ชี้ตลาดรถยนต์ไทยใกล้อิ่มตัว แนะรัฐปรับนโยบายส่งเสริม หลังปิดฉาก "รถคันแรก"
นโยบายรถคันแรกของรัฐบาลเมื่อปี 2555 ทำให้ตลาดรถยนต์ของไทยคึกคัก ยอดจองซื้อแต่ละค่ายเติบโตแบบก้าวกระโดดทะลุ 1.2 ล้านคัน เมื่อนโยบายรัฐบาลจบลง ทำให้ตลาดรถยนต์กลับเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ชะลอตัวลง
ประกอบกับการส่งออกที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและสหรัฐ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ด้านนายวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยานยนต์ จำกัด ร่วมวิเคราะห์ "ก้าวต่อไปอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย" ในรายการ Business Talk ทางกรุงเทพธุรกิจทีวี นายนินนาท บอกว่า การลดลงของยอดขายรถยนต์ในประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ
แม้ยอดจำหน่ายโดยรวมจะตกลงถึง 28%ในเดือน กย.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะ จากยอดขายแต่ละเดือนยังอยู่ที่ประมาณ 100,000 คัน เทียบกับในอดีตเพียงไม่กี่ปีที่แล้ว ที่มียอดจำหน่ายต่อเดือนเพียง 50,000 คันเท่านั้น ทั้งนี้โตโยต้า คาดว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศจะจบที่ตัวเลขกว่า 1.3 ล้านคันในปีนี้ ลดลงประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 1.4 ล้านคัน เพราะอานิสงส์จากโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล "ปีหน้าคาดว่า ตลาดจะลดลงต่อ เพราะในปีนี้ 4 เดือนแรก ยังมี backlog มาจากปีที่แล้ว ตัวเลข 100,000 คันต่อเดือนถือว่าเป็น normal track หรือความต้องการจริง”
นายนินนาทกล่าว ส่วนการส่งออก คาดว่าในปีนี้ ประเทศไทยจะส่งออกรถยนต์ทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ใกล้เคียงกับยอดการขายในประเทศ ในจำนวนนี้ 75% เป็นการส่งออกรถยนต์ปิคอัพ ชี้นโยบายอีโคคาร์ดันตลาดรถล้น ด้านนายวิทิต ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โฟล์คสวาเกน และดีลเลอร์รถยนต์อีก 5 ยี่ห้อ (บีเอ็ม ฟอร์ด มิตซูบิชิ เล็กซัส นิสสัน) เปิดเผยว่า ในส่วนของกลุ่มไทยยานยนต์ มียอดขายลดลงกว่า 10% ใกล้เคียงกับภาพรวมของตลาด ซึ่งจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี จะมีปัจจัยของแคมเปญและโปรโมชัน ที่ค่ายรถยี่ห้อต่างๆ จะออกมากระตุ้นยอดขาย และการเปิดตัวรถใหม่เข้ามาช่วย
แต่ในภาพรวมตลาดคงจะลดลงจากปีที่แล้วแน่นอน ก่อนหน้านี้ตลาดรถยนต์ไทยปี 2553-2554 เคยมียอดจำหน่ายเพียง 8 แสนคันต่อปี แต่เพราะนโยบายรถคันแรก ทำให้ตลาดเติบโตถึง 1.4 ล้านคันในปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและประชากรไทย ซึ่งมีประชากรผู้สูงวัยมากที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์ ส่วนตัวมองว่า ตลาดรถยนต์ไทยจะไปได้สูงสุดแค่ 1.5 ล้านคัน ซึ่งใกล้เข้ามาแล้ว ดังนั้นการที่รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมอีโคคาร์ เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการล้นตลาดมากขึ้นไปอีก ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดนี้ ผู้ลงทุนจึงต้องหันไปส่งออก ทั้งๆ ที่ตลาดของรถยนต์ขนาดเล็ก ราคาถูกอย่างอีโคคาร์ เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง และมีส่วนต่างกำไรน้อยมาก ผู้ผลิตรถยนต์ประเภทนี้ส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องมีฐานการผลิตในประเทศ ที่ต้องการจะทำการตลาด ดังนั้นการผลักดันให้มีการส่งออกรถยนต์อีโคคาร์ จึงถือว่าเป็นบิสิเนสโมเดล หรือรูปแบบการทำธุรกิจที่ขาดความยั่งยืน ไม่สามารถไปต่อได้ในระยะยาว
ขณะที่รถยนต์ปิคอัพที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ถือว่าเป็นรถยนต์ประเภทตลาดเฉพาะ และมีการแข่งขันน้อยกว่า จี้ภาครัฐหนุนผลิตรถชนิดพิเศษ สำหรับก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภาครัฐควรหันไปให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ชนิดพิเศษที่ใช้ในงานเฉพาะกิจต่างๆ อาทิ รถพยาบาล รถดับเพลิง รถที่ใช้ในเหมือง โดยผลักดันให้ค่ายรถยนต์ที่เป็นเจ้าของแบรนด์เข้ามาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการผลิตรถยนต์ชนิดพิเศษดังกล่าวโดยมีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ในระดับสากล และสนับสนุนในด้านของบริการหลังการขาย สามารถส่งออกไปทั่วโลก เนื่องจากรถยนต์เฉพาะกิจ จะมีการแข่งขันน้อย และให้มาร์จินท์สูงกว่า นายนินนาท กล่าวว่าตนเห็นด้วยกับการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ชนิดพิเศษ ที่ต่างประเทศเรียกว่า special utility vehicle เพราะเป็นรถยนต์ประเภทที่มีมาจิ้นท์สูง และใช้เงินลงทุนไม่มาก ซึ่งเรื่องนี้ทางยนตกิจคงต้องเสนอไอเดียให้แก่ทางภาครัฐ
ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายหนึ่งเอารถปิคอัพไปโมดิฟายล์เป็นรถหุ้มเกราะส่งออกไปตะวันออกกลางอยู่แล้ว ส่วนการสนับสนุนของค่ายรถ ที่ผ่านมาบริษัทรถยนต์สนับสนุนและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการไทยอยู่แล้ว อาทิ ในกรณีผู้ผลิตหลังคาไฟเบอร์ ที่โตโยต้าได้ส่งวิศวกรไปให้คำแนะนำ ช่วยเหลือทางด้านเทคนิค นอกจากนี้ยังนำเอารถตู้ Hiace ของโตโยต้าไปทำเป็นรถพยาบาล โดยดัดแปลงต่อเติมรถ ตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่โตโยต้าเป็นผู้กำหนด และได้รับการรับประกันในส่วนของพื้นฐานตัวรถ (base vehicle) เช่นเดิม
โตโยต้าจ่อออกแบบรถทั้งคันในไทย นายนินนาท กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ขึ้นแซงหน้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศแล้ว โดยคาดจะมียอดรายได้จากการส่งออกทั้งสิ้น 750,000 ล้านบาทในปีนี้ และหากมองในแง่ของยอดส่งออกสุทธิ (ส่งออก-นำเข้า) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ยอดส่งออกสุทธิของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งสิ้น 230,000 ล้านบาท และตัวเลขทั้งปีน่าจะถึง 3 แสนล้านบาท ด้านการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาเทคโนโลยี โตโยต้าได้จัดตั้งศูนย์เทคนิคัลเซนเตอร์ในประเทศไทยมาประมาณ 10 ปีแล้ว ซึ่งได้พัฒนาขีดความสามารถมาโดยตลอด จากการออกแบบชิ้นส่วนรถ คาดภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะสามารถออกแบบตัวถังของรถทั้งคันได้ โดยจะเริ่มจากรถยนต์ปิคอัพ และรถยนต์นั่งในลำดับต่อไป
"ทางสถาบันยานยนต์ เคยเสนอภาครัฐของบประมาณ 8 พันล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์ทดสอบ และสนามทดสอบรถยนต์ แต่น่าเสียดายที่ได้รับอนุมัติงบประมาณเพียงแค่หลักร้อยล้าน ซึ่งศูนย์ทดสอบนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ขนาดเล็กและกลางของไทยลดค่าใช้จ่าย และเวลาส่งชิ้นส่วนไปทดสอบต่างประเทศ และยังสามารถให้บริการแก่ผู้ผลิตจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนได้อีกด้วย ซึ่งการลงทุนในศูนย์ทดสอบฯดังกล่าวจะคุ้มค่าแน่นอน" --
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น