ADVANC กำไรลด กับยุทธศาสตร์มดงาน
รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2556 ผู้เข้าชม : 6 คน
ปฏิกิริยาของนักวิเคราะห์ และนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังจากการแถลงผลประกอบการของบริษัทผู้ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่สุดของไทยอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่มีกำไรลดลงเล็กน้อย ถือว่าค่อนข้างติดลบรุนแรง ดังจะเห็นได้จากคำแนะนำให้ขายหุ้นทิ้ง และการปรับเป้าหมายราคาเสียใหม่ชนิดที่ไม่มีเกรงอกเกรงใจกันเลย ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงรุนแรงทีเดียว (ดูกราฟราคาของ ADVANC) นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนัก มีมุมมองที่แตกต่างกันไม่เป็นเอกภาพเหมือนเดิม แม้ว่าบางสำนักจะยังคงแนะนำให้ซื้อ แต่ก็ลดเป้าหมายราคาลงมาไม่เกิน 270 บาท บางสำนักที่มองโลกในแง่ร้ายก็ระบุว่า มีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ราคาเหมาะสมควรจะอยู่ที่ 210 บาท และแนะนำให้ขายทิ้งไปเลย
สถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับหลังการประกาศผลประกอบการในไตรมาสสองหรืองวดครึ่งแรกของปีอย่างลิบลับ เพราะในช่วงนั้น นักวิเคราะห์ทุกสำนักของบริษัทหลักทรัพย์ ล้วนให้คำแนะนำกันว่าราคาเป้าหมายของหุ้นของบริษัทนี้ 300 บาท ถือว่าต่ำเกินไปเสียด้วยซ้ำ
มุมมองที่เปลี่ยนไปของนักวิเคราะห์หุ้นที่มีต่อ ADVANC นั้น น่าจะเกิดจากการแถลงข่าวของผู้บริหาร นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ที่ระบุว่า ไตรมาสสามของปีนี้ มีรายได้และกำไรสุทธิลดลง แม้ว่าตัวเลข 9 เดือนจะเพิ่มขึ้น โดยให้เหตุผลถึง สาเหตุหลักจาก 1) อัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่ลดลงจากนาทีละ 1 บาท เป็นนาทีละ 45 สตางค์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา 2) ไม่มีการเปิดตัววางขายโทรศัพท์ high-end รุ่นใหม่ๆ ระหว่างไตรมาสส่งผลต่ออัตรากำไรจากการขายลดลงต่อเนื่อง
การลดลงของกำไรดังกล่าว ให้ความสำคัญค่อนข้างต่ำกับข้อเท็จจริงที่ว่า กระแสความนิยมสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับรายได้จากค่าบริการแบบนอน-วอยซ์ที่เป็นอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น และการที่บริษัทใช้เงินลงทุนสร้างโครงข่าย 3G ด้วยเม็ดเงิน 19,000 ล้านบาท จากงบประมาณ 3 ปี ที่ตั้งไว้ 70,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงข่ายครอบคลุมถึง 70% ของประชากรในพื้นที่ 77 จังหวัด ด้วยสถานีฐานกว่า 9,500 แห่ง ซึ่งแม้จะกระทบกำไรระยะสั้น แต่จะส่งผลต่อการก้าวกระโดดของรายได้ในระยะยาว
นอกจากนั้น การคาดเดาอนาคตของผู้บริหาร ที่ยอมรับว่า สภาพเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวส่งผลให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของรายได้จากการให้บริการในปีนี้ลงมาที่ 5-6% จากเดิมที่ 6-8% ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้เกิดมุมมองในทางลบต่อราคาหุ้นขึ้นได้ เนื่องจากคาดเดาว่ากำไรในไตรมาสสี่จะลดลงไปด้วย
รายได้ และ กำไรสุทธิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ล้านบาท
ไตรมาส 3 ปี 2556
|
ไตรมาส 3 ปี 2555
|
งวด 9 เดือน 2556
|
งวด 9 เดือน 2555
| |
33,477
|
33,705
|
106,960
|
103,349
| |
กำไรสุทธิ
|
8,340.98
|
8,786.61
|
27,458.17
|
26,425.62
|
กำไรต่อหุ้น
| 2.81 |
2.96
|
9.24
|
8.89
|
1) ฐานลูกค้า ADVANC ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างจังหวัดและได้รับกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 2) อาจต้องตั้งด้อยค่าเงินลงทุน DPC ใน 4Q56 จากสัมปทาน DPC สิ้นสุดตั้งแต่ 16 ก.ย. 56 ทำให้ไม่มีการบันทึกส่วนแบ่งรายได้ แต่จะมีการทบทวนมูลค่าทางบัญชีและอาจต้องตั้งด้อยค่าเงินลงทุน DPC ในไตรมาสที่ 4 นี้เป็นมูลค่าสูงประมาณ 4,479 ล้านบาท มุมมองทางลบที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น เพราะโดยข้อเท็จจริงของระยะเปลี่ยนผ่านของธุรกิจนั้น การปรับฐานโครงสร้างของรายได้บริษัทเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ประเด็นหัวใจสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่กำไรที่ลดลงในระยะเฉพาะหน้า แต่อยู่ที่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในระยะยาว
ในมุมของยุทธศาสตร์ระยะยาวนั้น จะเห็นได้ว่า ADVANC เป็นกลุ่มที่เอาจริงเอาจังอย่างมากกับการลงทุนเร่งสร้างเครือข่าย 3G เพื่อหัวหาดเร็วที่สุด เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะทำให้ก้าวข้ามยุคสมัยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การลงทุนเครือข่าย 3G ของ ADVANC แม้จะใช้เงินค่อนข้างมาก แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเกิดดอกออกผลค่อนข้างรวดเร็ว เพราะล่าสุด ตัวเลขของผู้ใช้บริการ 3G นั้น พุ่งขึ้นเป็นมากกว่า 12 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีเพียง 8 ล้านเลขหมาย
การเพิ่มขึ้นของลูกค้ารายใหม่ที่รวดเร็วของเครือข่าย 3G ถือเป็นความสำเร็จที่จะทำให้ในอนาคตจะสามารถทำให้บริการนอน-วอยซ์ซึ่งกำลังมาแรง กลายเป็นสัดส่วนรายได้และกำไรหลักของบริษัทในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
ความมุ่งมั่นของ ADVANC นั้นเปรียบได้กับยุทธศาสตร์ชีวิตของมดงานที่ตั้งมั่นกับการแย่งชิงฐานลูกค้า เพื่อเอาชนะคู่แข่งอีก 2 รายในธุรกิจเดียวกัน ในช่วงของธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จาก 2 จี ที่เน้นการสื่อสารผ่านเสียงหรือ voices ไปสู่การสื่อสารด้วยข้อความและภาพ หรือ non-voices มากขึ้นอย่างรุนแรง เกิดการผสมผสานที่เรียกว่าเทคโนโลยี LTE (long-term evolution)
รูปแบบของการต่อสู้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่าง ธุรกิจบนคลื่นความถี่ 2,100 เมกะเฮิร์ตซที่เน้น non-voice จึงต้องประนีประนอมด้วยคลื่นความถี่ ความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ หรือ 900 เมกะเฮิร์ตซ แบบ voice ซึ่งเป็นรูปแบบของการตลาดที่ต้องช่วงชิงในการสร้างความภักดีของผู้บริโภคอย่างจริงจัง
หากเทียบแผนการตลาดของทั้ง 3 ค่ายจะเห็นความแตกต่างไม่ยาก (ดูตารางประกอบ)
เปรียบเทียบความแตกต่างทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจ 3 จีของทุกค่าย
ADVANC
|
เน้น Waggle Dance ก้าวสู่อนาคตโดยไม่ยึดติดกับอดีตมากนัก ถืออดีตเป็นแค่ทางเลือกในการปิดจุดอ่อนเท่านั้น ไม่ลังเลกับเทคโนโลยีใหม่ โดยมุ่งไปที่ธุรกรรมบนคลื่นความถี่ 2,100 เมกะเฮิร์ตซ non-voice เป็นหลัก กะยึดหัวหาดใหม่เต็มรูป
|
DTAC
|
เน้น safety first แบบ”ตามองดาว เท้าติดดิน” เพราะยังไม่มีความพร้อมในการยึดหัวหาดตลาดใหม่ มีการลงทุนต่ำ และยังห่วงใยกับฐานลูกค้าเดิมในระบบสัมปทานที่คุ้นเคยกับการสื่อสานแบบเสียง
|
TRUE
|
มุ่งสร้างภาพลักษณ์ในใจกลุ่มตลาดบน เน้นเป็นผู้นำทางด้าน dataด้วยการชู 4จี ซึ่งเหมาะสำหรับnon-voices ของลูกค้ากลุ่มน้อยในเขตเมืองใหญ่ในลักษณะ focus group ในขณะที่ความพร้อมด้าน 3จีและอื่นยังต้องการเวลาในการให้บริการ
โดยเฉพาะ4จีนั้น จะต้องเพิ่มจำนวนอุปกรณ์รองรับที่ให้ทางเลือกมากกว่าในปัจจุบัน
|
หากพิจารณาแผนการตลาดของ ADVANC จะเห็นชัดเจนว่า มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างมาก (ดูตารางประกอบ)
แผนการตลาด 3 จีของ ADVANC 2556
บริการ
|
รายละเอียด
|
คลื่นความถี่
|
ความถี่2,100 เมกะเฮิร์ซ แต่หากลูกค้าใช้งานนอกพื้นที่ 3 จี จะปรับระบบเป็น 3 จีบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซ ให้อัตโนมัติ
|
แพ็กเกจของผลิตภัณฑ์
|
iSmartเริ่มต้นที่ 299 บาทขึ้นไป พร้อมแพ็กเกจเสริมหลากรูปแบบ คิดตามระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน
|
สถานีฐาน (cell sites)
|
ทันที 5,000 สถานีฐาน ให้บริการครอบคลุม 20 จังหวัดหัวเมืองใหญ่
|
เป้าหมายลูกค้า
|
ลูกค้าเดิมทันที12 ล้านราย สิ้นปี 2556 จะมี 15 ล้านราย
|
อุปกรณ์รองรับ
|
สมาร์ทโฟนหลายรุ่น (ดูรายละเอียดในเว็บไซท์บริษัท)
|
งบลงทุน
|
70,000 ล้านบาท
|
ไม่เพียงเท่านั้น ต้นทุนค่าสัมปทานที่จ่ายลดลงเพราะเปลี่ยนมาเป็นใบอนุญาต (ไม่นับรวมภาษีนิติบุคคลที่ลดลงจาก 23% เป็น 20%) ทำให้บริษัทได้ปรับเป้าหมาย EBITDA margin ของปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 43% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 41-42% เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่ลดลงจากเดิม 1 บาทต่อนาทีเป็น 0.45 บาทต่อนาที และมีผลตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา และอัตราโรมมิ่งระหว่างโครงข่ายที่ลดลงจากเดิม 1 บาทต่อนาที เป็น 0.6 บาทต่อนาที ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโรมมิ่งที่ลูกค้าระบบ 3G บนคลื่น 2.1GHz ใช้บริการโครงข่าย 900MHz ลดลง
กลยุทธ์ที่ดูเหมือนจะดึงลูกค้า 3 จี ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการผนวกพันธมิตรธุรกิจที่สร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อรุกสร้างความภักดีจากลูกค้ามากกลุ่ม จึงเป็นโอกาสที่จะส่งผลต่อรายได้ และกำไรของบริษัทในระยะต่อไปที่คาดเดาได้ยากในฐานะที่เป็นผู้นำในธุรกิจดังกล่าวในระยะยาว
กรณีของ ADVANC ที่มีกำไรลดลงเล็กน้อย และการที่ผู้บริหารออกมาปรับเป้าหมายเพื่อให้สอดรับกับบริบทของธุรกิจอย่างตรงกับความเป็นจริง จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะโดยข้อเท็จจริง การย่อตัวของกำไรที่เกิดขึ้น เป็นเพียงขั้นตอน ถอยหลัง 1 ก้าว เพื่อที่จะทะยานไปข้างหน้าอีกหลายก้าวเท่านั้นเอง
ผลประกอบการ ( ดูผลประกอบการ 5 ปี) ในอดีตที่ผ่านมาของADVANC สะท้อนให้เห็นว่า แม้บางปีจะมีรายได้หรือกำไรลดลง แต่บริษัทนี้ก็ยังคงเป็นบริษัทที่มีกำไรต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะนโยบายจ่ายปันผล 100% หรือมากกว่า ก็ยังคงเป็นจุดเด่นที่ไม่อาจมองข้าม
ยามนี้ การที่ราคาหุ้นร่วงแรง อาจจะถือเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤตเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ค่อยจะมีโอกาสงามในการซื้อหุ้นดีราคาถูกแบบนี้ง่ายนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น