เฟดตกลงทำสวอป 'ถาวร' กับธนาคารกลางประเทศยักษ์ใหญ่ 6 แห่ง ระบุช่วยลดภาวะตึงตัวตลาดเงิน
ชื่อ:  00.jpg
ครั้ง: 411
ขนาด:  25.3 กิโลไบต์

เฟดตกลงทำสวอป 'ถาวร' กับธนาคารกลางประเทศยักษ์ใหญ่ 6 แห่ง ระบุช่วยลดภาวะตึงตัวตลาดเงิน ขณะที่ยังคงมาตรการคิวอีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์คาดเฟดอาจลดคิวอีเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลดอลลาร์แข็งค่า-ตลาดหุ้นร่วง

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้สร้างความประหลาดใจในการคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) แต่จากถ้อยคำแถลงทำให้ตลาดเงินตีความไปว่าเฟดพอใจอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันและอาจเป็นไปได้จะลดวงเงินคิวอีเร็วกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งเฟดได้ลงนามสวอปเงินกับประเทศชั้นนำเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งก่อนหน้านั้นกังวลว่าหากเฟดถอนมาตรการคิวอีจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยว่าธนาคารกลางชั้นนำของโลกทั้ง 6 ประเทศ ได้เห็นพ้องต้องกันที่จะจัดทำเครือข่ายข้อตกลงสว็อปค่าเงินแบบถาวร เพื่อให้เป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงิน หากเกิดภาวะตึงตัวทางการเงินทั่วโลก

ทั้งนี้ บีโอเจระบุในแถลงการณ์ว่า บีโอเจและธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ มีมติทำให้ "ข้อตกลงสวอปค่าเงินระดับทวิภาคีแบบชั่วคราว" เปลี่ยนเป็นข้อตกลงแบบถาวร "ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศแจ้งเพิ่มเติม"

"ข้อตกลงสวอปค่าเงินชั่วคราวที่มีอยู่ได้ช่วยลดภาวะตึงตัวในตลาดเงินและบรรเทาผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ" แถลงการณ์ระบุ "ข้อตกลงแบบถาวรจะยังคงอยู่ต่อไปในฐานะที่เป็นแหล่งสนับสนุนสภาพคล่อง"

คำแถลงข้อตกลงสวอปค่าเงินเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดเงินกังวลต่อช่วงเวลาการปรับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ คิวอี แม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยและการอัดฉีดเงินจากมาตรการคิวอี

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) อยู่ในกรอบ 0-0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งเป็นระดับที่ได้กำหนดไว้ในการประชุมเดือนธ.ค. 2551 โดยย้ำว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตราบใดที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 6.5% และอัตราเงินเฟ้อรายปีอยู่ต่ำกว่าระดับ 2.5%

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ของเฟด ยังมีมติที่จะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐผ่านทางการซื้อตราสารหนี้ หรือ การใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) โดยจะยังคงดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และซื้อหลักทรัพย์ ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน รวมเป็นจำนวน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ทุกเดือนต่อไป เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ และกดดันให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ

เฟด ยอมรับว่าสัญญาณทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงในช่วงที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งด้านงบประมาณระหว่างนักการเมืองสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลบางส่วนปิดทำการในวันที่ 1-16 ต.ค.

นอกจากนี้ เฟดยังระบุว่า การใช้จ่ายในภาคครัวเรือน และการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ของภาคธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น แต่การฟื้นตัวในภาคที่อยู่อาศัยได้ชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และแสดงความไม่พอใจต่อการที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวขึ้นอย่างเชื่องช้า

เฟด ได้ตัดถ้อยคำที่แสดงถึงความกังวลต่อการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยออกจากแถลงการณ์เฟดในครั้งนี้ และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าเฟดมีความพึงพอใจมากยิ่งขึ้นต่ออัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การที่เฟดตัดสินใจคงขนาดคิวอีไว้ตามเดิมเป็นสิ่งที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้ว และแถลงการณ์ของเฟดที่ออกมามีความแตกต่างจากแถลงการณ์ของเฟดในการประชุมเดือนก.ย. เพียงเล็กน้อย

ชี้เฟดไม่กังวลภาวะตึงตัวการเงิน

นายโอเมอร์ ไอส์เนอร์ หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของบริษัทคอมมอนเวลธ์ ฟอเรนจ์ เอ็กซ์เชนจ์ กล่าวว่าโดยรวมแล้วแถลงการณ์ของเฟดไม่ได้แสดงความเห็นแบบสายพิราบมากเท่ากับที่ตลาดได้คาดการณ์กันไว้ โดยความเห็นแบบสายพิราบคือความเห็นในเชิงสนับสนุนการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายไอส์เนอร์ ระบุว่า เฟดได้ตัดถ้อยคำที่แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะตึงตัวทางการเงินออกจากแถลงการณ์ ซึ่งรวมถึงความกังวลเรื่องการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจำนอง และสิ่งนี้ทำให้แถลงการณ์ของเฟดไม่ได้แสดงแนวโน้มแบบสายพิราบมากเท่ากับที่คาด

อย่างไรก็ดี เฟดได้ปรับลดการประเมินภาวะตลาดแรงงานลง โดยระบุว่าตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อไป "ในระดับหนึ่ง" หลังจากตัวเลขการจ้างงานอ่อนแอลงในช่วงที่ผ่านมา

นายกฤษณะ เมมานี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทออพเพน ไฮเมอร์ ฟันด์ กล่าวว่าโอกาสปรับลดคิวอีจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป จนกว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้น

นายเมมานี กล่าวว่า มีโอกาสเพียง "เล็กน้อย" ที่เฟดจะปรับลดขนาดคิวอีในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 17-18 ธ.ค.

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ระบุอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาขัดแย้งด้านงบประมาณ และ นายพอล แอชเวิร์ธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของบริษัทแคปปิตอล อีโคโนมิคส์ ก็กล่าวว่า การที่เฟดไม่ระบุถึงสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

นายแอชเวิร์ธ กล่าวว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่เฟดพยายามลดความสำคัญของผลกระทบจากการปิดหน่วยงานรัฐบาล และแสดงความพึงพอใจมากยิ่งขึ้นต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว สิ่งนี้อาจบ่งชี้ว่าเฟดมีโอกาสปรับลดขนาดคิวอีในเดือนธ.ค. มากกว่าที่เราเคยคาดการณ์กันไว้

นายแอชเวิร์ธ กล่าวเสริมว่า เฟด มีโอกาสมากที่สุดที่จะเริ่มต้นปรับลดขนาดคิวอีลงในช่วงต้นปีหน้า แต่การคาดการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเล็กน้อย

เทรดเดอร์คาดอีก 2 ปีเฟดขยับดอกเบี้ย

เทรดเดอร์ในตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐระยะสั้นยังคงคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะรอเวลาจนถึงอย่างน้อยที่สุดในเดือนเม.ย. 2558 เพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรืออาจเป็นเวลาที่ยาวนานกว่านั้น หลังจากเฟดระบุว่าจะยังคงดำเนินมาตรการอัดฉีดเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้ สัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ผูกติดกับเป้าหมายดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ปรับตัวลงเล็กน้อยหลังการประกาศมติการประชุมของเฟดเมื่อวานนี้

เทรดเดอร์ ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนก.ค. 2558 ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับประมาณ 70%

ดอลล์แข็ง-หุ้นร่วงคาดลดคิวอีเร็วกว่าคาด

วานนี้ (31 ต.ค.) ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินทรงตัวใกล้จุดสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเฟด ตัดสินใจคงขนาดคิวอีต่อไป

สกุลเงินของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียส่วนใหญ่ร่วงลง ขณะที่มติเฟดสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ที่คาดว่าเฟดจะแสดงความเห็นในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนขายทำกำไรสกุลเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นในเดือนนี้

รูเปี๊ยะห์และเปโซนำขบวนร่วงลง ขณะที่ริงกิตอ่อนค่าลง เช่นกันจากแรงขายของนักลงทุน หลังจากที่เป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเดือนนี้

เทรดเดอร์และนักวิเคราะห์กล่าวว่า สกุลเงินในภูมิภาคไม่มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องในเดือนหน้า ขณะที่ตลาดได้ปรับตัวรับการคาดการณ์เกี่ยวกับการคงนโยบายการเงินของเฟด

หุ้นยุโรปปรับตัวลงในช่วงแรกการซื้อขาย หลังเฟดแสดงความเห็นเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจจะปรับลดมาตรการกระตุ้นเร็วกว่าที่คาดไว้

หุ้นสหรัฐปรับตัวลงเล็กน้อยหลังจากเฟดประกาศมติการประชุม ซึ่งตลาดมองว่าเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเริ่มปรับลดโครงการซื้อสินทรัพย์ก่อนเดือนมี.ค. ปีหน้า

ซีไอเอ็มบีชี้เฟดถ่วงเวลาลดคิวอี

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่าเฟดกำลังถ่วงเวลาการปรับลดคิวอี เพื่อรอตัวเลขเศรษฐกิจมาสนับสนุน โดยอ้างอิงการปรับลดลงของอัตราว่างงานว่าควรอยู่ที่ 6.5% จึงจะหยุดคิวอี หรือปรับขึ้นดอกเบี้ย หากเป็นเช่นนั้น อาจได้เห็นการปรับลดคิวอีในไม่ช้า คาดเป็นไตรมาส 1 ปี 2557 หลังเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ผ่านไป

"แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่แม้จะฟื้นตัวได้ดี จากการบริโภคภาคครัวเรือน และภาคการผลิต อันมีผลทำให้อัตราการว่างงานลดลง แต่แท้จริงแล้วตลาดแรงงานสหรัฐยังคงอ่อนแอ เพราะอัตราว่างงานที่ลดลงไม่ได้สะท้อนภาพคนมีงานทำมากขึ้น จากจำนวนผู้ที่ออกนอกตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นมาก" นายอมรเทพ กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์