ยุติธรรมตายแล้ว
คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ผู้เข้าชม : 11 คน
บทละครของเช็คสเปียร์เรื่อง เฮนรี่ที่ 5 เอ่ยประโยคหนึ่งขึ้นมาเย้ยหยันนักกฎหมาย และกลายเป็นประโยคคลาสสิกว่า “สิ่งแรกที่เราทำ คือฆ่านักกฎหมายทั้งหมด” (The first thing we do, let's kill all the lawyers)
ประโยคนี้ ไม่ใช่ของใหม่ และไม่ใช่สัจจะ แต่จะต้องมีไปอีกยาวนานตราบใดที่มนุษย์ยังต้องมีรัฐและกฎหมายเอาไว้เป็นเครื่องมือสำหรับกำกับดูแลสัมพันธภาพของคนในสังคม แต่ที่สำคัญ มันได้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกครั้งที่กลไกทางกฎหมายไม่ทำงาน หรือไม่สามารถสร้างความยุติธรรมให้กับผู้คนในสังคมได้ คำถามจึงมักพุ่งเป้าไปที่นักกฎหมายในฐานะ “แพะ” เสมอ
ข้อสรุปของนักประวัติศาสตร์ใหญ่อย่าง อี.เอช. คาร์ ที่กล่าวว่า “กฎหมาย กับการเมือง คือ จุดปะทะสังสรรค์ของจริยธรรมและอำนาจ” จึงแหลมคมยิ่งนัก
กรณีของตุลาการ (ศาล) รัฐธรรมนูญ ชี้ขาดกรณีรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่าไม่ถูกต้อง แต่ผู้ที่กระทำไม่ต้องรับผิด ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า คณะตุลาการดังกล่าว “ปัดสวะ” ให้พ้นตัว ด้วยการพยายามโหนกระแส เอาใจทุกคน โดยอ้างถึงการสร้างสันติในสังคม เป็นเพียง 1 ในการทำลายตนเองของกลุ่มคนที่เป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลยเท่านั้น หากยังชักลากสังคมให้หลงทางไปจนมุมต่อความรุนแรงในอนาคตง่ายยิ่งขึ้น
ท่าทีและมุมมองที่ใช่อ้างเป็นเหตุผลของคณะตุลาการฯชุดดังกล่าวในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่แข็งกร้าวกับการปกป้องร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างชัดเจน เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนอย่างยิ่งของคนที่ยึดถือปรัชญาของสำนักกฎหมายปฏิฐานนิยม (Positive Law Theory) ซึ่งมีไว้รองรับการเมืองแบบอำนาจนิยมและเผด็จการ) ที่อยู่คนละขั้วกับปรัชญาสำนักกฎหมายธรรมชาตินิยม (Natural Law Theory) ซึ่งถือว่ามีไว้รองรับการเมืองแบบประชาธิปไตยและสังคมเปิด
ข้อถกเถียงว่าปรัชญากฎหมายสำนักไหนจะเหมาะสมกับสังคมมากกว่ากัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วของอารยะธรรมมนุษย์ในอดีตถึงปัจจุบัน และก็ยังหาข้อสรุปลงตัวไม่ได้ เพราะบางครั้งเส้นแบ่งของปรัชญาและการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ก็เหลื่อมซ้อนกันจนกระทั่งเกิดสภาพที่เรียกว่า The Thin Red Line
แม้กระทั่ง นักบุญอะไควนาส แห่งยุคฟิวดัล ก็ได้แต่แบ่งเอาไว้กว้างๆ แต่คลุมเครือว่า สำนักกฎหมาย 2 อย่าง ที่ต่อสู้กันก็คือ สำนักกฎหมายที่มนุษย์สร้าง (lex humana) กับ ฎหมายของสากลของพระเจ้า (lex posita) แต่นั่นก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน เพราะการแยกดังกล่าว มีไว้สำหรับแยกให้เห็นความต่างของสาระและวิธีการระหว่างกฎหมายคริสต์ศาสนจักร (canon law) กับกฎหมายอาณาจักร (state law) เท่านั้น
ในกรณีของไทย นับแต่ถูกเงื่อนไขของชาติตะวันตกบีบบังคับให้ปฏิรูปกฎหมายจารีตนครบาลตามกฎหมายตราสามดวง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มาเป็นกฎหมายแบบตะวันตก กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงได้รับอิทธิพลของแนวคิดปรัชญากฎหมายปฏิฐานนิยมของ จอห์น ออสติน มาบัญญัติใช้และสอนในโรงเรียนสอนกฎหมายของไทย ซึ่งถือว่า คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครอง หรือรัฏฐาธิปัตย์ ต่อพลเมือง เมื่อผู้ใดไม่ทำตามธรรมดาต้องลงโทษเสมอกัน ให้ถือว่ายุติธรรมเสมอกัน (ius positivum)
จุดเริ่มต้นของ “กระดุมเม็ดแรก” ของการปกครองโดยกฎหมาย (rule by law) ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักการปกครองด้วยนิติธรรม (rule of law) ดังกล่าว ทำให้นักกฎหมายของไทยยึดมั่นกับน้ำหนักของปรัชญาสำนักปฏิฐานนิยมมากเป็นพิเศษ โดยลดน้ำหนักกับคำอธิบายของกรมหลวงราชบุรีฯที่ว่า “อนึ่งคำอธิบายกฎหมายที่ว่ามาแล้วเพราะยังมีที่ติ...ด้วยเหตุว่าไม่ตรงแก่ความจริงหลายประการ” เพราะมองข้ามจารีตประเพณีสังคม และกฎหมายธรรมชาติของมนุษย์ “...ที่ไม่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ฤาไม่ได้เป็นคำสั่งด้วยวาจาของผู้มีอำนาจ...” อันตรงกับหลักสำนักกฎหมายธรรมชาตินิยม (ius Naturale)
ทัศนคติและแนวคิดที่ติดตรึงกับปฏิฐานนิยมเช่นนี้ จึงเป็นปกติที่ตุลาการไทยทุกสำนัก จะซ่อนตัวเองอยู่ใต้เสื้อคลุมของอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ โดยปราศจากคำถามใดๆ เพราะถือว่านั่นคือความชอบธรรมของรัฎฐาธิปัตย์เป็นอันติมะ
การสยบยอมต่อรัฎฐาธิปัตย์เช่นนี้ มีนัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า ตุลาการไทยนั่นแหละ มีความชอบธรรมที่เป็นอันติมะด้วย แม้ว่าพฤติกรรมจะเกิดจากการเป็นเครื่องมือของอำนาจของรัฎฐาธิปัตย์ที่ไม่ชอบธรรมก็ตาม
รวมทั้งในกรณีของตุลาการภิวัตน์ที่ถูกดัดแปลงเป็นเครื่องมือทางการเมืองของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมเพื่อทำลายอีกฝ่ายที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฏฐาธิปัตย์
พฤติกรรมการวินิจฉัยแบบ "หัวมงกุฎ ท้ายมังกือ" ของตุลาการภิวัตน์ เปิดเปลือยตัวเองอย่างล่อนจ้อน ดังที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงให้เห็นหลายครั้ง (รวมทั้งครั้งล่าสุด) ไม่เพียงแต่จะเป็นปฏิบัติการ "ฆ่าตัวตายผ่อนส่ง" ทำให้สังคมมองเห็นว่าเป็น "ศาลเตี้ยทางการเมือง" หรือ “ศาลจิงโจ้” เท่านั้น ที่ทำให้ความยุติธรรมถึงจุดจบ
สังคมที่ผู้คนสูญเสียความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่อ้างว่าทำหน้าที่ผดุงระบบยุติธรรม เป็นแค่ “เครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง” ย่อมโน้มนำไปสู่กฎธรรมชาติ ที่พึ่งพาความรุนแรงเป็นสรณะ เพราะคนจะเชื่อว่า ความยุติธรรมตายแล้ว เหลือเอาไว้แค่ สุนัขจิ้งจอกกับลูกแกะ
สังคมไทย กำลังเดินทางสู่เส้นทางนี้แล้วส่วนจะขั้นเริ่มต้น หรือขั้นปลาย ยังไม่ชัดเจน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น