วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

KTB-IRPCเด่นแลกการ์ด เงินบอนด์7แสนล.จ้องลุยหุ้น ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556

KTB-IRPCเด่นแลกการ์ด
เงินบอนด์7แสนล.จ้องลุยหุ้น

ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

เปิดโผ 6 หุ้นขึ้นช้ากว่าตลาด (laggard) KTB-IRPC-TOP-KSL-KBS และ TPIPL บล.กสิกร ชู พื้นฐานดี สตอรี่เด่น งบไตรมาส 3 สวย ด้านคลังเผยเงินต่างชาติเข้าไทยพักเงิน 7 แสนล้านในตลาดตราสารหนี้ รอดีเดย์ 17 ตุลาคมนี้ หลังเคลียร์ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ ลุยตลาดหุ้นไทยต่อ
          นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้แนะนำ หุ้นไทยที่น่าสนใจและปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาด (laggard) โดยเน้นหุ้นที่มีพื้นฐานดี งบไตรมาส 3 ที่มีแนวโน้มออกมาดี และมีประเด็นบวกเฉพาะตัว โดยให้ทยอยสะสมหุ้นที่แข็งแกร่งในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก อาทิ กลุ่มปิโตรเคมี ธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์
          กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ ให้เก็งกำไรโดยเลือกหุ้น laggard ที่ยังปรับตัวขึ้นไม่มาก ทยอยสะสมเลือกหุ้นเด่นของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และเน้นกลุ่มที่มีผลประกอบการดี แนวโน้มไตรมาส 3 จะประกาศผลประกอบการออกมาดี และมีสตอรี่เฉพาะด้านของหุ้น   อาทิ หุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, หุ้นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC
          หุ้นบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, หุ้น บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL, หุ้น บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS และหุ้นบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL
          ทั้งนี้ความน่าสนใจของหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTB เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีนักลงทุนต่างชาติถือครองต่ำ (Under-owned) และเริ่มเห็นการถือครองเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับหุ้นธนาคารอื่นที่เห็นการขาย อีกทั้ง KTB คาดจะมีการประกาศผลประกอบการในไตรมาส 3/56 ว่าจะมีกำไรที่โดดเด่น นอกจากนี้ราคาหุ้นยังซื้อขายกันที่ระดับค่าP/E ที่ 8.9 เท่าของปี 2556 และค่า PER ของปี 2557 อยู่ที่ 7.5 เท่า
          นอกจากนี้หุ้น IRPC เป็นหุ้น laggard play ของกลุ่มปิโตรเคมี และพลังงาน เนื่องจากมีการขายที่ดินเปล่า ซึ่งสามารถช่วยสร้างกระแสเงินสดเพื่อนำไปพัฒนาโครงการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น  และคาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรจำนวน 1,424 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขกำไรสุทธิที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส2/56 ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน 1,159 ล้านบาท และเทียบกับช่วงไตรมาส 3/55 ที่มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน 4,060 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โครงการ Phoenix เป็นปัจจัยหนุนการเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการระยะยาวในอนาคต
          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยว่า แนวโน้มการลงทุนในตลาดทุนไทยยังคงเป็นในทิศทางบวก โดยที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาพักไว้ในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมาก ก่อนจะโยกเงินเข้าตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เนื่องจากรอดูความชัดเจนของการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ และปัญหาเรื่องของงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลได้ประมาณก่อนถึงวันที่ 17 ตุลาคมนี้
          “แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังคงดี แต่ระยะนี้มีการแกว่งตัวในกรอบแคบๆ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศยังรอความชัดเจนของปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐอยู่ รวมทั้งเรื่องของงบประมาณ”
          ส่วนกรณีที่นางเจเน็ต เยลเลน ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเฟดคนใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตลาดหุ้น ซึ่งมีความคาดหมายว่าจะมีการยืดอายุของมาตรการคิวอีออกไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าปัญหาด้านการเงินของสหรัฐจะได้รับการคลี่คลาย
          ขณะที่จีดีพีปีนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องได้ประมาณ 4%  โดยอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายนอกประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มียอดตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และช่วงปลายปีก็เป็นช่วงของไฮซีซั่น ในช่วง 8 เดือนของปี 56 (ม.ค.- ส.ค.) มียอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยมากกว่า 17.43 ล้านคน เพิ่มขึ้น 21.41%
          โดยต่างชาติถือครองบอนด์ไทยสะสมสิ้น ณ สิ้นเดือน ก.ย. จำนวน 771,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพันธบัตรไทยสุทธิ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรระยะสั้น 5.2 หมื่นล้านบาท พันธบัตรระยะยาว 2.3 หมื่นล้านบาท หลังจากเมื่อเดือนส.ค. ที่ขายออกสุทธิ 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการขายก่อนหมดอายุ 4.5 หมื่นล้านบาท และเป็นพันธบัตรหมดอายุ 4.8 หมื่นล้านบาท
          ส่วนในช่วงเดือนต.ค. ต่างชาติก็ซื้อพันธบัตรเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7-8 พันล้านบาท จากปกติวันละ 5-6 พันล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ช่วงที่เหลือของปีจะได้เห็นเม็ดเงินต่างชาติเข้าตลาดบอนด์เพิ่มสูงขึ้น ระดับเดือนละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราใกล้เคียงกับเมื่อต้นปีนี้
          นายณรงค์ชัย อัครเศรณี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลสหรัฐและฝ่ายค้านไม่สามารถตกลงกันเพื่อขยายเพดานหนี้ จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ แต่ยังเชื่อมั่นว่า เงินบาทจะยังมีเสถียรภาพไม่ผันผวนมากนัก อย่างไรก็ตามต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป
          โดยเชื่อมั่นว่าทั้งรัฐบาลสหรัฐและฝ่ายค้านจะสามารถหาข้อสรุปเรื่องเพดานหนี้ได้ แต่ปัญหาหนี้ของสหรัฐจะยังไม่จบเพราะหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เป็นบทเรียนให้ทุกประเทศที่ต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน และหลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินที่มากเกินไป ขณะที่อินเดียกับอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพในตลาดการเงินสั่นคลอน ในขณะที่ภาคการเงินของประเทศไทยยังมีความมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น