วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

INGพบปลัดคลังคุยขายTMB ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2556

INGพบปลัดคลังคุยขายTMB

ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 11 คน 

ไอเอ็นจี กรุ๊ปเข้าพบประธานบอร์ด TMB รายงานความคืบหน้าดีลขายหุ้น  ด้านมิตซูโฮ สาขากรุงเทพฯ ลั่นไม่สนใจ TMB สวนทางก่อนหน้านี้ ประกาศทุ่ม 3 พันล้านดอลลาร์ซื้อ  กูรูชี้ปฏิเสธเป็นเรื่องปกติก่อนดีลกัน รายย่อยแพนิกเทขาย แต่มีแรงรับมหาศาลเก็บ 1 พันล้านหุ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยว่าเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ตัวแทนของไอเอ็นจีกรุ๊ป ได้เข้าพบนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รักษาการปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) หรือ TMB เพื่อรายงานความคืบหน้าการเจรจาซื้อขายหุ้นแบงก์ทหารไทยในสัดส่วนของไอเอ็นจี ประมาณ 31% ว่ายังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ที่สนใจหลายราย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง
“ไอเอ็นจีกรุ๊ปรายงานว่ามีสถาบันการเงินหลายรายสนใจที่จะซื้อหุ้นแบงก์ทหารไทย แต่อยู่ระหว่างการเจรจา อาจต้องใช้ระยะเวลาการเจรจาอีกระยะหนึ่งก่อนได้ข้อสรุป”
สำหรับหุ้นแบงก์ทหารไทยในส่วนของกระทรวงการคลังที่ถืออยู่ 26% นั้น คงต้องรอให้ไอเอ็นจีคุยเสร็จก่อน และต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาว่าจะขายหรือไม่

-Mizuho สาขากรุงเทพฯ ลั่นไม่เอา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ ได้เผยแพร่จดหมายปฏิเสธข่าวการซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ผ่านทางเว็บไซต์ ระบุวันที่ 15 ต.ค. 56 ว่า ตามที่ได้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องการซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยโดยมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป เมื่อวันที่ 14 ต.ค.นั้น รายงานเหล่านี้ไม่ถูกต้อง และมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
รายงานจากมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ระบุว่าขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการซื้อหุ้นแบงก์ทหารไทย หรือ TMB แต่อย่างใด
แต่ก่อนหน้านี้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า การค้นหาการเติบโตของกำไรในญี่ปุ่นของมิตซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กำลังผลักดันให้ธนาคารตามล่าการเข้าถือสิทธิ์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาจนำไปสู่การเข้าถือสิทธิ์ในธนาคารทหารไทย
นายชินิชิโร นากามูระ นักวิเคราะห์ เอสเอ็มบีซี นิกโก้ ซีเคียวริตีส์  อิงซ์ กล่าวว่า มิตซูโฮอาจจะสามารถใช้เงินได้ถึง 3 แสนล้านเยน หรือ 3 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการทำข้อตกลงเหล่านี้
ด้านบีเอ็นพี ปาริบาส ระบุว่า มิตซูโฮอาจใช้เงินมากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ ในการทำข้อตกลงต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มกำไร หลังจากที่มีกำไรจากเงินกู้ต่ำที่สุดในบรรดาธนาคารใหญ่สุดสามแห่งของญี่ปุ่น  จากข้อมูลที่รวบรวมโดยบลูมเบิร์ก  การตัดสินใจของญี่ปุ่นที่จะต่อสู้กับภาวะเงินฝืดและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ  ได้ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดเงินกู้ที่ทำกำไรน้อยที่สุดของเอเชีย
ทางด้านซีแอลเอสเอ เอเชีย-แปซิฟิก มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า มิตซูโฮอาจจะพิจารณาซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยบางส่วนเพื่อปล่อยกู้ให้กับบริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นในประเทศไทย
เดวิด ทรีดโกลด์ นักวิเคราะห์บริษัท คีฟ บรูเยตต์ แอนด์ วูด อิงซ์ กล่าวว่า ทีเอ็มบีซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 3,4000 ล้านดอลลาร์ จะดึงดูดความสนใจต่อมิตซูโฮเพราะลูกค้าบริษัทของธนาคารญี่ปุ่นจำนวนมากมีสินทรัพย์การผลิตในประเทศไทย ซึ่งเป็นธรรมดามากที่มิตซูโฮจะพิจารณา นอกจากนี้  ไทยไม่มีปัญหาด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่สามารถทำให้ความสัมพันธ์มีความซับซ้อนยุ่งยากได้
ข้อมูลที่บลูมเบิร์กรวบรวมได้  คาดว่ากำไรของ TMB เพิ่มขึ้นมากว่าสามเท่าในปีนี้ โดยเป็นเงิน 194.3 ล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มขึ้น 38% ในปี 2557   และธุรกิจเงินกู้ของ TMB สามารถทำกำไรมากกว่ามิตซูโฮ 2 เท่า

-ดีลยังไม่ดันปฏิเสธเป็นเรื่องปกติ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ประเด็นการปฏิเสธข่าวของ Mizuho Bank  ที่มีข่าวมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะมีการนำข่าวดังกล่าวมาสร้างกระแสเมื่อวานนี้ (17 ต.ค.)  ซึ่งการปฏิเสธข่าวก็เป็นเรื่องปกติ หากดีลยังไม่ดัน ก็จะต้องมีการปฏิเสธข่าวออกมาก่อนหน้านี้เช่นกัน เหมือนกับตอนก่อนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY จะถูกธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด (BTMU) เทกโอเวอร์ ก็มีการปฏิเสธออกมาทำนองเดียวกัน
“ต้องอย่าลืมว่ามีการยื่นเสนอชื่อประมูลเพื่อขอซื้อหุ้น TMB จากผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีผู้เสนอเจตจำนงมาจากธนาคารต่างชาติ สัญชาติญี่ปุ่น, มาเลเซีย และจีน ซึ่งการปฏิเสธของ Mizuho Bank ผ่านสาขาในประเทศไทย ไม่ได้หมายความว่าดีลการขายหุ้น TMB จะต้องล้ม เนื่องจากยังมีผู้ที่สนใจอีก 2 ราย ที่มีเงินพร้อมจะเข้ามาลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของไทย” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ ยังมีเงื่อนไขของเวลาที่จะบีบให้ดีลการขายหุ้น TMB ใกล้ขึ้นมาทุกที จากประเด็นการชำระคืนหนี้ของ ING BANK N.V.กับหน่วยงานรัฐของประเทศเนเธอร์แลนด์ จะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2556 นี้ เนื่องจากเป็นภาคบังคับที่ต้องขายทรัพย์สิน หรือเงินลงทุนที่มีอยู่เพื่อหาเงินไปใช้หนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด

-แรงซื้อหุ้น TMB สวนกลับมหาศาล
การเผยแพร่ข่าวการปฏิเสธของ Mizuho Bankส่งผลให้ราคาหุ้น TMB  ปรับตัวลดลงอย่างหนักจากราคาสูงสุดของวานนี้ (17 ต.ค.) อยู่ที่ 3.02 บาท ลดลงอย่างรวดเร็ว และปิดที่ระดับต่ำสุดที่ 2.76 บาท ลบไป 0.24 บาท หรือคิดเป็น -8 % โดยมีปริมาณการซื้อขายทั้งหมด 1,724.46 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 4.9พันล้านบาท
ขณะที่ปริมาณการซื้อสุทธิวานนี้ (17 ต.ค.) ของหุ้น TMB อยู่ที่จำนวน 1,055,432,600 หุ้น หรือคิดเป็น 61% ขณะที่ขายสุทธิจำนวน 669,034,400 หุ้น หรือคิดเป็น 39% และเป็นที่สังเกตว่า แม้ราคาหุ้น TMB จะปรับตัวลดลงมาแรง แต่ก็มีแรงซื้อเข้ามามหาศาล แม้ธนาคารของญี่ปุ่นจะปฏิเสธ แต่ก็ยังมีรายอื่นๆ ที่สนใจอยู่ ประกอบกับพื้นฐานของTMB ณ ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปจากอดีตมาก โดยเฉพาะการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการเติบโตของกำไรที่ต่อเนื่อง และแข็งแกร่งของธนาคารแห่งนี้เทียบเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศ  แม้จะมีการตั้งสำรองมากมายก็ตามที แต่ก็ยังสามารถสร้างกำไรให้เพิ่มพูนขึ้นได้
ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) มองว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้มีมูลความจริงใดๆ เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่ได้รับการติดต่อมาเช่นกัน ซึ่งในส่วนที่มีตัวแทนของ ING ลาออก นั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับข่าวลือที่ทาง ธนาคารจะมีการเข้าไปซื้อหุ้นของธนาคารที่กระทรวงการคลังถือด้วย เรื่องนี้ก็ต้องไปถามจากกระทรวงการคลัง
นายบุญทักษ์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มกำไรในปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน โดย 9 เดือนแรกกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรก่อนการตั้งสำรองอยู่ที่ 10,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้เพิ่มขึ้นเป็น 3% ได้จากในอดีตที่อยู่เพียง 2.7% โดยถือว่าเป็นการปรับตัวที่สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 2.9% ซึ่งมีผลมาจากต้นทุนเงินฝากที่ต่ำลง ในขณะเดียวกันผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ณ สิ้นเดือนก.ย. 56 เพิ่มขึ้นถึง 19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
"เป้า NPL สิ้นปีจะลดต่ำกว่า 3.5% แต่ถ้าเป็นงบรวมจะอยู่ที่ 3.80% ซึ่งลดลงจากเมื่อก่อนที่อยู่ 4.1% โดยในอดีตเรามี NPL ถึง 7.5 หมื่นล้านบาท และ NPA อีก 2.2 หมื่นล้านบาท เบ็ดเสร็จประมาณแสนล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือ 2.1-2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งการที่ลงมาเยอะ เพราะเราขาย NPL เก่าออกไป แต่ช่วงที่เหลือของปีคงไม่ปล่อยขายแล้วจะปรับโครงสร้างเองให้ได้ตามเกณฑ์ ส่วน NPL ใหม่ก็มีเพิ่มขึ้นบ้างจากภาวะเศรษฐกิจแต่ไม่น่ากังวลอะไร เราบริหารจัดการได้" นายบุญทักษ์ กล่าว
สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อรวมในปีนี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 12% โดยคาดว่าจะทำได้เพียง 8% จากยอดสินเชื่อ 9 เดือนที่ขยาย 5% ซึ่งถือว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราชะลอลงจนส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อที่ลดลงด้วย แต่ถึงแม้ว่าแม้สินเชื่อดังกล่าวจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ในด้านการบริหารรายได้จากอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรของธนาคารยังมีการเติบโตที่ดีอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น