วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตลาดหุ้น กับ เขาพระวิหาร คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2556

ตลาดหุ้น กับ เขาพระวิหาร

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 7 คน 

                 
รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่งด้วย ออกมาประกาศข่าวล่วงหน้าว่า วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก จะวินิจฉัยคดีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในปัญหาการตีความเขาพระวิหารที่ทั้งสองฝั่งอ้างว่า ไม่ชัดเจน ทั้งในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน และการตั้งกองกำลังติดอาวุธตามแนวชายแดน
                 ข่าวดังกล่าว แน่นอนว่า ทำให้ประเด็นเก่าทางการเมืองที่ตกค้างมาแต่ยุคของนโรดม สีหนุ–สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2505 หรือ 51 ปีก่อน กลับมาสู่ความสนใจอีกครั้ง และแน่นอนเมื่อเป็นเรื่องการเมือง ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเริ่มรณรงค์ช่วงชิงพื้นที่กล่าวหากันและกัน ตามแบบทฤษฎีเกมว่าด้วยกินรวบ หรือ game of chicken  เพื่อหา “แพะ”  ที่รักชาติน้อยกว่าตนเอง (ทั้งที่ความหมายนิยามว่าชาติ ยังไม่มีการนิยามหรือเข้าใจตรงกันแต่อย่างใด)
                 ความร้อนแรงของเรื่อง สะท้อน 2 จุดอ่อนหลักของสังคมไทยคือ  1) คนส่วนใหญ่สอบตกภูมิรู้ทางประวัติศาสตร์ เพราะข้อมูลสั้นกว่าหางอึ่ง  2) การตกเป็นทาสทางจิตสำนึกแบบอาณานิคมของลัทธิชาตินิยมตะวันตก เสมือนทาสที่ปล่อยไม่ไป
                  ซากเดนของปัญหาเขาพระวิหารนั้น เป็นปมอหังการทางเชื้อชาติที่ไม่ควรบังเกิดขึ้นในสังคมของรัฐอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นสังคมพหุชนชาติมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ซึ่งหากสืบย้อนข้อเท็จจริงทางชาติพันธุ์ และมานุษยวิทยาจะเห็นได้ชัดเจนว่า แต่ละสังคม แทบจะหาคนที่มีเชื้อชาติหรือวัฒนธรรมบริสุทธิ์ไม่ได้ มาตั้งแต่ต้น
                  สังคมอุษาคเนย์แต่ครั้งโบราณ นับแต่ยุคก่อนมีรัฐ ประกอบด้วยเผ่าชน 3 กลุ่มที่แบ่งพื้นที่อาศัยและทำมาหากินคือ กลุ่มเขตที่ราบเชิงเขา ที่ราบริมแม่น้ำ และชายฝั่งทะเล ที่ปะปนกันบนวัฒนธรรมผสมผสาน  แล้วเมื่อพัฒนาเป็นรัฐโดยจำลองรูปแบบจากอินเดียหรือจีนมา ก็ยังคงมีลักษณะพหุสังคม เพียงแต่เมื่อชนเผ่าใดมีอำนาจนำเหนือรัฐ วัฒนธรรมของชนเผ่านั้นจะแสดงบทเด่น
                   รัฐอาณานิคมของตะวันตกที่ทำลายรัฐจารีตเก่าแก่ในอุษาคเนย์ไปจนเกือบหมดสิ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐประชาชาติแบบใหม่ที่คนพื้นถิ่นไม่คุ้นเคย พร้อมกับลอกกากอุดมการณ์รัฐแบบตะวันตกเข้ามาอย่างเคร่งครัดตายตัว มีการทำแผนที่แบ่งพรมแดนกันตามอำเภอใจ โดยอ้างความเป็นอารยะที่เหนือกว่าของเจ้าอาณานิคม
                    เขาพระวิหาร เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่พิพาทที่ไม่ชัดเจนของพรมแดนสยาม-อาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน กลายเป็นพื้นที่มีปัญหาอย่างมาก ตรงกันข้ามกับพรมแดนด้านตะวันตกของไทยติดกับเมียนมาร์ ซึ่งยาวเหยียดใกล้เคียงกัน และไม่ได้มีความชัดเจนเช่นกัน กลับไม่ปรากฏมีปัญหาข้อพิพาทรุนแรงจนต้องนำขึ้นศาลโลก
                     อารมณ์ค้างทางชาตินิยม ถูกลากจูงไปผสมเข้ากับอารมณ์ค้างทางชาติพันธุ์ และปมปัญหาแย่งชิงอำนาจภายในรัฐของแต่ละประเทศที่เป็นคู่กรณี ทำให้กรณีเขาพระวิหาร (ซึ่งว่าไปแล้วมีเจตนาที่รับใช้ศาสนาและระบบคิดทางการเมืองซึ่งคนปัจจุบันไม่ได้นับถือกันอีกแล้ว)  ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นปัญหายุ่งยากที่น่าเวทนาในภูมิปัญญาของคนทั้ง กัมพูชา และไทยในปัจจุบัน ทั้งที่ยุคนี้ กระแสโลกาภิวัตน์กำลังพัดกระหน่ำครอบงำจิตสำนึกของโลกอยู่อย่างเข้มข้น
                     ทอมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์แห่งนิวยอร์กไทม์ส เจ้าของงานเขียนโด่งดัง The World is Flat เคยเขียนหนังสือวิเคราะห์โลกาภิวัตน์เอาไว้หลังวิกฤตต้มยำกุ้งใหม่ๆ ชื่อ The Lexus and the Olive Tree โดยเปรียบเทียบว่าในขณะที่ความทันสมัยของรถยนต์จากค่ายโตโยต้า กำลังสร้างนวัตกรรมสินค้าอันน่าทึ่งต่อชาวโลกนั้น มีจิตสำนึกถ่วงรั้งของคนจำนวนไม่น้อยในโลกที่กำลังทุ่มเถียงกันเอาเป็นเอาตาย(ตัวอย่างเด่นสุดอยู่ในปาเลสไตน์)ว่าชนชาติใดเป็นคนปลูกและเจ้าของที่แท้จริงของต้นองุ่นคร่ำคร่า
                      ความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารของไทยและกัมพูชา คือปมถ่วงรั้งความก้าวหน้าของประชาคมอาเซียน (AC ซึ่งเริ่มต้นจากกลไกความร่วมมือเศรษฐกิจผ่านกระบวนการ AEC) ที่มีเป้าหมายชัดเจน (โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ผลักดันผ่าน “ข้อริเริ่มเชียงใหม่”- Chiang Mai Initiative (CMI) 6 พฤษภาคม 2543) ต้องการจะให้มีการผสมกลมกลืนกันในการสร้างเอกภาพหลายด้านของรัฐประชาชาติและประชาชนที่เป็นสมาชิกของประชาคม ไม่ต่างอะไรกับการแย่งต้นมะกอกในปาเลสไตน์ โดยเพิกเฉยนวัตกรรมที่รุดหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์
                      การสื่อสารที่ล้มเหลว ย่อมมีผลทำให้จิตสำนึกที่รุดหน้า กับจิตสำนึกถ่วงรั้งไม่มีโอกาสสร้างจุดดุลยภาพ ถือเป็นโจทย์ที่แก้ยากยิ่งกว่าตำนานของปมกอร์เดี้ยน (ปมซ่อนปลาย) ในตำนานเก่าแก่ของกรีกโบราณหลายเท่า
                      หากลองวาดแบบจำลองล่วงหน้า (โดยไม่ต้องเชื่อหมอดู) ความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์หลังคำพิพากษาของศาลโลกในกรณีเขาพระวิหาร หลังวันที่ 11 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะเป็นดังต่อไปนี้คือ
                      -  รัฐบาลไทยถูกกลุ่มคลั่งชาติ และชาตินิยมจัดโค่นล้ม ในข้อหาทำให้เสียดินแดน หากศาลตัดสินให้ไทยเสียเปรียบ
                      - รัฐบาลกัมพูชาถูกพวกคลั่งชาติ และชาตินิยมจัดโค่นล้ม ในข้อหาทำให้เสียดินแดน หากศาลตัดสินให้กัมพูชาเสียเปรียบ
                     - รัฐบาลทั้งสองประเทศดำรงอยู่ต่อไป และหาทางร่วมมือกันใช้ประโยชน์ข้ามพรมแดนร่วมกัน
                     - รัฐบาลของทั้งสองประเทศล้มลงไปเพราะกลุ่มคลั่งชาติ และชาตินิยมจัดต่อต้านโค่นล้ม
                     -  ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย เพื่อให้รอมชอมกัน หรือไม่ก็ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนพังทลายก่อนปี 2558
                     แบบจำลองดังกล่าว หากมองจากมุมของตลาดหุ้น ก็หมายความว่า ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นจังหวะทิ้งหุ้นล้างพอร์ต แล้วกลับไปช้อนซื้อเมื่อความขัดแย้งถึงขีดสุด เพื่อจะขายทิ้งทำกำไรรอบใหม่ในเวลาต่อมา ตามสูตรของลอร์ด นาธาน ร็อธไชลด์ที่เคยบอกเอาไว้ว่า “ให้ทิ้งหุ้นเมื่อก่อนและหลังสงคราม แต่ให้ซื้อหุ้นเมื่อเลือดนองพื้นถนน”
                   ใครจะเชื่อหรือมองตรงกันข้าม ย่อมมีสิทธิ์กระทำได้ ไม่สงวนสิทธิ์ประการใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น