จากพระวิหารถึง 190
คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าชม : 5 คน
รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยการทำสัญญากับต่างประเทศ วันเดียวกับที่ศาลโลกแจ้งว่าจะตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ในวันที่ 11 พ.ย.นี้
พรรคประชาธิปัตย์ฉวยมาโจมตีการแก้ไขมาตรา 190 ทันที ทำนองว่าถ้าไม่มีมาตรา 190 คงเสียดินแดนให้เขมรไปแล้ว
ฟังแล้วสังเวช เพราะมองย้อนไปถ้าไม่เกิดคดีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร ไม่นำมาตรา 190 มาเป็นอาวุธทางการเมือง พรรคเพื่อไทยคงไม่ต้อง “จองล้างจองผลาญ” มาตรานี้
และถ้าไม่เล่นกันจนบานปลาย ไทย-เขมร ก็คงไม่รบกัน เขมรคงไม่ต้องยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ซึ่งไม่ว่าผลออกมาอย่างไร ไทยก็มีแต่ “เจ๊า” กับ “เจ๊ง”
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ผมเห็นด้วยกับมาตรา 190 เพราะเห็นว่าตัวบทมีปัญหา แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ดี มาตรานี้ไม่ต้องแก้ก็ได้
มาตรา 190 มาจากการคัดค้าน FTA ปลายยุคทักษิณ ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้เอาแบบอย่างสหรัฐ คือรัฐบาลเสนอกรอบการเจรจา FTA ต่อรัฐสภาก่อน เจรจาเสร็จแล้วให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนลงนาม
รัฐประหารเอาใจประชาสังคม เขียนรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (หลังจากรัฐบาลสุรยุทธ์ลงนาม FTA กับญี่ปุ่น) แต่เขียนให้มีปัญหาเพราะวางกรอบกว้างเป็นทางน้ำทุ่ง หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ที่จะต้องออกพระราชบัญญัติ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ฯลฯ
เอาหมด กลายเป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติหมด วางโครงสร้างอำนาจกลับหัวกัน ทั้งที่การทำสัญญาเป็นอำนาจและเอกสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร ยกเว้นเรื่องสำคัญ ที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย หรือต้องแก้ไขกฎหมาย จึงต้องขออนุมัติฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ไม่ใช่อนุมัติทุกเรื่อง เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็เจรจาทำสัญญากับใครไม่ได้เลย
ซ้ำร้ายยังให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตีความ คดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งแถลงการณ์ร่วมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแม้แต่น้อย ศาลกลับบอกว่า “อาจจะ” เสียดินแดน ฉะนั้นเข้าข่ายมาตรา 190 สมัคร สุนทรเวช, นพดล ปัทมะ มีความผิด ต้องถูกยื่นถอดถอน ถูก ป.ป.ช.ดำเนินคดี
ตีความอย่างนี้ ลองคุณเป็นนายกฯ เป็น รมต.ต่างประเทศ จะกล้าตัดสินใจไหมครับ แค่นาซ่าขอใช้อู่ตะเภา ยังไม่กล้าอนุมัติเลย เพราะพวกแมลงขู่ฟ่อจะฟ้องศาล ถึงขั้นติดคุกถึงขั้นถอดถอน
พรรคเพื่อไทยจึงผลักดันให้แก้ 190 ซึ่งผลที่ออกมาก็ตัดเงื่อนไขหลายอย่าง แม้ยังกำหนดว่าทำ FTA ต้องให้สภาอนุมัติ แต่รัฐบาลไม่ต้องเสนอกรอบเจรจาต่อรัฐสภาก่อน ทั้งยังไม่กำหนดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชน การศึกษาผลกระทบ และถ้าเปลี่ยนหลักเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม ก็ไม่ถือว่าเข้าข่าย 190
ฟังแล้วเห็นใจกลุ่ม FTA Watch ที่อุตส่าห์ต่อสู้เรื่องนี้ แต่ต้องแยกแยะเหมือนกัน ข้อแรก ต้องยอมรับว่าเพราะ 190 ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมือง จึงต้องแก้ ข้อสอง ถ้ายึดหลักที่ว่าอำนาจทำสัญญาเป็นของฝ่ายบริหาร 190 ก็ไม่ควรกำหนดกรอบกว้างเกิน เรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ฯลฯ ถ้าไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอำนาจรัฐบาล
ในความเป็นจริง ผมเห็นด้วยว่าการทำ FTA ของรัฐบาลนี้หรือทุกรัฐบาลไม่น่าไว้วางใจ เวลาพูดเรื่อง FTA พ่อค้าส่งออกมักเสียงดังกว่าชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิบัตรยา พันธุ์พืช ฯลฯ หลายคนจึงหวังว่า 190 จะเป็น “ตัวถ่วง” ให้มีการตัดสินใจถี่ถ้วน เปิดโอกาสให้มีเวทีคัดค้านบ้าง
แต่โดยหลักการ เมื่อผมฟังนักกฎหมายหลายรายเห็นว่าแก้ไข 190 อย่างนี้ถูกแล้ว ก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่เห็นด้วยกับ FTA เรื่องไหน ก็ต้องไปคัดค้านกันทางสังคม ทางการเมือง โดยไม่หวังพึ่งรัฐธรรมนูญ
ใบตองแห้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น