วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิกฤตการเงินลาว คอลัมน์ วันพุธที่ 09 ตุลาคม 2556

วิกฤตการเงินลาว

คอลัมน์ วันพุธที่ 09 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 1472 คน 


ข่าวล่าสุดที่ไม่ค่อยน่ายินดีจากฝั่งลาว คือ ปัญหาวิกฤตทางการเงิน 2 เรื่องพร้อมกัน ได้แก่ ฐานะทางการเงินของรัฐบาลลาวที่มีหนี้สินมากเกินกว่าจะชำระได้ตามกำหนด  และเงินเฟ้อที่กลับมาทำท่ารุนแรงอีกระลอก จนมีแนวโน้มว่า คำมั่นสัญญาของรัฐบาลลาวที่จะยกระดับรายได้ของเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ 40% เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ อาจจะมีปัญหาออกไปหลายเดือน หรืออาจจะทำไม่ได้ง่าย
ต้นเดือนกันยายน คณะตัวแทนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนเวียงจันทน์ และกล่าวเตือนถึงสถานการณ์หนี้ของรัฐบาลลาวว่า อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีปัญหาในการชำระหนี้ต่างประเทศได้ หากว่า ยังไม่มีการรัดเข็มขัดให้เหมาะสม  
ภาระหนี้สาธารณะของลาวล่าสุดอยู่ที่ระดับ 29.8%  ของจีดีพี แต่จุดอ่อนของหนี้รัฐบาลลาวคือเป็นหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง เพราะขาดแคลนแหล่งเงินกู้ในประเทศเนื่องจากคนลาวมีการออมต่ำ และรายได้ของรัฐบาลลาวในปัจจุบัน มาจากการขายทรัพยากรธรรมชาติ 2 แหล่งหลักคือ ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ (เขื่อน) และ เหมืองแร่ ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเหมืองแร่ทั้งหลายนั้น ราคาผันผวนต่อตลาดโลกสูงกว่าระดับปกติ
การกระจุกตัวของรายได้รัฐบาลลาวดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจาก นอกเหนือจากรายได้อื่นคือ รายได้จากการท่องเที่ยวที่กำลังคึกคักอย่างมาก ลาวมีความจำเป็นต้องลงทุนมหาศาลในด้านสาธารณูปโภคที่ยังล้าหลัง และต้องใช้ทุนมหาศาล ในขณะที่รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดฐานของภาษีให้กับรัฐมากมายแต่อย่างใด เพราะเป็นรายได้จากภาคเกษตร ซึ่งไม่มีการเสียภาษีเลย ยกเว้นสัมปทานหรือการค้าของรัฐวิสาหกิจบางส่วน ซึ่งไม่เพียงพอจะทำให้งบประมาณของรัฐกระเตื้องขึ้น
การคลังที่ยอบแยบ ทำให้รัฐบาลลาวจำต้องดำเนินการเร่งรัดเข็มขัดเป็นการใหญ่ นายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ออกมาประกาศว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะเลื่อนการจ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างโครงการของรัฐที่ไม่ได้กระทำผ่านการอนุมัติของสภาประชาชนลาวออกไปบางส่วนที่ได้รับอนุมัติโครงการภายใต้ปีงบประมาณ ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา  และเลื่อนการจ่ายเงินเดือนพนักงานของรัฐไปบ้าง  พร้อมกับเตือนว่า หน่วยงานด้านการคลังของรัฐจะต้องเร่งหารายได้เพิ่มเพื่อมาอุดหนุนการขาดดุลงบประมาณให้ได้
นอกจากนั้น ในงบประมาณปีใหม่ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา จนถึงสิ้นปีงบประมาณ จะไม่มีการเพิ่มงบประมาณสำหรับโครงการลงทุนของรัฐใหม่ๆ อีกชั่วคราว รวมทั้งการก่อสร้างสถานที่ราชการหรืออาคารของรัฐที่ไม่ได้ทำให้เกิดรายได้กลับคืนมา จะต้องลดหรืองดลงไปเพื่อช่วยกันประหยัด
นับตั้งแต่เผชิญความยากลำบากในช่วงที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง ในค.ศ. 1997 ลาวเผชิญความเดือดร้อนร่วมด้วยอย่างรุนแรงถึงขนาดที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 167% และค่าเงินกีบร่วงลงไปถึง 87% เมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์ และบาท จนกระทั่งต้องเข้าสู่โครงการรัดเข็มขัดที่รุนแรง ในช่วงหลัง ค.ศ. 2000 ทำให้เงินเฟ้อลดลงกว่าปีละ 10% และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ระดับ 8% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าในปัจจุบัน อัตราการเติบโตเฉลี่ยของลาวจะยังคงสูงถึง 8% ต่อปีเหมือนเดิม แต่โดยที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับประมาณ 9% ซึ่งส่งผลต่อประชาชนค่อนข้างสูง เพราะนอกเหนือจากรายได้จากภาคเกษตรแล้ว คนลาวจำนวนมากมีรายได้จากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหัตถกรรม และท่องเที่ยว ซึ่งการที่เงินเฟ้อพุ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตก็ยิ่งทำให้ความมั่งคั่งของคนถดถอยลงจนเก็บภาษีได้ยาก ต้องพึ่งพารายได้เข้ารัฐจากการขายทรัพยากรและรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจผูกขาดกาแฟ เบียร์ หรืออื่นๆ
เงินออมที่ต่ำของประชาชน ทำให้ตลาดเงินของลาวไม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าเงินเฟ้อ และอัตราเงินกู้ก็ยิ่งสูงลิ่ว ทำให้รัฐต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศมาพัฒนาประเทศ แต่ขนาดที่เล็กมากของประเทศ ทำให้เมื่อรัฐบาลจ่ายเงินเพื่อการพัฒนา ก็ยิ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพี
เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่กินเงินเดือน ซึ่งนอกจากเดือดร้อนแล้ว ยังอาจนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วย ทำให้รัฐบาลต้องออกมารับปากว่า จะหาทางเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำให้เจ้าหน้าที่รัฐประมาณ 40% เพื่อไล่ตามเงินเฟ้อให้ทัน แต่เพียงแค่ข่าวนี้ออกไป ราคาสินค้าในตลาดก็พุ่งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว เป็นสูตรสำเร็จ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลก
การตัดสินใจลดภาระหนี้ด้วยการลดเข็มขัด เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตราย เป็นสถานการณ์ที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางจุดเท่านั้น เพราะในทางกลับกัน อาจจะนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจผสมเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น (ศัพท์เศรษฐศาสตร์ เรียกว่า Stagflation) ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งทีเดียว
เกมเสี่ยงของรัฐบาลลาวเช่นนี้ (รวมทั้งการประกาศเลื่อนจ่ายเงินค่าก่อสร้างหรือสัมปทานบางอย่าง ยังส่งผลเสียหายต่อค่าเงินกีบของลาว ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 100 กีบ เท่ากับ 40 สตางค์ หรือ 1 แสนกีบ เท่ากับ 400 บาทไทย ให้เกิดการเสื่อมค่าลงอีก ซึ่งจะทำให้สินค้าอาหารและพืชผักจำนวนมากที่ต้องนำเข้าจากไทยพุ่งสูงมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก
วิกฤตหนี้และเงินเฟ้อพร้อมกันเหมือนสู้ศึก 2 ด้านกระหนาบเช่นนี้ น่าเห็นใจคนลาวไม่น้อย แต่ในทางกลับกันทำให้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยที่ดำเนินอยู่ดูดีขึ้นหลายเท่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น