เรื่องฉาวของเฟด
คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 03 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 9 คน
ใครที่เคยเชื่อว่านายธนาคารกลางทั้งหมดเป็นคนมือสะอาด เป็นคนที่อุทิศตัวเพื่อเศรษฐกิจมวลรวมของชาติ และมีคุณธรรมสูง คงจะต้องตกใจไม่น้อย เมื่อมีข่าวว่า มีใครบางคนในเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐ ใช้ข้อมูลข่าวสารที่รั่วออกมาสมคบหาประโยชน์ในตลาดเก็งกำไร ทำนองเดียวกับนาธาน ร็อธไชลด์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลรั่วไหลในตลาดหุ้นลอนดอนเมื่อ 200 ปีก่อน
หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าเป็นความจริง แต่การออกมายอมรับของผู้บริหารเฟด และอัยการของรัฐนิวยอร์ก ก็ทำให้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มี ”หนอน” ข้างในธนาคารกลางเองที่ไม่มีใครรู้ว่า กระทำกันมายาวนานแค่ไหน
เรื่องความลับของเฟดรั่วทำให้คนบางกลุ่มหาประโยชน์ ถูกตั้งคำถามมาเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาครั้งหนึ่ง เมื่อมีการตรวจพบว่า ข้อมูลในการหารือกันของผู้บริหารสูงสุดของเฟด หรือคณะกรรมการดำเนินการผ่านตลาดเงิน (FOMC) ซึ่งทำหน้าที่ปรับระดับสภาพคล่องและแทรกแซงตลาดเงินอันทรงอิทธิพล รั่วไหลไปถึงมือของกลุ่มนักเก็งกำไรบางคนที่หากำไรจากตลาดก่อนเวลาประกาศจริง 19 ชั่วโมง
ครั้งนั้น มีความพยายามทำการ ”เต่าใหญ่ไข่กลบ” กันว่า เป็นจินตนาการเกินจริงของนักสังเกตการณ์และสื่อขี้ระแวงหรือเสียประโยชน์บางคนที่ขยันโวยเท่านั้น แล้วเรื่องก็ทำท่าเงียบไป
หลายคนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ถูกกล่าวหาว่า เอาฝันร้ายจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Wall Street เกี่ยวกับตัวร้ายที่ชื่อ กอร์ดอน เกร็กโก้ ซึ่งจ่ายเงินซื้อข้อมูลลับในตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อหากำไรอย่างละโมบ
จนกระทั่งล่าสุด พฤติกรรมฉาวโฉ่ของเฟดก็ปรากฏชัดเจนเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อมีการเปิดเผยว่า ข่าวลับเรื่องเฟดจะประกาศว่าจะลดการใช้มาตรการ QE ได้รั่วออกมาก่อนที่การประชุมจะสิ้นสุดลง แล้วนายเบน เบอร์นันเก้ ออกมาประกาศ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ มีใครบางคน โดยเฉพาะเทรดเดอร์ของพร็อพเทรดที่ซื้อขายทำกำไรผ่านคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงในตลาดอนุพันธ์ที่ตลาดชิคาโก ทำกำไรมหาศาลในชั่วเวลาไม่กี่ชั่วโมงจากการรั่วของข้อมูลดังกล่าว
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตลาดและ SEC (ก.ล.ต.ของสหรัฐ) พบว่า คำสั่งซื้อขายเก็งกำไรจากสัญญาล่วงหน้าของเทรดเดอร์ผ่านชุดคำสั่งอัลกอริธึ่มที่ผิดสังเกตในกรณีดังกล่าว มีมูลค่ามากถึง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน .07 วินาที ก่อนที่เฟดจะเริ่มการแถลงข่าว ซึ่งหลังจากนั้น ตลาดหุ้นและอนุพันธ์ทุกตลาดกลายเป็นขาขึ้นที่สามารถทำการปล่อยของทำกำไรกันได้อย่างเต็มที่ เพราะวันนั้น ดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี S&P500 ปิดตลาดด้วยดัชนีสูงสุดหรือนิวไฮ
คำถามก็คือ ข่าวสารรั่วดังกล่าวเกิดจากใคร และด้วยกระบวนการใด เพราะตามปกติแล้ว ก่อนการแถลงข่าว เฟดจะมีการแจกเอกสารในห้องปิดที่ไร้เครื่องมือสื่อสารกับบุคคลภายนอกห้องแก่ผู้สื่อข่าวที่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมายาวนาน แล้วถึงจะยินยอมให้มีการส่งข่าวสารออกไปเมื่อถึงกำหนดเวลา การที่มีข่าวรั่วออกไปก่อนเวลาที่กำหนดจึงเป็นช่องโหว่ที่ต้องหาคำตอบโดยด่วนที่สุด หรือไม่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้ข่าวสารใหม่กับผู้สื่อข่าว
เรื่องนี้ ผู้บริหารสูงสุดของ SEC ในนิวยอร์ก ระบุว่า จะต้องทำการตรวจสอบและขอความร่วมมือจากผู้ที่ทราบเบาะแสถึงการรั่วไหลของข้อมูลลับที่รั่วไหลดังกล่าว สามารถแจ้งมาได้ แต่สำหรับนักลงทุนและนักการเงินในวอลล์สตรีทแล้ว การตรวจสอบและหาเบาะแสดังกล่าวเปรียบได้กับการงมเข็มในมหาสมุทรที่ยากจะจับมือใครดมได้ และท้ายสุด คนที่กระทำผิดก็คงจะลอยนวลไปตามเคย เหมือนเช่นที่ผ่านมาในอดีต
ผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยมากที่สุดว่าจะเป็นต้นตอของการกระทำผิดดังกล่าว มีอยู่ 2 กลุ่มคือ เจ้าหน้าที่ของเฟดเองที่เข้าข่าย “เกลือเป็นหนอน” กับผู้สื่อข่าวในสื่อบางฉบับในห้องแถลงข่าว แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นผู้กระทำ และโดยทางปฏิบัติ ก็คงไม่มีใครออกมายอมรับอยู่ดี เพราะโทษสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าวค่อนข้างรุนแรงอย่างมาก
ตามกฎหมายที่เรียกว่า Martin Act เกี่ยวกับการให้อำนาจตรวจสอบการใช้ข้อมูลวงใน หรือข้อมูลลับของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการเก็งกำไร เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวน หรือ ตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ในทางปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ถึงความผิดปกติดังกล่าวได้ง่ายๆ
กฎหมาย Martin Act เป็นกฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 ของรัฐนิวยอร์กโดยเฉพาะ แต่ได้รับฉันทานุมัติจากรัฐอื่นๆ ทั่วสหรัฐในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการใช้กฎหมายนี้ข้ามรัฐในการตรวจสอบการฉ้อฉลทางการเงินที่ต้องสงสัยได้ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกท้าทายมาแล้วหลายครั้งว่า ถึงเวลาใช้จริงขึ้นมาก็มีอุปสรรคที่จะนำตัวคนกระทำผิดมาลงโทษ
ที่น่าสนใจก็คือ ปัญหาเกลือเป็นหนอนโดยเจ้าหน้าที่ของเฟดเองนั้น ไม่เคยมีการตรวจสอบ หรือถูกตั้งคำถามเอาเสียเลย ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติเช่นกัน ว่า ในโลกอันเต็มไปด้วยผลประโยชน์จากพฤติกรรมฉ้อฉลสารพัดนี้ จะมีคนกลุ่มหนึ่งได้รับการยกเว้นจากการตั้งข้อสงสัย
วัฒนธรรมของธนาคารกลางที่เห็นคนในองค์กรของตนเองดีเหนือสามัญมนุษย์อย่างที่เกิดกับเฟดนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะในธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ก็มีมาตรการ “ส่วนตัว” อย่างน่าพิศวงทำนองเดียวกัน ไม่ว่าชาติไหนๆ โดยไม่ต้องบันทึกไว้ในBelieve it or not ของริปเล่ย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น