วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

ห้าม อบต.ร่วม SOLAR FARM ระวังหุ้นพลังงานทางเลือกร่วงแรง IFEC GUNKUL PSTC TSE EPCO

โซลาร์ฟาร์มรัฐส่อล้ม! ห้ามอบต.ร่วมโครงการ :IFEC ยันไม่กระทบ คาดรัฐแจ้งชื่อ 25 ม.ค.นี้

2016-01-08
โซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการ-สหกรณ์ฯส่อลม หลังกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ส่งผล IFEC-EPCO-PSTC-GUNKUL-TSE-SOLAR-AKR ราคาร่วง ฟาก IFEC ยันไม่กระทบ คาดภาครัฐประกาศรายชื่อ 25 ม.ค.นี้    
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 59 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ลงนามโดยนายนรภัทร ปลอดทอง รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถร่วมโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
จากประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อบริษัทที่เข้าร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ วันจับสลาก และวันประกาศผลอย่างเป็นทางการให้ทราบภายในเดือนมกราคม 2559
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากเดิมที่ทางกกพ. ประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC,  บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO, บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC, บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL,  บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE, บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR รวมถึงบริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR
นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากโครงการที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการไปครั้งก่อนรวม 11 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 48 เมกะวัตต์ (MW) ได้ร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตร, ทหารผ่านศึก และทหารเรือ แบ่งเป็นหน่วยงานละ 3-4 โครงการ ขนาดโครงการละไม่เกิน 5 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ หากตัดโครงการที่ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์  อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังว่าจะได้โครงการโซลาร์ ฟาร์ม ดังกล่าว ขนาดกำลังการผลิตรวม  25-30 เมกะวัตต์ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านคุณสมบัติได้ในวันที่ 25 ม.ค.นี้
นายวิชัย           ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ  IFEC กล่าวว่า แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท ทั้งนี้ จากการที่ยื่นไปทั้งหมดขนาดกำลังการผลิตรวม 78 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการร่วมกับสหกรณ์ฯ, ทหารเรือ และทหารผ่านศึก จำนวน 48 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 30 เมกะวัตต์เป็นการร่วมกับส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตโครงการละ 5 เมกะวัตต์ 
นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือEPCO กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากโครงการที่ผ่านคุณสมบัติครั้งก่อนรวม 6 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ บริษัทไม่ได้เข้าร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลย อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นน่าจะส่งผลให้คู่แข่งลดลง ซึ่งยังต้องรอ กกพ.ประกาศอีกครั้ง  
นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวของบริษัท ไม่ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท  เนื่องจากโครงการที่ผ่านคุณสมบัติครั้งก่อนมีรวม 3  โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 15 เมกะวัตต์ หรือโครงการละ 5 เมกะวัตต์  แบ่งเป็นของมหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคล 1 โครงการ และสหกรณ์การเกษตร 2 โครงการ
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ในส่วนของมหาวิทยาลัย จำนวน 3 โครงการ และทหารผ่านศึก 4 โครงการ ซึ่งทางกกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสาร แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความมั่นใจว่าปี 2559 จะมีรายได้และกำไรเติบโตได้อย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL กล่าวว่า แม้จะมีการเลื่อนการจับสลากโครงการดังกล่าว แต่บริษัทมั่นใจว่าจะได้รับใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า (PPA) จำนวน 30 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 6 โครงการ จากที่ผ่านคุณสมบัติ 50 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 10 โครงการ โดยได้เข้าร่วมกับกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรและชุมชน อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับการจับสลาก
นายสมภพ พรหมพนาพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE  เปิดเผยว่า เดิม TSE ได้รับการคัดเลือกจากให้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติผู้เข้าร่วมขอใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้าแล้วจำนวน 9 โครงการจำนวน 45 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 8 โครงการ และเป็นความร่วมมือกับกองทัพเรือ 1 โครงการ
นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR เปิดเผยว่า บริษัทได้รับคัดเลือกและผ่านคุณสมบัติผู้ขอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร จากกกพ. ซึ่งบริษัทได้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกแล้ว 100 เมกะวัตต์  และจะมีการจับสลาก เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 600 เมกะวัตต์
นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด(มหาชน) หรือ AKR เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ร่วมกับหน่วยงานสหกรณ์การเกษตรจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นขอรับใบอนุญาตโครงการโซลาร์ฟาร์ม ราชการฯ จำนวน 1-2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 5-9 เมกะวัตต์  โดยพื้นที่สหกรณ์ฯ ดังกล่าวเข้าข่ายอยู่ในเขตของการรับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งจะสามารถรับซื้อในโครงการนี้จำนวน 200 เมกะวัตต์
ด้านราคาหุ้นเมื่อวานนี้ (7 ม.ค. 59) IFEC ปิดตลาด 5.95 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือปรับลดลง 3.25%, EPCO ปิดตลาด 5.30 บาท ลดลง 0.15 บาท หรือปรับลดลง 2.75%, PSTC ปิดตลาด 0.52 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือปรับลดลง 3.70%, GUNKUL ปิดตลาด 21.40 บาท ลดลง 1 บาท หรือปรับลดลง 4.46%, TSE ปิดตลาด 3.68 บาท ลดลง 0.08 บาท หรือปรับลดลง 2.13%, SOLAR ปิดตลาด 9.55 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือปรับลดลง 0.52%  และ AKR ปิดตลาด 1.32 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือปรับลดลง 1.49%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น