"เอชเอสบีซี"ประเมินการคลังสหรัฐชะงักงันเกิดนาน เชื่อเฟดไม่ลดคิวอีปีนี้ เริ่มหั่นไตรมาสแรกปีหน้า หนุนทุนนอกทะลักเข้าบอนด์ไทย

ปัญหางบประมาณและเพดานหนี้ของสหรัฐ ยังคงสร้างกังวลให้กับหลายฝ่ายทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบกับตลาดเงินและตลาดทุน ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน ที่แสดงถึงการแก้ปัญหาประสบความคืบหน้า โดย 2 พรรคการเมืองของสหรัฐยังยืนยันในท่าทีของตนเอง

นายอังเดร เดอ ซิลวา กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจโลก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า ประเด็นยังไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองสหรัฐ เรื่องการจัดสรรงบประมาณ จนทำให้เกิดปัญหาภาวะชะงักงันทางการคลังยืดเยื้อมานานนับสัปดาห์ ถือว่าสำคัญสำหรับนักลงทุนทั่วโลกรวมทั้งไทย และในมุมมองของเขาเชื่อว่าการเมืองสหรัฐน่าจะตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย

ทั้งนี้เขาเชื่อว่าปัญหาตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐ ที่มีกำหนดเส้นตายต้องตกลงกันให้ได้ในวันที่ 17ต.ค.ปีนี้ อาจยังไม่สามารถสรุปตกลงกันได้ทันเส้นตาย และอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการชำระคืนหนี้แก่ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่ไม่คิดว่าจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้

"ตอนนี้ปัญหาหลัก 3 เรื่องที่สหรัฐเผชิญอยู่ คือการปรับลดใช้คิวอี ความล่าช้าในการตกลงกันเรื่องงบประมาณรัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะระหว่าง 2 พรรคการเมือง และการเกิดภาวะชะงักงันทางการคลัง จนต้องปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐ ทั้งหมดนี้กลายเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ” นายอังเดร เดอ ซิลวา กลล่าวในการให้สัมภาษณ์เรื่อง “ไม่มีการลดคิวอีมากกว่าลดคิวอีทีละเล็กละน้อย ผลกระทบต่อโลกและเอเชีย"

โดยเขาอธิบายว่า จากปัญหา 3 เรื่องข้างต้น ทำให้เอชเอสบีซี ตั้งสมมุติฐาน จากความเสี่ยง ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินว่า หากเกิดปัญหาไม่สามารถตกลงกันได้ ในทุกสัปดาห์ที่การเบิกจ่ายใช้งบประมาณล่าช้าและเกิดภาวะการคลังชะงักงัน จะส่งกระทบต่อการเติบโตทำให้จีดีพีสหรัฐไตรมาส4 ปีนี้หายไป 0.1% ทั้งนี้เอชเอสบีซีคาดว่าจีดีพีสหรัฐปีนี้จะขยายตัว 1.6% ปีนี้ และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.3%ปีหน้า

นายซิลวา คาดว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เอฟโอเอ็มซี) อีก 2 ครั้งในปีนี้ คือสิ้นเดือนต.ค.และสิ้นเดือนธ.ค.น่าจะเลื่อนการปรับลดใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ คิวอี ออกไปอีก

"มีแนวโน้มมากกว่าจะเริ่มเห็นการปรับลดคิวอี 1 ในไตรมาสแรกปีหน้า และอาจจะจบการปรับลดคิวอี 1 เสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีหน้า และก็จะมีการปรับลดคิวอีอื่นๆในต้นปีถัดไปและสิ้นสุดปลายปีถัดไปเช่นกัน ซึ่งสวนทางกับความเห็นคนส่วนใหญ่ที่ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดคิวอีภายในเดือนธ.ค.ปีนี้"

คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยกลางปี58

สำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้น เอชเอสบีซีคาดว่าจะขึ้นกลางปี 2558 แต่จากมุมมองของนายซิลวาหากความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดน่าจะล่าช้าออกไปเป็นปลายปี 2558 หรือเนิ่นนานไปอีกจนถึงสิ้นปี 2559

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยไทยนั้น นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีได้คาดการณ์ไว้อย่างเป็นทางการว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) น่าจะปรับขึ้นในไตรมาส 3 ปีหน้า แต่จากนี้ไปจนถึงช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าคาดว่าธปท.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้

อย่างก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี มีความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงปีนี้ ทั้งในแง่ของการส่งออกขยายตัวไม่มาก ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป (core inflation) ยังคงต่ำกว่าเป้าของธปท. บวกกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังติดขัดเพราะพรรคฝ่ายค้าน ทำให้โอกาสที่ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้มีมากขึ้นเช่นกัน

เลื่อนลดคิวอีหนุนทุนไหลเข้าบอนด์

ต่อข้อถามที่ว่าท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร นายซิลคิดว่า ความผันผวนเกิดขึ้นอาจไม่เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพ.ค.และเดือนมิ.ย.ปีนี้ ซึ่งเกิดจากความกังวลว่าเฟดอาจลดใช้คิวอี แต่สถานการณ์การลดใช้คิวอีเลื่อนออกไป ทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดไทยช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายซิลวาเชื่อว่า การที่เฟดยังไม่ลดใช้คิวอีปีนี้ อาจทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าตลาดไทยบ้าง แต่ไม่ใช่เงินทุนจะไหลกลับเข้ามาทั้งหมด ซึ่งจำนวนเงินทุนไหลกลับเข้ามามีมากเท่าใดนั้น เป็นเรื่องยากจะบอกได้ แต่เชื่อว่าเงินจะไหลกลับเข้าตลาดบอนด์มากกว่าตลาดหุ้น

"ความน่าสนใจในบอนด์มีมากกว่า ซึ่งจะทำให้ยีลด์บอนด์ในไทยน่าจะปรับลง หากพิจารณาจากมูลค่าในตลาดบอนด์ไทย ยังไม่สูงเท่ากับตลาดอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งยีลด์พันธบัตรไทยยังคงต่ำกระตุ้นให้มีแรงซื้อ ขณะที่ตลาดหุ้นผันผวนมากกว่าไม่ค่อยดึงดูดใจให้เข้าไปลงทุน"

5ชาติเสี่ยงอ่อนไหวทุนไหลออก

นายซิลวา ยังอธิบาย ถึงสถานการณ์มีทุนไหลออกจากตลาดบอนด์หลายชาติเอเชีย ช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ พบว่ามีทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว ทั้งในตลาดบอนด์ของไทยและตลาดบอนด์อื่นในเอเชีย โดยอินเดียกับอินโดนีเซียเผชิญภาวะทุนไหลออกจากตลาดมากที่สุด เพราะเกิดปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังมากกว่าชาติเอเชียอื่น

ทั้งนี้ เขาบอกว่าจากการศึกษาดูกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่น่าจะมีความอ่อนไหวต่อภาวะเงินทุนไหลออกในเวลานี้ พบว่ามีอยู่ 5 ประเทศเข้าข่ายว่าจะอ่อนไหวมากกว่าประเทศอื่นอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน คือ อินเดีย, อินโดนีเซีย, บราซิล, ตุรกี และเม็กซิโก พิจารณาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ณรงค์ชัยเชื่อสหรัฐแก้หนี้ชั่วคราว

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธาน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาลในสหรัฐฯ (Government Shutdown) ปัญหาดังกล่าว ถือว่าสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ จะตกลงกันได้หรือไม่ แต่แนวโน้มก็คืออาจจะมีการตกลงกันได้ ในการที่จะขยายเพดานหนี้ภายในวันที่ 15 - 16 ต.ค.เพื่อจะให้สามารถขยายเพดานหนี้และหลีกเลี่ยง จากการผิดชำระหนี้ของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามมองว่าการขยายเพดานหนี้ออกไป เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้นและในไม่ช้าปัญหานี้ ก็จะกลับมาให้รัฐบาลสหรัฐ ต้องแก้ปัญหาอีก

อย่างไรก็ดีตนมองว่าปัญหา Government Shutdown ในสหรัฐคงจะไม่ส่งผล ในการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 16 ต.ค.แต่อย่างใด ทั้งนี้การประชุม กนง.ในวันดังกล่าวจะสามารถเดินหน้าจัดการประชุมได้แม้ว่านายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการ กนง.จะลาประชุม เพราะตามกฎหมายกำหนดว่าหากมีคณะกรรมการลาประชุมไป 1 คน ถือว่าการประชุมยังดำเนินต่อไปได้

ส่วนการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยการใช้ทุนสำรอง นายณรงค์ชัย กล่าวว่า โดยหลักการในต่างประเทศ การตั้งกองทุนความมั่งคั่ง จะใช้กับการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐบาลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การนำเงินทุนสำรองมาใช้ตั้งกองทุน

ชี้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ลากศก.ทรุด

นายณรงค์ชัย กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ยังมีปัจจัยที่อาจสร้างความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ตลอดเวลา เป็นสถานการณ์ที่แต่ละประเทศ ต้องดำเนินนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดีที่สุด โดยหากประเมินในขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองที่มากพอ จะรองรับกับความผันผวน หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆเช่น อินเดีย และ อินโดนีเซีย ตนคิดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่า โดยประเทศไทยจะสามารถรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ในระดับปานกลาง

อย่างไรก็ตามหากเหตุการณ์ในสหรัฐ บานปลายจนเกิดการผิดชำระหนี้ คิดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในวงกว้างทั่วโลก

"ในปี 2008 แค่เพียงการล้มของเลแมน บราเดอร์สแค่เพียงแห่งเดียว ก็เกิดวิกฤตต่อระบบเศรษฐกิจของโลกสูงมาก หากเหตุการณ์ในปีนี้เกิดกรณีร้ายแรงที่สุดคือการผิดชำระหนี้และส่งผลให้สถาบันการเงินหรือองค์กรทางการเงินล้มละลายต่อเนื่อง คงเป็นเหตุการณ์วิกฤตที่เสียหายมากกว่าเดิมหลายเท่า"นายณรงค์ชัยกล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ