วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นัยทางเศรษฐกิจของการปิดทำการของรัฐบาลสหรัฐฯ (US Government Shutdown) ผู้เขียน: ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ และ ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล วันที่: 1 ตุลาคม 2556

นัยทางเศรษฐกิจของการปิดทำการของรัฐบาลสหรัฐฯ (US Government Shutdown)

ผู้เขียน: ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ และ ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล
วันที่: 1 ตุลาคม 2556

event

  • หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ต้องปิดทำการอย่างเป็นทางการวันนี้ (1 ตุลาคม 2013) หลังจากสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องงบประมาณสำหรับปีการคลัง 2014 ซึ่งพรรค Republican พยายามจะเชื่อมโยงกับการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพ (Obamacare)

analysis

  • US Government Shutdown หมายถึงการปิดการดำเนินงานของส่วนงานที่ไม่ได้มีความสำคัญเร่งด่วน (Nonessential Operations) ซึ่งส่วนงานดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 3 ของรัฐบาลสหรัฐฯ และจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนงานดังกล่าวจำนวนประมาณ 800,000 คน (0.5% ของกำลังแรงงานสหรัฐฯ) ต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน โดยหน่วยงานที่จะถูกพักงานจะครอบคลุมตั้งแต่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจในกรุงวอชิงตัน
  • ประเด็นที่สำคัญคือผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รายจ่ายของภาครัฐที่ลดลงอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการเจรจาเรื่องหน้าผาการคลัง (Fiscal cliff) ในช่วงปลายปี 2012 โดยในครั้งนี้ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นอาจสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา หากนักลงทุนประเมินว่าการปิดทำการทำงานของหน่วยงานรัฐในครั้งนี้ จะหมายถึงความยากลำบากในการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

implication

  • EIC ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการปิดการทำงานของรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยการส่งออกของไทยจะแทบไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่ในกลุ่มสินค้าคงทน เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การปิดทำการเพียงชั่วคราวไม่น่าจะกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าดังกล่าว
  • EIC คาดการหยุดทำการจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่นานนัก และจะคลี่คลายก่อนการชนเพดานของหนี้สหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้  เนื่องจากประชาชนสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับพรรค Republican ที่เชื่อมโยงการแก้กฎหมายปฏิรูปการประกันสุขภาพ กับการอนุมัติงบประมาณประจำปี นอกจากนี้แรงกดดันจากภาคการเงินที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้สภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องงบประมาณได้เร็วยิ่งขึ้น
  • การหยุดทำการไม่น่าจะส่งผลต่อช่วงเวลาที่หนี้ของสหรัฐฯ จะชนเพดาน แต่ผลของการเจรจาอาจจะกำหนดทิศทางการเจรจาเรื่องการขยายเพดานหนี้ โดยการหยุดทำการของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่น่าที่จะทำให้หนี้สาธารณะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามกรณีที่เลวร้ายที่สุดและอาจเป็นไปได้คือ สภาคองเกรสบรรลุข้อตกลงต่ออายุงบประมาณสั้นๆ เป็นเวลา 1-2 เดือน และทางพรรค Republican จะเชื่อมโยงการแก้กฏหมายปฏิรูปการประกันสุขภาพเข้ากับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะแทน ทั้งนี้ความไม่แน่นอนในการเจรจาเรื่องงบประมาณและเพดานหนี้สาธารณะดังกล่าวเพิ่มความเป็นไปได้ให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจเลื่อนการปรับลดขนาดมาตรการ QE (QE tapering) ไปจนถึงช่วงต้นปี 2014
  • การหยุดทำการเพียงระยะสั้นๆ จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก โดยผลกระทบหลักต่อภาคเศรษฐกิจจริงจะมาจากการสูญเสียรายได้ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกพักงานจำนวน 800,000 คน สำนักวิจัยต่างประเทศประมาณการว่าการที่หน่วยงานภาครัฐปิดทำการ 2-3 วันจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ลดลงเพียงประมาณ 0.1 percentage point อย่างไรก็ดีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมากขึ้นตามระยะเวลาการหยุดทำการ หากหน่วยงานรัฐต้องหยุดทำการเป็นเวลา 1 สัปดาห์ อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 0.2-0.3 percentage point จากที่ประมาณการว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ประมาณ 2.5% ในไตรมาส 4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น