เมื่อพูดถึงอินทรีและมังกร สัตว์ทั้ง 2 ชนิดดูจะมีอะไรคล้ายๆกันอยู่หลายๆอย่าง อาทิ ความสง่างาม ความยิ่งใหญ่ ความน่าเกรงขาม เป็นต้น และยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมหาอำนาจ 2 ประเทศคือ อเมริกา และ จีน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผู้นำของโลกอย่างแท้จริง ทั้ง 2 ประเทศยังแข่งขันเพื่อความเป็นผู้นำในทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเป็น ความเจริญทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าวิทยาศาสาตร์ รวมไปถึงกีฬา และหนีไม่พ้นเรื่องของการลงทุนเช่นเดียวกัน

สำหรับนักลงทุนไทยบางส่วนคงพอได้สัมผัสหรือคุ้นเคยกันบ้างแล้วสำหรับการลงทุนในทั้ง 2 ประเทศผ่านกองทุนรวม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเลยในช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา มีกองทุนมากมายที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) ของทั้ง 2 ประเทศ ผมเลยอยากจะขยายความเพิ่อให้เกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่กำลังสนใจลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายดังกล่าว 

เริ่มกันที่กองทุนรวมที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นอเมริกากันก่อน ปัจจุบันมีกองทุนดังกล่าวอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 13 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 3,900 ล้านบาท (แบ่งเป็นกองทุนแบบปกติ 10 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 3,500 ล้านบาท และ Trigger Fund 3 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 400 ล้านบาท) 

ขณะที่กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนมีประมาณ 25 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 16,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นกองทุนแบบปกติ 13 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 10,000 ล้านบาท) และ Trigger fund (11 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 5,600 ล้านบาท) และ ETF (1 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 248 ล้านบาท)

ซึ่งถ้า Master Fund ที่บริหารแบบ Passive ส่วนใหญ่จะเป็น ETF ที่ track ผลตอบแทนของดัชนีต่างๆ โดยถ้าเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นอเมริกาก็จะเน้น track ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 หรือ Nasdaq ส่วนถ้าเป้นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนก็จะ track ผลตอบแทนของดัชนี Hang Seng China Enterprises Index เป็นหลัก ดังนั้นผลตอบแทนของการลงทุนดังกล่าวก็จะใกล้เคียงกับดัชนีนั้นๆ

ส่วน Master Fund ที่บริหารแบบ Active นั้นส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนของ บลจ.ที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็จะไปลงทุนในกองทุน Master fund ของบริษัทแม่ในต่างประเทศหรือไปเลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในประเทศดังกล่าว และจะบริหารแบบ Active และอาจจะมี benchmark แตกต่างกันไปแต่ก็คงยังเน้นลงทุนในหุ้นของประเทศดังกล่าว ดังนั้นผลตอบแทนอาจจะไม่ได้ขึ้นลงตามดัชนีหลัก ซึ่งตรงจุดนี้นักลงทุนต้องทำความเข้าใจให้ดีด้วยครับ 

อีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนต้องความเข้าใจเพิ่มเติมคือเรื่องของนโยบายการป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน ซึ่งแต่ละกองทุนก็มีนโยบายที่แตกต่างกันออกไป รายละเอียดต่างๆเหล่านี้ (นโยบายกอง Master Fund, การป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน) ส่งผลต่อผลตอบแทนที่แตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นการศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ละเอียดก่อนการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้มาดูผลตอบแทนของกองทุนทั้ง 2 ประเภทกัน ต้องยอมรับว่าในช่วงปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐนั้นได้ปรับตัวขึ้นสูงเป็นอย่างมากเรียกได้ว่าติดอันดับต้นๆของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักของโลก โดยดัชนี S&P 500 สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 18.21% นั้นส่งผลให้กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นอเมริกาสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้กว่า 14.84% และสูงสุดถึง 21.53% และต่ำสุดที่ติดลบ -5.75% ขณะที่ผลตอบแทนระยะยาวย้อนหลัง 3 ปี กองทุนก็ยังสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 14.88% ต่อปี 

ในทางกลับกันดัชนี CSI 300 และ Hang Seng China Enterprises ทำผลตอบแทนได้แย่ที่สุดติดอันดับท้ายๆของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักของโลกโดย ดัชนี CSI 300 ติดลบ -10.85% และ Hang Seng China Enterprises ติดลบ - 14.49% และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนจะมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ - 7.6% แต่กองทุนที่ทำได้ดีที่สุดติดลบเพียง -1.04% ขณะที่แย่ที่สุดติดลบมากถึง -15.92% ขณะที่ผลตอบแทนระยะยาวย้อนหลัง 3 ปี กองทุนก็ยังย่ำแย่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบประมาณ -3.5% ต่อปี 

มาถึงตรงนี้ต้องยอมรับว่าถ้ามองกันในแง่ของความนิยมที่ได้รับจากนักลงทุนไทย กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นจีนนั้นชนะขาดเนื่องจากมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่สูงกว่าอย่างมาก แต่ถ้ามองในแง่ของผลตอบแทน กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นอเมริกานั้นก็ชนะแบบขาดลอยเช่นเดียวกัน นักลงทุนที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมของกองทุนทั้ง 2 ประเภท สามารถดูได้ที่www.morningstarthailand.com โดยใช้ฟังก์ชันจัดลำดับกองทุน และเลือกประเภทกองทุนแบ่งตามมอร์นิ่งสตาร์เป็น Global Equity หรือ Asia Pacific ex-Japan Equity 





*ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556
*ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com