วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มสมยศยึดปิคนิค รอวันซื้อขายอีกครั้ง ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 03 ตุลาคม 2556

กลุ่มสมยศยึดปิคนิค
รอวันซื้อขายอีกครั้ง

ข่าวหน้าหนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 03 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

กลุ่มเวิลด์แก๊สฯของ“สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ยึดกิจการ PICNI เบ็ดเสร็จ ล่าสุดควักจ่ายเงินเพิ่มทุน 1,700 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว และเตรียมชำระหนี้ก้อนใหญ่แบงก์กรุงไทย 7ต.ค.นี้ ถือเป็นการปิดตำนานที่อื้อฉาวมากว่า 5 ปี
         นายรณสิทธิ ภุมมา รักษาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิกนิก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2556 โดยนักลงทุนดังกล่าวคือกลุ่มบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศ ไทย) จำกัดนั้น ล่าสุดวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556 บริษัทได้รับเงินเพิ่มทุน 1,700 ล้านบาทจากกลุ่มนักลงทุนดังกล่าวแล้ว
        โดยกลุ่มนักลงทุนฯได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น เพื่อการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้บริษัทจะดำเนินการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการวันที่ 7-8 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ช่วงตั้งแต่ 09.00 -16.00 น.ต่อไป
: ย้อนรอยเส้นทางฉาว PICNI
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข่าวดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดความวุ่นวาย นับตั้งแต่ ปี 2551 เป็นต้นมาของ PICNI  ที่ประสบภาวะยากลำบากจากปัญหาการเงิน ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารชุดเดิม ภายใต้ตระกูลลาภวิสุทธิสินได้ก่อขึ้นมา โดยตำนาน PICNI ในการสร้างราคาหุ้นอันอื้อฉาวจากคนกลุ่มหนึ่งนำโดยนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการพาณิชย์ช่วงเวลาสั้นๆ  อยู่เบื้องหลังการเข้าซื้อกิจการหุ้นขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง แล้วสร้างราคาชี้นำโยนกันไปมาระหว่างกลุ่มก๊วนเดียวกัน หลอกล่อนักลงทุนประเภทแมงเม่าเข้าไปเป็นเหยื่ออย่างคึกคัก ผ่านอุบายสร้างสตอรี่ต่างๆ มากมาย
          เกมสร้างราคาที่ร่วมกันทำกันหลายหุ้นไม่ว่าจะหุ้น  PICNI อีเอ็มซี (EMC) อีสเทิร์นไวร์ (EWC) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค (CEN)) อกริเพียว โฮลดิ้งส์ (APURE) และเพาเวอร์-พี (PP) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อย่อ เป็น POWER ผ่านข่าวคราวการเพิ่มทุนหลายรอบ ทำกำไรกันไม่รู้กี่พันล้านบาท ได้เดินทางมาถึงจุดจบของความอื้อฉาว เมื่อก.ล.ต.ตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินปี 2547 ของ  PICNI ช่วงเดือนมีนาคม 2548
          โดยก.ล.ต. ตรวจพบว่า ผู้บริหาร PICNI มีการตั้งค่าความนิยม (good will) ของราคาสินทรัพย์สูงถึง 1,049 ล้านบาท และพบการตกแต่งบัญชีทำสัญญาและรับรู้รายได้ที่บันทึกเป็นการให้เช่าถังแก๊สไม่ถูกต้อง ที่แต่ละรายการมูลค่านับพันล้านบาทและยังทุจริตให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
         ขณะที่ฟางเส้นสุดท้ายของยุคตระกูลลาภวิสุทธิสินเกิดขึ้นเมื่อมีการก่อหนี้จากการออกตั๋วบี/อี ขายให้บรรดาบริษัทจัดการกองทุนรวมหลายแห่ง ทำให้ บลจ.หลายรายขาดทุนกันป่นปี้ เพราะถูกบังคับให้รับสภาพหนี้ที่ไม่มีการจ่ายเป็นเงินสด จนต้องตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมาก รวมทั้งหนี้สินประมาณ 7,000 ล้านบาทโดยเจ้าหนี้หลัก คือ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารยูโอบี
        หลังจากนั้นนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน หายหน้าไปจากประเทศไทย พร้อมทิ้งกองหนี้มหาศาลและซาก PICNI เอาไว้ให้เห็นข่าวคราวเป็นระยะๆ ว่าผู้ตรวจสอบบัญชีไม่รับรองงบ นับตั้งแต่สิ้นสุดปี 2554 เป็นต้นมายังไม่มีการส่งงบการเงินให้ตลาดอีกเลย จนถูกเตือนว่าอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯหลายครั้ง
          จากนั้นจนถึงการเกิดปรากฏการณ์ที่หลายกลุ่มแวะเวียนเข้ามาเล่นเกม “ทึ้งซากแพะ” แย่งชิงหุ้นรายนี้ เพื่อขอเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการใหม่และเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อกลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นรอบใหม่โดยใช้กลยุทธ์ทั้งบนดินและใต้ดินอย่างเอาเป็นเอาตาย เนื่องจากธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจแก๊สยังคงเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีส่วนต่างของผลกำไรไม่มากนักก็ตาม
: หลายกลุ่ม “รุมทึ้งซากแพะ”
           กลุ่มต่างๆ ที่แวะเวียนเข้ามาแย่งชิง ”หรือ“ ทึ้งซากแพะ  เพื่อแก้ปัญหาแผนฟื้นฟูกิจการให้ 1,700 ล้านบาท กำหนดโดยกลุ่มเจ้าหนี้ ประกอบด้วย กลุ่มแรกที่นำโดยนายพิมล ศรีวิกรม์ และพันธมิตรรายแรกบริษัท เพลินจิต แคปปิตอล จำกัด ที่ใช้สิทธิทางกฎหมายเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้นำโดยบลจ.ยูโอบี จำกัด จนเจ้าหนี้ยอมรับให้เป็นผู้บริหารแผน
           กลุ่มที่สองคือกลุ่ม เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) ที่มีประวัติวกวน เพราะก่อนหน้านี้เวิลด์แก๊สเคยถูก PICNI เข้าซื้อกิจการ และเป็นที่มาของความล่มสลายของบริษัทมาก่อน แต่สถานการณ์ซับซ้อน ทำให้กลับกลายสภาพมาเป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์บางส่วนของ PICNI ทั้งที่เป็นหุ้นและที่ดินหรืออื่นๆ ที่มีปัญหาขัดแย้งทางกฎหมายกับ PICNI เองหลายคดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มนี้ตกอยู่ภาย ใต้การครอบงำบริษัท แอสเซ็ท มิลเลียน จำกัด หรือ  AMC ที่มีปัญหากฎหมายในการแย่งชิงความเป็นเจ้าของบริษัทของคนที่อ้างตัวเป็นผู้ถือหุ้นสองกลุ่มหลัก โดยอ้างตนเป็นอดีตเจ้าหนี้ของนายสุริยามาก่อน
         กลุ่มแรกเป็นกลุ่มพันธมิตรนายตำรวจนอกราชการ นำโดยนางวิมลรัตน์ กุลดิลก ภรรยาของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กับกลุ่ม พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ปัจจุบันเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
           ความขัดแย้งระอุจนถึงขั้นที่กลุ่มนางวิมลรัตน์ กุลดิลก เป็นโจทย์ยื่นฟ้องพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และพวกเป็นจำ เลยในข้อหาโอนหุ้น  AMC โดยมิชอบ เข้าข่ายลักทรัพย์หรือรับของโจรและยังมีการฟ้องกลับกันไปมาอีกหลายคดี ทำให้เป็นอุปสรรคของกลุ่มนี้ในการเข้ามายื่นเสนอเป็นผู้บริหารแผน
          กลุ่มนายวิมล และกลุ่มเวิลด์แก๊สพยายามแย่งชิงอำนาจการบริหารแผนของ PICNI แต่กลุ่มนายพิมลชนะ หลังจากนั้นได้พยายามเจรจาหาผู้ลงทุนกลุ่มใหม่เข้าถือหุ้น โดยจัดแจงแต่งตัว เพื่อให้มีการเพิ่มทุน PICNI ใหม่ อีกประมาณ 1,700 ล้านบาท รองรับการเข้ามาของกลุ่มใหม่
         โดยเริ่มต้นจากกลุ่มนักลงทุนไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังการเข้าซื้อกิจการ บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) ที่เข้าทำบันทึกข้อตกลงซื้อหุ้นเพิ่มทุนในลักษณะจับเสือมือเปล่า (เพิ่มทุนในตลาดเพื่อเอามาซื้อหุ้น PICNI ทั้งแบบขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง และเพื่อรองรับวอร์แรนต์) อัตราส่วน 51% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดด้วยเงินลงทุนจำนวนไม่น้อยกว่า 1,632 ล้านบาท แต่ไม่ได้ผล เพราะยื่นเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ยอมรับไม่ได้
           หลังจาก TSF ล่าถอยไปแล้ว กลุ่มสามารถคอร์ปโดยนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ เป็นรายถัดไป แต่ระหว่างที่ยื่นข้อเสนอกลุ่มผู้บริหารเดิม PICNI ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาต PICNI โอนหุ้นให้ AMC เพื่อสามารถขายเวิลด์แก๊ส ให้บริษัท เวิลด์สยาม กรุ๊ป ที่มีผู้ถือหุ้นรายสำคัญคนหนึ่งเป็นกรรมการของ PICNI เองด้วยอย่างมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้กลุ่มสามารถฯถอนตัวออกไปเพราะขาดความมั่นใจ
           กลุ่มนายวิชัย ทองแตง รวบรวมหุ้นส่วนนักลงทุนหลายกลุ่มเข้ามาเจรจาต่อ โดยนายวิชัย ยืนยันว่ามีความพร้อมเข้ามาถือหุ้นภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องการให้ลดจำนวนบอร์ดเดิมของ PICNI ลง 5 คน เพื่อให้กลุ่มนายวิชัยเข้ามาเป็นบอร์ดแทน เพื่อใส่เงินเพิ่มทุนชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้ 1,700 ล้านบาท แต่ไม่เป็นผลและนายพิมลก็หมดเวลา 120 วันตามเงื่อนไขของการเป็นผู้บริหารแผน
        สถานการณ์จึงเอื้ออำนวยให้กลุ่มเวิลด์แก๊สย้อนกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 16 มกราคม 2556 สำนักงานอัยการพิเศษ คดีพิเศษ 4 สั่งการไม่ฟ้องพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงและพวกที่ตกเป็นจำเลยของคำฟ้องจากกลุ่มโจทก์ที่นำโดยนางวิมลรัตน์ กุลดิลก ข้อหาโอนหุ้น AMC โดยมิชอบ เพราะถือว่าเป็นการโอนหุ้นโดยถูกต้องไม่สามารถรับฟังได้ว่าเป็นการลักทรัพย์ หรือรับของโจร
         จากนั้นการเจรจาเปิดทางโล่งตลอด จนกระทั่งการเจรจาล่าสุดปรากฏว่ากลุ่มเจ้าหนี้บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเวิลด์แก๊สลุล่วงด้วยดี โดยกลุ่มเวิลด์แก๊สวางเงินมัดจำทันทีภายใน 7 วันจำนวน 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือของ 1,700 ล้านบาทชำระภายใน 120 วัน และแปลงหนี้อีก 100 ล้านบาทของเจ้าหนี้เป็นทุน มีสัดส่วนถือหุ้นประมาณ 5% ของทุนจดทะเบียนใหม่ พร้อมเสนอแผนให้ศาลล้มละลายกลางดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น