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงไปในตัว
         สิงคโปร์นี่ก็ต้นตำรับ "ซอฟเวอรีน เวลท์ ฟันด์” เลย ลงทุนสารพัดทุกด้านทั้งแบงกิ้ง บริษัทโทรคมนาคม พลังงาน ค้าส่งค้าปลีกในประเทศต่างๆ
         ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ การลงทุนในบริษัทชินคอร์ป 7หมื่นกว่าล้านบาทของทักษิณ ชินวัตรเมื่อ 7 ปีก่อนนั่นปะไร
         เดี๋ยวนี้ 7 ปีผ่านไป ยิ่งกว่า ถอนทุนคืน” เสียอีก ฟาดปันผลจากผลกำไรเกิน 1 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว และก็ยังจะกินดอกผลระยะยาวได้ต่อไปอีก ตราบใดที่ธุรกิจชินคอร์ปยังทำมาค้าขึ้นเช่นทุกวันนี้
         หรือหากจะถอนทุนคืนไป ก็ยังได้กำไรเป็นเท่าตัวจากส่วนต่างราคาหุ้นตอนซื้อแค่ 49 บาท แต่ตอนนี้ราคาหุ้นชินคอร์ป ซึ่งเปลี่ยนมาเป็น INTUCH  ราคาปาเข้าไป 84 บาทแล้ว
         จะเป็น 100 บาทในระยะเวลาอันใกล้ ก็ดูจะไม่ยากเลย
         ส่วนของไทยเรา ถ้าคิดจะตั้งกองทุนดังกล่าว ก็อาจจะไม่ต้องโลดโผนเอาเงินไปลงทุนอะไรมากมายก็ได้
         เอาเงินตราต่างประเทศที่เป็นดอลลาร์ไปให้บริษัทน้ำมันเช่นปตท.หรืออื่นๆ กู้ คิดอัตราดอกเบี้ยสัก 3-4% ก็จะเกิดดอกผลมากมายแล้ว
          ส่วนงานราชการรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องกู้เงินตราต่างประเทศมาทำโครงการ ก็มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะได้รับเงินกู้ผ่อนปรนจากแบงก์ชาติ โดยแบงก์ชาติก็ยังได้ดอกผลตอบแทนที่ดีกว่าการเอาไปลงทุนพันธบัตรสหรัฐฯอัตราดอกเบี้ยจิ๊บจ๊อยแค่ 0.5-0.75% เสียด้วย
          โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ที่ต้องนำเข้าเครื่องจักร และหัวรถจักรต่างๆ นี่ก็ยิ่งเหมาะเข้าไปใหญ่เลย
         เป็นการบริหารจัดการเงินที่ช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินอีกโสดหนึ่งด้วย โดยแบงก์ชาติก็ยังได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรสหรัฐฯ
        “ดร.กบ” มาเป็นประธานแบงก์ชาติเที่ยวนี้ มาแรง! และก็มาถูกที่ถูกเวลาจริงๆ ในการนำเสนอการจัดตั้ง”กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ”
        ส่วนเงินบริจาคของหลวงตาทั้งเงินสดและทองคำรวมแล้วก็คงไม่เกิน20ล้านเหรียญฯนั้น ก็ไม่ควรจะไปแตะต้องของท่านเป็นอันขาด
       แต่ก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ที่จะเอาเงิน 20 ล้านเหรียญฯมาชี้นำและครอบงำเงิน 1.7 แสนล้านเหรียญฯจนประเทศชาติไม่อาจบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น