ยกสถิติหุ้นพุ่ง หลังปิดหน่วยงานรัฐ
ยกสถิติหุ้นพุ่ง หลังปิดหน่วยงานรัฐ
นักวิเคราะห์ยกสถิติหุ้นพึ่ง หลังสหรัฐปิดหน่วยงานรัฐ หลังเจอหน้าผาการคลัง
สำนักข่าวรอยเตอร์สำรวจนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนในสหรัฐ ต่อผลกระทบจากวิกฤติด้านการคลังของสหรัฐ ส่วนใหญ่ยังมองแนวโน้มน่าลงทุนในตลาดหุ้น โดยหยิบยกสถิติในอดีต มีประเด็นดังนี้
ขณะนี้ นักลงทุนจำนวนมาก กำลังตั้งคำถามว่าสมควรจะลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐต่อไปหรือควรจะถอนการลงทุนออกมา ในขณะที่หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐถูกปิดทำการ
ตลาดหุ้นสหรัฐได้รับแรงกดดันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ในขณะที่นักลงทุนคาดการณ์กันว่า หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐอาจจะปิดทำการ ถ้าหากสมาชิกสภาคองเกรสไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่อง ร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินของสหรัฐ
ขณะนี้ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ห่างจากสถิติสูงสุดเพียง 3 % เท่านั้น ดังนั้นที่ปรึกษาทางการลงทุนบางรายจึงกล่าวว่าการปิดหน่วยงานรัฐบาลถือเป็นโอกาสในการขายทำกำไรหุ้นบางตัวในตลาดและตลาดหุ้นสหรัฐก็ถึงเวลาที่ควรปรับฐานลงอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี นักลงทุนสถาบันและที่ปรึกษาทางการเงินส่วนใหญ่กล่าวว่าได้แนะนำให้ลูกค้าคงสถานการณ์ลงทุนไว้ต่อไป โดยมีที่ปรึกษาเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่แนะนำให้ลูกค้าขายหุ้นสหรัฐออกมา เพื่อนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หรือเพื่อถือเงินสด
ผู้บริหารกองทุนส่วนใหญ่มองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องงบประมาณสหรัฐได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำไปแล้ว หลังจากที่เคยเกิดความขัดแย้งแบบเดียวกันนี้ในปี 2554 และ 2555
นายเอริค สไตน์ ผู้บริหารกองทุนของบริษัทอีตัน แวนซ์ กล่าวว่า"ตลาดอาจจะเคลื่อนไหวในระยะสั้น แต่ตลาดเริ่มมีความชาชินมากขึ้นเรื่อยๆต่อการกระทำที่ไร้สาระในกรุงวอชิงตัน"
เหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนควรลงทุนต่อไปในช่วงนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่า การปิดหน่วยงานรัฐบาลครั้งก่อนๆส่งผลกระทบไม่มากนักต่อพอร์ทลงทุน โดยธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา-เมอร์ริล ลินช์ได้สำรวจการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ 17 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา และพบว่า 14 ครั้งในจำนวนนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2530 โดยเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด, จิมมี คาร์เตอร์ และ โรนัลด์ เรแกน
ผลการสำรวจพบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมักปรับขึ้นเฉลี่ย 0.1% ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการปิดหน่วยงานรัฐบาล และร่วงลง 0.8 % ในช่วงที่มีการปิดหน่วยงาน และหลังจากนั้นตลาดหุ้นก็ดีดขึ้นราว 1.1% ในช่วงหนึ่งเดือนหลังการปิดหน่วยงานรัฐบาล
นักยุทธศาสตร์การลงทุนของธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลลินช์ระบุว่า ถ้าหากตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรง สถานการณ์นี้ก็ถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อหุ้น อย่างไรก็ดี นักยุทธศาสตร์การลงทุนกลุ่มนี้ ระบุว่า "มีความเป็นไปได้ในระดับต่ำที่ความขัดแย้งทางการเมืองจะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับฐานลง 10 %"
ผู้จัดการกองทุนบางรายกล่าวว่าแรงเทขายหุ้นในระยะสั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกัับรัฐบาลสหรัฐได้กลายเป็นการเปิดโอกาสสำหรับการเข้าซื้อหุ้น และช่วงนี้ถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการเข้าซื้อหุ้นราคาถูก หลังจากตลาดหุ้นร่วงลงจากสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์"
แต่ผู้จัดการกองทุนบางรายไม่มีความเชื่อมั่นมากนักในตลาดหุ้นสหรัฐ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับฐานหรือดิ่งลง 10 % ครั้งสุดท้าย เมื่อกว่า 20 เดือนก่อน และปัจจัยนี้ส่งผลให้นายเอริค เดวิดสัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของธนาคารเวลส์ ฟาร์โก ไพรเวท แนะนำลูกค้าให้ฉวยโอกาสในช่วงที่มีการปิดหน่วยงานรัฐบาลในการปรับลดการลงทุนในหุ้นสหรัฐที่เคยมีราคาพุ่งสูงในปีนี้ และโยกย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ปรับตัวอ่อนแอในปีนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหุ้นในตลาดเกิดใหม่
ด้านนายไมค์ แชดวิค ผู้บริหารบริษัทแชดวิค ไฟแนนเชียล แอดไวเซอร์ส คาดการณ์ในทางลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐ โดยเขาได้ถอนเงินทั้งหมดของลูกค้าออกจากตราสารหนี้ในเดือนมิ.ย. และถอนเงินของลูกค้าออกจากตลาดหุ้นด้วยเช่นกันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
นายแชดวิคกล่าวว่า "ขณะนี้ลูกค้าถือครองสินทรัพย์ 90 % ในรูปของเงินสด โดยเราได้ขายทำกำไรหุ้นที่มีราคาพุ่งสูงไปแล้ว และขณะนี้เราก็กำลังรอโอกาสในการเข้าช้อนซื้อ"
นายเจฟ ซีมัวร์ ที่ปรึกษาทางการลงทุนในบริษัทไทรแองเกิล เวลธ์ แมเนจเมนท์ คาดการณ์ในทางลบเช่นกัน โดยกล่าวว่ามีแนวโน้มที่จะถือครองสถานะขายที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อดัชนี S&P 500 เป็นครั้งที่สองของปีนี้ โดยในตอนนี้บัญชีลูกค้าของผมถือครองสถานะซื้อในหุ้นที่ 0%
อย่างไรก็ดี นักยุทธศาสตร์การลงทุนของโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า บริษัทที่มีรายได้กว่า 20 % มาจากสัมปทานของรัฐบาลไม่ได้มีราคาหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงกว่าตลาดหุ้นโดยรวม และสิ่งนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า นักลงทุนไม่ได้มีความกังวลมากนักต่อการปิดหน่วยงานรัฐบาลเป็นเวลานาน
นักยุทธศาสตร์การลงทุนของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า "ความผันผวนของหุ้นเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงิน และดิ่งลงอย่างรุนแรงมากนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้"
นายโจเอล ทิลลิงกาสท์ ผู้จัดการกองทุนหุ้นราคาถูกของบริษัท ฟิเดลิตี ระบุว่า "ตลาดได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องงบประมาณไปแล้ว โดยเฉพาะในเดือนส.ค." และมองว่านักลงทุนไม่ควรกังวลกับเรื่องนี้ ในขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นมาแล้ว 25% จากช่วงต้นปี 2556
ที่ปรึกษาทางการเงินบางรายระบุว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่และที่ปรึกษาทางการเงินยังคงลงทุนในตลาดหุ้นต่อไปคือปัจจัยด้านภาษี ทั้งนี้ การที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาหมายความว่า นักลงทุนจะต้องจ่ายภาษีจำนวนมาก ถ้าหากนักลงทุนขายหุ้นในขณะนี้
นางเทรซี เบิร์ค ที่ปรึกษาการลงทุนของบริษัทคอนราด ซีเกล อินเวสท์เมนท์ แอดไวเซอร์ส กล่าวว่า ถ้าหากสภาคองเกรสบรรลุข้อตกลงเรื่องงบประมาณภายในเวลา 1-2 วันข้างหน้า พอร์ทลงทุน ก็จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าหากการปิดหน่วยงานรัฐบาลดำเนินไปเป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ "ตลาดหุ้นก็อาจจะประสบภาวะปั่นป่วนวุ่นวาย และอาจจะปรับฐานลง" โดยการปรับฐานในที่นี้คือการดิ่งลงราว 10%
นักลงทุนกังวลอีกด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐจะสามารถกู้ยืมเงินในอนาคตได้หรือไม่ และจะเกิดความขัดแย้งเรื่องเพดานหนี้สหรัฐด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ ความขัดแย้งเรื่องการปรับขึ้นเพดานหนี้สหรัฐในปี 2554 เคยส่งผลให้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงจากขั้น AAA สู่ AA+ และส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐดิ่งลง 19 %
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น