วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์–อาชญากรรมการเงิน คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2556

เศรษฐศาสตร์–อาชญากรรมการเงิน

คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 5 คน 

              ปี 2554 กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ณุศาสิริ และบริษัท KMP Property ได้เข้าซื้อกิจการเกินกว่า 50% ของบริษัทสิ่งทอที่ยุติการประกอบธุรกิจไปแล้ว เพราะขาดทุนและส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ บมจ.ไทยเกรียง กรุ๊ป หรือ TDG ซึ่งถูกพักการซื้อขายไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ซึ่งมีราคาหุ้นครั้งสุดท้าย 38 สตางค์  ด้วยวิศวกรรมการเงินเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางประตูหลัง (back-door listing) ภายใต้ชื่อใหม่ บริษัท อั่งเปา แอสเสท จำกัด (มหาชน) หรือ PAO ด้วยทุนจดทะเบียนใหม่ และโครงการหารายได้อันสวยหรูตามสูตรสำเร็จของที่ปรึกษาการเงิน
             ก่อนกลับมาเทรด มีคนจำนวนหนึ่งทำการเร่ขายหุ้น PAO ที่กำลังแต่งตัวรอเข้าเทรด ด้วยราคาซื้อขายนอกตลาด พร้อมกับข่าวลืออย่างนั้นอย่างนี้ (ตามสูตรล่อแมลงเม่าอีกเช่นกัน) ที่ 1.50 บาท จากนั้นก็ทำการกลับมาเทรดใหม่จริงในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 ด้วยราคาเปิดครั้งแรกที่ 1.21 บาท
             ใครที่ซื้อหุ้นในราคานอกตลาดตามที่คนเล่าลือกัน 1.50 บาทก็เจ๊งตั้งแต่วันแรกที่เข้าเทรดทันที  และจนถึงวันนี้ ราคาหุ้น PAO ที่เปลี่ยนชื่อใหม่อีกเป็น NUSA  ราคาก็ยิ่งอยู่ที่ต่ำกว่า 1.10 บาท
            ไม่มีใครรู้ว่า ไอ้โม่งที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการชี้นำราคานอกตลาดก่อนเทรดจริงมีใครบ้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไป 2 ปีเศษ เมื่อ ก.ล.ต. เพิ่งจะออกคำสั่งลงโทษ มาร์เก็ตติ้ง (ชื่อทางการว่าผู้แนะนำการลงทุน)จำนวน 8 คนที่เป็นพนักงานในสังกัดบริษัทหลักทรัพย์คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS ด้วยบทลงโทษที่แตกต่างกันเฉพาะบุคคลแล้วแต่การกระทำความผิด
             แกนหลักของทั้ง 8 คน คือ นายวีระชัย ครองสามสี ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายตราสารทุน และเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ และ นางสาวปัทมาวดี วรรณวุฒิพงศ์ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายตราสารทุน ดูแลวิเคราะห์การลงทุน และแนะนำการลงทุนต่อลูกค้า แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนหรือมาร์เก็ตติ้ง โดยคนอื่นๆ ที่เหลืออีก 6 คนล้วนเป็นมาร์เก็ตติ้ง
             คนทั้งหมดต่างร่วมกันกระทำความผิดหลายอย่างต่างกรรมต่างวาระ แต่ล้วนโยงเข้ากับการชี้แนะนักลงทุนให้ซื้อขายหุ้น PAO นอกตลาด รวมทั้งการซื้อหุ้นนอกตลาดมาชี้ชวนขายต่อให้นักลงทุน หรือ ใช้บัญชีนักลงทุนซื้อขายหุ้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง และไม่บันทึกการให้คำแนะนำการลงทุนที่ให้แก่ลูกค้า
             บทลงโทษมีตั้งแต่ ห้ามการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์สำหรับผู้บริหาร และเพิกถอน หรือพักงานมาร์เก็ตติ้งการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน โดยมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาแตกต่างกันตามความผิด แต่ในบทลงโทษดังกล่าว ไม่ได้รวมเอาการลงโทษบริษัทหลักทรัพย์คันทรี่ กรุ๊ป และไม่มีการระบุโทษปรับเงินแต่อย่างใด
             ที่สำคัญ ไม่มีความเชื่อมโยงว่าผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหารของ PAO เกี่ยวโยงด้วย เป็นปัญหาของมาร์เก็ตติ้งที่หวัง “หยิบเบี้ยใกล้มือ”ล้วนๆ
             บทลงโทษและการกระทำผิดซ้ำๆ ซากๆ เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และยังคงมีต่อไปในอนาคต ตราบใดที่ ก.ล.ต.ยังคงไม่หยุดตรวจสอบความโลภของคนที่กระทำอาชญากรรมทางการเงิน เพียงแต่ก็ยังอดมีคำถามตามมาอีกว่า
             1) ทำไมการลงโทษแบบ “วัวหายล้อมคอก” เช่นนี้ จึงเชื่องช้าเหลือเกิน ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีเศษ สำหรับการลงโทษ ในขณะที่คนกระทำความผิดก็ร่ำรวยกันไม่รู้เท่าไหร่ และเหยื่อของพวกเขาก็ขาดทุนไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่กรณีแรก บางกรณีนานกว่านี้หลายเท่า ยิ่งในกรณีต้องส่งให้ดีเอสไอ เพื่อฟ้องคดีต่อศาลด้วยแล้ว กว่าจะจบลงได้ก็อาจจะเกือบลืมไปเลย เช่นกรณีของสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวกที่กระทำผิดตั้งแต่ปี 2539 จนป่านนี้ คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด ทั้งที่รับสารภาพในศาลแล้ว
              2) บทลงโทษค่อนข้างต่ำเกินจริง เมื่อเทียบกับการกระทำผิด  เพราะเท่ากับเปิดช่องให้คนชั่วย้อนกลับมาทำความผิดซ้ำในอนาคตได้ไม่ยากเย็นนัก
             ในกรณีหลัง เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์ของอาชญากรรมนั้น หากต้นทุนของการกระทำความผิด (ถูกลงโทษ)ต่ำกว่าผลตอบแทน (รางวัล) ในการกระทำความผิด คนก็ยังพร้อมจะทำความผิดได้เรื่อยๆ ไม่มีเข็ดหลาบ
             โดยเฉพาะในธุรกรรมทางการเงินนั้น เราได้เห็นนักการเงินที่ฉ้อฉล และสมคบคิดกระทำผิดหลายคนที่วนเวียนไปมาในตลาดหุ้นไทยอย่างแยบยลซ้ำซ้อน เช่นกรณีเสี่ย ว. (นามสมมติ) เป็นอดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ที่เคยถูกลงโทษหนักในการ “จงใจหลิ่วตา” ให้พนักงานบริษัทละเมิดต่อคำชี้แนะของก.ล.ต.ในการแก้ไขระบบปฏิบัติการที่เลวร้าย เอาเปรียบนักลงทุนที่เป็นลูกค้า เขาก็หอบเงินพาพลพรรคไปซื้อใบอนุญาตบริษัทจดทะเบียนเน่าๆ ที่ติดในกลุ่มรีแฮบโก้ รอวันมีคนเข้าซื้อกิจการ แล้วก็หาพันธมิตรมาร่วมกันดันกลับมาเทรดทำกำไร แล้วก็ขายทิ้งออกไปซ้ำซ้อน ในฐานะ “ขาใหญ่ผู้ช่ำชอง” ในบริษัทแล้วบริษัทเล่าอย่างลอยนวล ซึ่งอยู่ใต้จมูกของ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยที่ไม่สามารถหามาตรการมาจับผิดและลงโทษได้ แม้จะมองเห็นความผิดปกติได้ไม่ยาก
               คำถามว่า ก.ล.ต. หรือตลาดฯ คิดจะจับแต่ปลาซิว โดยไม่ยอมจับปลาวาฬ และเลือกปฏิบัติการทำนอง “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” จึงกลายเป็นคำถามที่ท้าทายมากทีเดียว
              ในอีกมุมหนึ่ง นักทฤษฎีด้านอาชญวิทยา ก็แย้งว่า การตั้งหรือใช้บทลงโทษที่รุนแรง ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาการกระทำผิดหรือฉ้อฉลลงไปได้ ตราบใดที่กลไกหรือกระบวนการกำกับดูแลขาดประสิทธิภาพ แต่อาจลดทอนการกระทำผิดซ้ำได้บ้าง แต่ไม่มีหลักประกันใดๆ สำหรับคนที่เจตนาเลวร้ายโดยกมลสันดาน ดังนั้น จึงมุ่งเน้นว่า ความสำคัญของการลดทอนการกระทำผิดน่าจะอยู่ที่การเพิ่มความเข้มข้นของเกมการตรวจสอบหลายระดับ (intensive inspection game)
              สำหรับนักทฤษฎีเกม ตราบใดที่ผู้กำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. และ ตลาดฯ  ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หรือผู้จัดการกองทุน แบบ “เกมกินแบ่ง” ในลักษณะไล่ล่าหาความผิดที่ไม่รู้จบแบบการ์ตูนทอมกับเจอร์รี่ ก็มักจะจบลงด้วยการจับปลาซิว มากกว่าจับปลาวาฬ และมีคำถามถึงประสิทธิภาพจากคนภายนอกไม่สิ้นสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น