วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

CHOเซ็นเอ็มโอยูCPALL-PIM

CHOเซ็นเอ็มโอยูCPALL-PIM

2015-04-28

:พัฒนารถขนส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

CHO เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับ CPALL-PIM พัฒนารถขนส่งเชิงพาณิชย์ใช้พลังงานไฟฟ้า หวังลดต้นทุนการขนส่งสินค้า มั่นใจเริ่มผลิตใช้คันแรกภายในปี 59

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช. ทวี ดอลลาเซียน จำกัด  (มหาชน) หรือ CHO เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้เข้าลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 3 ฝ่าย กับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM เพื่อร่วมดำเนินโครงการการพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์
โดยถือเป็นการพัฒนารถขนส่งเชิงพาณิชย์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าคันแรกของประเทศไทย  เนื่องจาก CPALL เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพของยานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์ เพราะปัจจุบัน ซีพี ออลล์ มีการใช้ยานยนต์สำหรับขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าสู่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นสาขาต่างๆ มีมากกว่า 8,300 สาขาทั่วประเทศ
ดังนั้น การพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกจะส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านการจัดการต้นทุนดีขึ้น อาทิ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ค่าเชื้อเพลิงต่างๆ และยังเป็นการลดมลภาวะบนท้องถนน โดยคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการออกแบบและพัฒนา จากนั้นจะสามารถผลิตรถขนส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คันแรกของประเทศไทยในปี 2559
ขณะที่นายชูศิลป์ จิรวงศ์ศรี รองกรรมการผู้จัดการ CPALL กล่าวว่า การร่วมลงนาม MOU ทั้ง3 ฝ่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์ และดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด Green Logistics
โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 7 Go Green ของบริษัท และหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะถือได้ว่าเป็นรถขนส่งเชิงพาณิชย์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย และเป็นคันแรกของประเทศไทยที่จะมาช่วยลดภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์แก่ผู้ประกอบการในระยะยาว ซึ่งแม้การลงทุนในขั้นแรกจะสูงกว่ารถทั่วไป แต่สิ่งที่สังคมจะได้ทันที คือ การอนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM กล่าวว่า การร่วมลงนามในครั้งนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์
อีกทั้ง เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านยานยนต์ให้สามารถนำมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ต่อธุรกิจได้รวมถึงเป็นการช่วยพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านการพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร
ทั้งนี้ CHO ได้มีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์สำเร็จแล้ว คือ รถลำเลียงอาหารสำหรับสายการบิน (Catering) ซึ่งใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า และควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองใช้งานจริงตามสนามบินต่างๆ ทั่วโลก  จึงมั่นใจว่า การร่วมพัฒนายานยนต์นำร่องต้นแบบคันแรกแบบ 6 ล้อ และพัฒนาศักยภาพการชาร์ตแบตเตอรี่ได้เต็มเร็วและใช้งานได้นานมากขึ้น พร้อมปรับลดต้นทุนการผลิตรถดังกล่าวเพื่อให้เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการทั่วไป จะสามารถเห็นผลสำเร็จได้ภายในปี 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น