วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

EMCดึงSANKENเป็นพันธมิตร บริษัทจดทะเบียน วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556

EMCดึงSANKENเป็นพันธมิตร

บริษัทจดทะเบียน วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 4 คน 

EMC จับมือ SANKEN SETSUBI KOGYO จากญี่ปุ่น ตั้งบริษัทร่วมทุน มุ่งรับงานวิศวกรรมระบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ เตรียมพร้อมก่อนเปิดตลาด AEC ตั้งเป้าภายในปีแรกได้งานมูลค่า 320 ล้านบาท
               นายชนะชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้ร่วมลงทุนกับบริษัท SANKEN SETSUBI KOGYO ผู้ประกอบการด้านวิศวกรรมงานระบบชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท SANKEN-EMC จำกัด โดย SANKEN จะถือหุ้น 49% ขณะที่ EMC ถือ 48% และส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนในประเทศ
               สำหรับการตั้งบริษัทร่วมทุนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด ซึ่งเชื่อว่าจะขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วงภายหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยเฉพาะลูกค้าญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย ทำให้มีโอกาสขยายงานวิศวกรรมงานระบบไปสู่กลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นและขยายฐานไปสู่ประเทศอื่นๆ ใน AEC โดยในช่วงแรกจะเริ่มรุกตลาดในประเทศไทยก่อน
              "การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้ เป็นการนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมาผนึกกำลังเพื่อเพิ่มศักยภาพของบริษัท ก้าวสู่มาตรฐานสากล อีกทั้งในการขยายฐานลูกค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย พร้อมเพิ่มมูลค่าแก่ผู้ถือหุ้น ทำให้เราเชื่อว่าการลงทุนในครั้งนี้จะทำให้องค์กรสามารถเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ EMC เพื่อรองรับการเปิด  AEC ในอนาคตอีกด้วย" นายชนะชัย กล่าว
              โดยนายชนะชัย กล่าวอีกว่า ทางบริษัทได้ตั้งเป้าการรับงานในปีแรกของบริษัทร่วมทุน 1,000 ล้านเยน หรือ 320 ล้านบาท โดยเป็นงานเกี่ยวกับวิศวกรรมระบบ คาดว่าจะเริ่มทำงานได้หลังจดทะเบียนเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งปัจจุบัน SANKEN-EMC อยู่ระหว่างเจรจางานปรับปรุงระบบปรับอากาศภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และงานก่อสร้างตึกขนาดใหญ่ 2 โครงการ ของภาคราชการ
              "บริษัทร่วมทุนจะเน้นการรับงานที่ใช้เทคโนโลยีสูง โดยในปีแรกเราตั้งเป้าที่รับงาน 320 ล้านบาทเกี่ยวกับงานระบบ ในส่วนของ Green Building และ Clean room ที่ปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมองโอกาสไปถึงกลุ่มงานระบบในโรงพยาบาล ที่รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นฮับใน AEC ทำให้มองเห็นถึงดีมานด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต งานที่บริษัทร่วมทุนเป็นงานที่มีมาร์จิ้นมากกว่า 2 เท่า หรือ 12-15% ของงานวิศวกรรมโยธาที่มีมาร์จิ้น 4-7%" นายชนะชัย กล่าว
              นอกจากนี้ในช่วงอนาคต ทางบริษัทร่วมทุนยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจเข้าไปรับงานในประเทศพม่า เพราะมองเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างมาก รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสสู่การเข้ารับงานใหม่ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมในพม่ากำลังเติบโตเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC
              ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจ EMC ในช่วงปี 2556 ยอมรับว่า ยังคงขาดทุนอยู่ จากครึ่งปีแรกขาดทุน 15.22 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่รับรู้รายได้ในปี 57 หลังจากรับรู้บางส่วนภายในปีนี้
             อีกทั้ง ทางบริษัทยังได้เดินหน้าเข้ายื่นประมูลงานภาครัฐและเอกชนประมาณ 4-5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 2,000- 2,500 ล้านบาท โดยคาดว่างานบางส่วนจะรู้ผลการประมูลภายในปีนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น