วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รวยไม่เป็น คอลัมน์ วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2556

รวยไม่เป็น

คอลัมน์ วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 6 คน 

                ปรากฏการณ์ล่าสุดในวงการเงินระหว่างประเทศซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง หลังจากปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐส่อแนวโน้มดำดิ่งสู่วิกฤตยืดเยื้ออีกยาวนานหลายปีโดยไม่รู้ว่าจะฟื้นคืนจากก้นเหวได้อย่างไร เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น
               พวกเขาเรียกมันว่าการ “ใช้บริการทางการเงินจากภายนอก” (monetary outsourcing) โดยหาทางจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ SWF ในชื่อที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อเลี่ยงจากการถูกโจมตี หรือครหาอื่นๆ อันเป็นสไตล์ถนัดของญี่ปุ่นที่ยากจะมีใครเลียนแบบได้
               เป้าหมายของการจัดตั้งดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดออกมามากนัก อยู่ที่การหาทางสร้างตาข่ายนิรภัยทางการเงินเสริม ในกรณีที่ค่าเงินของโลกผันผวนรุนแรง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องมือหลักอย่างเดียว คือการแทรกแซงตลาดเงิน (OMOs) โดยธนาคารชาติแบบที่เคยกระทำมายาวนานจนเลื่องลือ ซึ่งเป็นโมเดลที่เริ่มได้ผลน้อยลง
               ย่างก้าวล่าสุดของญี่ปุ่นนี้ หวังว่าจะช่วยลดภาระของธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BO ลงไปเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการรักษาเสถียรภาพของตลาดเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ในกรณีที่ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นเพราะเงินเก็งกำไรไหลเข้าหรือไหลออกรุนแรงจากความรู้สึกไม่มั่นใจต่อภาวะไร้เสถียรภาพในตลาดโลก
               การแทรกแซงค่าเงินเยนของธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นเรื่องลือลั่นมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงตลาดผันผวนรุนแรง โดยมีเป้าหมาย “เชิงรุกทางการค้า” ที่จะป้องกันไม่ให้ค่าเงินเยนแข็งเกินไป ด้วยการซื้อดอลลาร์ แล้วขายเยน จนกระทบกับการส่งออกของภาคเอกชน ซึ่งทำให้เกิดข้อหาว่า ทำการครอบงำค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบที่อยุติธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ (ซึ่งปัจจุบัน จีนก็ถูกข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน)
               ในช่วงหนึ่ง นักเก็งกำไรปกป้องค่าเงินที่สร้างชื่อระดับโลก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ชื่อ เอสุเกะ  ซากากิบาระ ถึงกับมีสมญาว่า มิสเตอร์เยน กันเลยทีเดียว
               การแทรกแซงค่าเงินดังกล่าว กระทำได้คล่องตัว (และถือว่าเป็นการอุดหนุนทางนโยบายทางการค้าโดยตรงผ่านกลไกค่าเงิน เพราะว่า การได้เปรียบดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลชำระเงินที่ท่วมท้น ทำให้ไม่ยากลำบากในการเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีล้นเหลือออกมาใช้จ่ายโดยไม่ใส่ใจกับต้นทุน ในช่วงที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นมีความสามารถสูงในการแข่งขัน
                ข้อเท็จจริงนับจากปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันระบุว่า โมเดลธุรกิจและความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นลดถอยลงในตลาดโลกอย่างรุนแรง จนกระทั่งเริ่มมีตัวเลขดุลการค้าได้เปรียบถดถอยลงถึงขั้นล่าสุดขาดดุลการค้าติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่สามารถใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไม่อั้นแบบเดิมได้อีก
                การปรับเปลี่ยนนโยบายการแทรกแซงค่าเงินในระยะตั้งแต่ ค.ศ. 2006 ของธนาคารกลางญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะไม่ใช่เพื่ออุดหนุนการส่งออกเป็นหลักอีกต่อไป หากเบนเป้ามาที่ป้องกันภาวะเงินฝืดในประเทศเป็นสำคัญ  ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากที่มีการใช้นโยบายอาเบะโนมิกส์ตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่มีการใช้มาตรการ QE เลียนแบบสหรัฐด้วยการพิมพ์ธนบัตรมากขึ้นกระตุ้นเงินเฟ้อ และเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินด้วยปริมาณเงินท่วมตลาด
                ท่าทีและนโยบายแทรกตลาดเงินแบบ “ปกป้องตัวเอง” ทำให้บทบาทของธนาคารกลางในการแทรกตลาดเงินพ้นยุคไปอย่างชัดเจน ทางเลือกที่นักคิดทางการเงินญี่ปุ่นมีฉันทามติร่วมกันคือ ต้องมองหาพลังขับเคลื่อนเสริม ซึ่งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมมากกว่า
                เหตุผลอ้างก็คือ การแทรกแซงค่าเงินโดยธนาคารกลางในปัจจุบันและอนาคต เป็นการแก้ปัญหาแบบเหวี่ยงแห และทำให้ค่าเงินถดถอยลงชั่วคราว ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจได้ยั่งยืน แล้วก็ยังนำไปสู่สงครามลดค่าเงินในระดับโลกได้ง่ายมาก ในขณะที่กองทุนมั่งคั่ง (SWF) สามารถลงทุนยืดหยุ่นใน 2 ระดับคือ
               1) สามารถแทรกแซงตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านกลไกตลาดเงินอย่างเดียว
               2) สามารถแทรกแซงได้โดยตรงถึงขั้นเข้าซื้อหุ้นกิจการ ซื้อตราสารหนี้เอกชนหรือรัฐบาล และสนองตอบการเข้าครอบครองกิจการเชิงยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตของเศรษฐกิจประเทศ
               บทเรียนความสำเร็จที่โดดเด่นสุดในโลกปัจจุบัน หนีไม่พ้นบทเรียนของกลุ่มเทมาเส็กโฮลดิ้ง หรือ GIC ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ปัจจุบัน กลายเป็นกองทุน SWF ที่ใหญ่ระดับหัวแถวของโลก และมีกำไรมหาศาลทุกปี สามารถสร้างผลสะเทือนในการขยับตัวได้ต่อเนื่อง
               นอกจากนั้น การเคลื่อนตัวเข้าซื้อทรัพย์สินและลงทุนของ SWF ทั้งหลายนั้น ยังช่วยหลบเลี่ยงข้อกล่าวหาในทางการเมืองระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลได้อย่างมีนัยสำคัญ ลดประเด็นจากการเมืองเป็นประเด็นธุรกิจอย่างเดียวโดยนิตินัย
               การปรับทัศนคติของญี่ปุ่นในเรื่อง SWF ถือเป็นพลวัตทางความคิดที่ชัดเจนว่า โลกกำลังก้าวพ้นยุคสมัย  โดยไม่ต้องติดบ่วงของความหวาดกลัวว่า การตั้ง SWF  จะมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น หรือ ความเสี่ยงมากมายในอนาคต ซึ่งเป็นความกลัวที่ไร้เหตุผล แต่อาศัยจินตนาการที่เกินจริงของพวกไร้สมองแต่เสียงดังธรรมดา
               หน่วยงานรัฐไทย ที่เคยผลักดันเรื่องนี้มาแล้ว และยังไม่เลิกความพยายาม คงต้องออกแรงขับเคลื่อนกันอีกรอบ เพื่อเห็นแก่อนาคตของลูกหลานในระยะยาว ดีกว่าพึ่งพาเหตุผลแบบพวกองุ่นเปรี้ยวกันในภายหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น