ธุรกิจถ่านหิน กับโซลาร์รูฟ
ธุรกิจถ่านหิน กับโซลาร์รูฟ
หลายปีมานี้ เราจะเห็นการตื่นตัวทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพยายามหาแหล่งพลังงานทางเลือก หลังจากราคาน้ำมันถ่านหินในช่วงหลายปีก่อนพุ่งกระฉูด เท่าที่ผมจำได้ ราคาน้ำมันเคยขึ้นไปมากกว่า 140$/บาร์เรล ราคาถ่านหินก็ขึ้นเอาขึ้นเอา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัทไปซื้อเหมืองถ่านหินในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินโดนีเซีย พม่า มองโกเลีย พอเศรษฐกิจโลกฟุบ เกิด Hamburger Crisis ที่สหรัฐอเมริกาในปี 2551
ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปทำให้ราคาถ่านหินลดลงอย่างรวดเร็วจากราคาที่เคยไปทำ High ที่ 140$/ตัน ในปี 2551 หล่นลงมา 40-60$/ตัน ทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะถ่านหินลดลงอย่างมาก หลายบริษัทถึงกับมีผลประกอบการที่ขาดทุน บริษัทที่เดิมทำธุรกิจ อื่นอยู่พอเห็นธุรกิจถ่านหินดีก็แห่มาทำ ในที่สุดก็พลอยแย่ไปกับเขาด้วย ยิ่งมีปัจจัยอื่นมาเสริมทำให้ ราคาพลังงาน จากนี้ไปน่าจะไม่เห็นการเหวี่ยงขึ้นแรงๆ ได้อีก จากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. เศรษฐกิจของสหรัฐยังฟื้นตัวแบบช้าๆ ขณะที่ยุโรปเราได้เห็น Bottom ไปแล้ว ส่วนจีนยังมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดูแล้วมีญี่ปุ่นที่เห็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากนโยบายของนายกคนใหม่ นายชินโสะ อาเบะ กับนโยบายธนู 3 ดอก และยังมีข่าวดีที่ได้รับคัดเลือกเป็นประเทศเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิคเป็นทางการในปี 2563 ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและสร้างระดับความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เราคงคาดหวังว่าจะมีการสร้างสาธารณูปโภค รวมทั้งโรงแรม สนามกีฬาใหม่ ในกรุงโตเกียว และปริมณฑล เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬานี้ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว
2. การรณรงค์เรื่อง Low Carbon เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและ Global Warming เป็นเรื่องที่หลายประเทศหันมาออกกฎเกณฑ์ลงโทษอุตสาหกรรมที่ปล่อย Carbon ออกมา และให้รางวัลกับธุรกิจที่ลดการใช้ Carbon จนถึงกับมีธุรกิจตัวกลางซื้อขายคาร์บอนระหว่างอุตสาหกรรมที่ปล่อย Carbon กับอุตสาหกรรมที่ลด Carbon โดยประเทศในกลุ่ม EU มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้น มีการเรียกเก็บค่าปล่อย Carbon ของเครื่องบินทุกสายการบินที่บินผ่านน่านฟ้าของประเทศยุโรป ซึ่งยังเป็นเรื่องคาราคาซังอยู่ เพราะว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐและจีนไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมนี้
3. ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศว่าจะไม่ส่งเสริมธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินอีกต่อไป หลังจากนั้นไม่นานผู้อำนวยการ IMF ก็ออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ IMF จะไม่สนับสนุนธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน เช่นกัน
4. Shale Gas และ Shale Oil เป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่พบมากในหลายประเทศ โดยจีนและสหรัฐมีสำรอง Shale Gas มากที่สุดในโลก ส่วน Shale Oil พบมากในรัสเซีย อาร์เจนตินา แอลจีเรีย และสหรัฐ ถ้ามีเทคโนโลยีในการขุดเจาะนำขึ้นมาใช้ โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อมด้วยต้นทุนที่ถูกลง จะทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกไม่ขึ้นไปอย่างที่เราได้เห็นในปี 2551 แต่การลงทุนวางท่อทั่วประเทศก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต้องคำนึงเช่นกัน อย่าลืมนะครับว่า สหรัฐกับจีน 2 ประเทศนี้ อุปโภคพลังงานมากที่สุดในโลก ถ้า 2 ประเทศนี้เอาจริงเอาจังที่จะใข้แหล่งพลังงานนี้จากประเทศของตนเอง Demand ของพลังงานเดิมๆ ก็จะลดลงอย่างมากเลยทีเดียวนะครับ
เกริ่นมาตั้งนานผมขอเข้าเรื่อง Solar Roof ดีกว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐ ที่ต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าจากลาว, ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ จากต่างประเทศ โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากครม. เมื่อเดืนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยให้การไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ) และธนาคารออมสินเป็นผู้สนับสนุนโครงการ โดยรอบแรกการไฟฟ้านครหลวง (กฟน) และกฟภ. รับซื้อที่ 200 เมกะวัตต์ (MW) แต่ปรากฎว่ามีเอกชนที่สนใจเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้า 600 MW โดยแยกเป็นกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย 1,368 ราย และกลุ่มอาคารและโรงงาน 1,285 ราย ปรากฎการณ์นี้แสดงว่ามีการตั้งราคารับซื้อไม่เหมาะสม แพงเกินไป ราคาที่เหมาะสมควรจะเป็นราคาที่เมื่อประกาศแล้ว มีคนมาขายไฟฟ้าประมาณ 150% ไม่ใช่ 300% อย่างที่เห็น ทำให้รัฐเสียงบประมาณที่ต้องนำมาอุดหนุนโครงการนี้มากไป ถ้าตั้งราคารับซื้อต่ำ รัฐยังสามารถขยายปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อได้อีกมากในปริมาณเงินที่เท่ากัน ถ้าผมเป็นผู้ตั้งราคา ผมจะรู้สึกละอายใจมาก ที่ตั้งราคาดังกล่าว
ส่วนตลาดหุ้นไทยยังคงต้องลุ้นระทึกว่าภายในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ทางรัฐสภากับประธนาธิบดีสหรัฐจะตกลงกันได้หรือไม่ อย่างไรช่วงนี้ ถ้า SET INDEX ลงมาแถว 1,400 จุดบวกลบเป็นจุดที่น่าทยอยซื้อเพื่อการลงทุนข้ามปีนะครับ
กิติชัย เตชะงามเลิศ
ติดตามแนวทางการลงทุนของผมได้ที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น