ต่างชาติห่วงประท้วงบานปลายซ้ำรอยปี2553
ต่างชาติห่วงประท้วงบานปลายซ้ำรอยปี2553
"ต่างชาติ" ห่วงประท้วงบานปลายซ้ำประวัติศาสตร์ปิดถนน สนามบิน เผาห้างสรรพสินค้า ระบุการเมืองไม่นิ่งฉุดการลงทุน ชี้จุดอ่อนไทยบังคับใช้กฎหมาย
"ต่างชาติ" ห่วงประท้วงบานปลายซ้ำรอยประวัติศาสตร์ปิดถนน สนามบิน เผาห้างสรรพสินค้า ระบุการเมืองไม่นิ่งฉุดบรรยากาศลงทุน ชี้จุดอ่อนไทยบังคับใช้กฎหมาย โบรกเกอร์ต่างชาติ ระบุนักลงทุนนอกห่วงปัญหาการเมืองกระทบภาคเศรษฐกิจจริง ฉุดจีดีพีไตรมาส 4 ปีนี้ ยาวถึงไตรมาส 1 ปีหน้า หลังจากรัฐบาลให้ความสำคัญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แทนโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเป็นที่จับตามองจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักธุรกิจต่างชาติที่แสดงความกังวล ภายหลังจากรัฐบาลเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ฝ่ายค้านได้รณรงค์คัดค้านอย่างเต็มที่
นายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าไทย-แคนาดา กล่าวว่า บรรยากาศความขัดแย้งและการประท้วงทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติหลายราย เริ่มเกิดความกังวลว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย จากความไม่สงบที่เคยเกิดขึ้นทั้งการปิดถนน เผาห้างสรรพสินค้า รวมถึงการปิดสนามบิน มาก่อนหน้านี้ จนอาจบานปลายถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติในไทย
สำหรับประเทศไทยปัญหาการเมือง ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของต่างชาติ แม้ไทยจะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสการค้าและการลงทุนที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเป็นเมืองน่าอยู่
ชี้จุดอ่อนไทยบังคับใช้กฎหมาย
เขายังกล่าวว่า อีกปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติ ใช้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย คือ การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมองว่าประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ กลายเป็นความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในไทย ทำให้ไทยถูกแย่งชิงความน่าสนใจในการเข้าทำธุรกิจและการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ โดยมีกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่น่าสนใจในอาเซียนเข้ามาแทนที่ อาทิ พม่า อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ขณะที่ประเทศที่ยังคงมีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าไทย ยังคงเป็น มาเลเซีย และ สิงคโปร์
"ปัญหาการเมืองในไทยเกิดขึ้นมาตลอด ทำให้ต่างชาติกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยปัญหาการเมืองถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่นักธุรกิจต่างชาติแสดงความกังวล โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย อาทิกฎหมายด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่เคยเป็นประเด็นที่หอการค้าต่างประเทศเรียกร้องขอความชัดเจนมาก่อนหน้านี้"
ออกกฎหมายล้างผิดคอร์รัปชันขัดแย้งตัวเอง
นายปีเตอร์ ยังให้ความเห็นต่อการบังคับใช้กฎหมายของไทย ว่า ที่เห็นชัดคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีความขัดแย้งหลักปฏิบัติในตัว หากมีการล้างความผิดทุกคดี ว่าจะหมายรวมถึงคดีการทุจริตคอร์รัปชันด้วยหรือไม่ หากรวมอยู่ในนั้นเท่ากับว่า ประเทศไทยยอมอ่อนข้อให้กับการคอร์รัปชัน แต่อีกด้านหนึ่งกลับรณรงค์ปรามปราบการคอร์รัปชัน
"สังคมไทยคือสังคมที่ให้ความเคารพกันและกัน และให้อภัยซึ่งกันและกัน และลืมง่าย แต่ก็ต้องพิจารณาถึงความมีมาตรฐานและการบังคับใช้ทางกฎหมาย ที่จะส่งผลไปถึงภาพรวมของการตั้งกฎกติกาของประเทศ ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข โดยที่กฎหมายมีความเข้มแข็ง" นายปีเตอร์ให้ความเห็น
นายคาร์ล ไฮนซ์ เฮคเฮาเซน ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย มองต่างมุมถึงบรรยากาศการลงทุนในขณะนี้ว่า กลุ่มนักลงทุนเยอรมัน ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนต่อเนื่องในไทย เพราะมองว่าการประท้วงในประเทศไทยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปกติ ไม่ต่างกับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือ สหรัฐ
ธปท.รับการเมืองฉุดเชื่อมั่นบริโภค-ลงทุน
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเมืองถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการบริโภคและการลงทุนในขณะนี้ เพียงแต่ผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอดูสถานการณ์ก่อนว่า จะพัฒนาไปอย่างไร คนที่มาร่วมชุมนุมเยอะหรือไม่ และชุมนุมกันนานแค่ไหน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่ชัดเจนได้
"ตอนนี้มีหลายเรื่องที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและลงทุน ซึ่งการเมืองก็เป็นเรื่องหนึ่ง "
ตปท.ห่วงการเมืองฉุดจีดีพีไตรมาส4
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติกังวลสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งรัดเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษเข้าสภา ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องเร่งรัดดำเนินการ ทั้งที่มีนโยบายสำคัญที่ควรจะดำเนินการ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท และการเตรียมความพร้อมทางด้านแรงงานรองรับการเปิดประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
"การเมืองกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นชัดเจนในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เพราะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ต่างชาติไม่ชอบความไม่แน่นอน ยิ่งในภาวะที่สถานการณ์โลกไม่ปกติ ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนมากขึ้น ที่ผ่านมาต่างชาติสอบถามเรื่องการเมืองมากขึ้น เทียบกับช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ที่ไม่มีประเด็นทางการเมืองเลย"
ประเด็นที่ต่างชาติเป็นห่วง คือ สถานการณ์ทางการเมืองจะกระทบกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในระยะยาว เพราะรัฐเร่งผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษ มากกว่านโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่จะต้องมีการวางแผนงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ
"สถานการณ์ในตลาดโลกไม่ดี หากยังมีปัญหาการเมืองในประเทศ คงกระทบกับการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ และไตรมาส 1 ปีหน้า และถ้ามีการลดมาตรการคิวอี เงินก็จะไหลออกและจะไหลออกจากหุ้นไทยมากกว่าตลาดอื่น"
จับตาจำนวนผู้ชุมนุมตัวแปรสถานการณ์
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง วิเคราะห์ว่า คงมุมมองต่อการลงทุนที่เป็นลบเป็นวันที่ 2 จากความตึงเครียดทางการเมือง โดยเฉพาะการเปิดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาวาระ 2 ของร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับแปรญัตติที่นิรโทษกรรมทุกภาคส่วน รวมถึงผลการพิจารณาของศาลช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นจุดเสี่ยงทางการเมือง และจับตาจำนวนผู้ชุมนุมในแต่ละจุดว่า จะมีจำนวนมากเพียงพอต่อการสร้างแรงกดดันต่อการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ในสภาฯมากน้อยเพียงใด ซึ่งการชุมนุมการเมืองครั้งนี้ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ให้น้ำหนักมากกว่าการชุมนุมครั้งอื่นๆ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นไปอย่างประปราย และไม่สามารถเรียกกระแสการชุมนุมได้มากนัก ทำให้นักลงทุนอาจประเมินการเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบนี้ เหมือนเช่นครั้งก่อนๆ ทำให้ดัชนีหุ้นอาจฟื้นตัวทางเทคนิคบริเวณ 1,410-1,420 จุดได้ แต่โอกาสปรับขึ้นยังจำกัด มองแนวต้านที่ระดับ 1,445 จุด ซึ่งอาจจะผ่านได้ยาก จากการทยอยลดน้ำหนักการลงทุนของสถาบันในประเทศ
บริษัทยังคงไม่ไว้ใจกับสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ และต้องรอประเมินจำนวนผู้ชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์นี้ อีกครั้งว่าจะสร้างแรงกดดันทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นตัวแปรชี้ชัดถึงแรงกดดัน และความยืดเยื้อทางการเมืองที่จะส่งผลต่อดัชนีทั้งขาขึ้นและขาลง
"ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ที่การเมืองในประเทศ โดยน้ำหนักของประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมในแต่ละจุด จะมีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์นี้ หากมีจำนวนที่มากกว่าหมื่นคนขึ้นไป อาจสร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และความเชื่อมั่นมากขึ้น"
การเมืองร้อนกดตปท.ไม่กลับตลาดไทย
นางสาวจินตนา เมฆินทรางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารทุน บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีพีอี 13.5-14.0 เท่า ถือว่าไม่ถูก ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจก็ชะลอตัว และมีปัจจัยการเมืองในประเทศ มาเป็นปัจจัยพิเศษของตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวออกข้าง (SIDEWAY) ในกรอบ 1,400-1,500 จุด โดยต่างชาติ เขามีตลาดอื่นให้พิจารณาเปรียบเทียบ และคงไม่จำเป็นต้องรีบกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย
"ระยะสั้นๆ ปัจจัยการเมืองที่มีอยู่ คงทำให้ต่างชาติ ยังรอดูความชัดเจนก่อน และคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบกลับเข้ามาลงทุนแต่ประการใด "
ท่องเที่ยวกังวลการเมืองเดือด
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมแอตต้า กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดเอเชียสำคัญที่สุด 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ที่ครองส่วนแบ่งสูงสุด 10% เทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบ หากการชุมนุมทางการเมืองเกิดความรุนแรง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการสอบถามสถานการณ์จากบริษัทนำเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่มีระดับความน่ากังวลสูงสุดในปีนี้ และหากเหตุการณ์รุนแรง อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรุนแรงครั้งแรกนับตั้งแต่การปิดสนามบินปี 2551 และการชุมนุมที่ย่านราชประสงค์ ปี 2553 เนื่องจากขณะนี้ไทยพึ่งพิงตลาดเอเชียเป็นหลักในสัดส่วนกว่า 70%
เบื้องต้นพบการลดลงของนักท่องเที่ยวในช่วงนี้แล้วราว 5% ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมเงื่อนไขการชุมนุมให้อยู่ในกรอบ 2 เรื่อง คือ 1.เป็นการชุมนุมปราศจากความรุนแรง ป้องปรามไม่ให้เกิดมือที่สาม มาสร้างความวุ่นวาย และ 2.ขอให้จำกัดขอบเขตการชุมนุมไม่ให้รบกวนพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวหรือย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจใจกลางเมือง เพราะหากเกิดขึ้นแล้วการฟื้นฟูตลาดต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี
"การเมืองถือเป็นปัจจัยลบซ้ำซ้อน ท่ามกลางปัจจัยลบภายนอก เห็นได้จากตัวเลขในเดือนต.ค. หลังจากประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงตั้งแต่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา มีสถิติชาวจีนที่เดินทางผ่านทัวร์เพียง 40,000-50,000 คน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ราวเดือนละ 1 แสนคน"
นางปิ่นนาถ เจริญผล ผู้อำนวยการสำนักงานคุนหมิง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ตลาดจีนยังได้รับความกดดันจากการประกาศใช้กฎหมายท่องเที่ยวฉบับใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยในสำนักงานคุนหมิงมีอัตราการลดลงแล้วราว 20-30% ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ที่ผ่านมา
นางสาวนิธิดา ประยงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงโซล ททท. กล่าวว่า ไทยตั้งเป้าตลาดเกาหลีไว้ 1.3 ล้านคน และไทยครองส่วนแบ่งถึง 8% ของเอาท์บาวด์เกาหลีใต้ทั้งหมด ซึ่งหากเกิดความรุนแรงด้านการเมืองไทยขึ้น จะเป็นการเสียโอกาสมาก
นางณิตยา อ่วมพิทยา ผู้อำนวยการสำนักงานโตเกียว ททท. กล่าวว่า ตั้งเป้าตลาดญี่ปุ่นปีนี้ไว้ 1.5 ล้านคน โดยไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมอันดับ 6 ของชาวญี่ปุ่น โดยขณะนี้สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เริ่มมีการรายงานสถานการณ์ในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อยอดนักท่องเที่ยวตราบใดที่ยังไม่มีปัญหาความรุนแรงใหญ่โต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น