วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ปีหน้าฟ้าใหม่สดใส ส่งออกและลงทุนภาครัฐถ้าเกิดได้
2 นักเศรษฐศาสตร์มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 57 ผงกหัว เหตุ "ส่งออก-ลงทุนภาครัฐ" หนุน เตือนปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง 80% ของจีดีพี
2 นักเศรษฐศาสตร์มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 57 ผงกหัว เหตุ "ส่งออก-ลงทุนภาครัฐ" หนุน เตือนปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง 80% ของจีดีพี กดดันการบริโภค ซีไอเอ็มบี (ไทย) ชี้ประชาชนชาชินปัญหาการเมือง หากไม่รุนแรงไม่กระทบกำลังซื้อในประเทศแน่
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ว่าจะขยายตัวเพียง 3% จากเดิม 3.8-4.3% รายการ Ringside สังเวียนหุ้น "กรุงเทพธุรกิจทีวี" มองข้ามช็อตไปที่แนวโน้มปี 2557 ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนผ่านมุมมองของ 2 นักเศรษฐศาสตร์คนดัง
นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลง และมีอัตราการเติบโตที่ 2.8% โดยไตรมาส 3/56 จะหดตัวลงอีกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/56 ซึ่งจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ ก่อนจะปรับขึ้นมาเติบโตได้ในไตรมาส 4/56 แต่แม้จะเติบโตขึ้นจากไตรมาส 3/56 แต่ก็จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะยังคงอยู่ในภาวะการเติบโตอย่างช้าๆ จากการบริโภคที่ยังคงอ่อนแอ และคาดว่าจะปรับตัวขึ้นไปที่ 3.4%
ทั้งนี้ การที่ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2557 โตเพียง 3.4% นั้น เนื่องจากธนาคาร มองว่า การลงทุนของภาครัฐจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งปีได้ และประเมินว่าการใช้จ่ายเงินในการลงทุนต่างๆ จะไม่ได้มาในช่วงปีแรกทั้งหมด แต่จะเข้ามาในช่วง 3-4 ปีจากนี้ จึงจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเต็มที่
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 80% บริโภคชะลอตัว
นายอมรเทพ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญ คือ การขยายตัวของไทยจะเติบโตช้าลงกว่าปีก่อน เป็นผลสืบเนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัวลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในปีก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมาได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้น โดยครัวเรือนจะเหลือเงินเพื่อการบริโภคลดลงหลังจากหักค่าเงินผ่อน, ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ
เมื่อการบริโภคลดลงธุรกิจก็จะปรับลดการลงทุน โดยคาดการณ์ว่าภาวะการชะลอตัวของการบริโภคจะยังคงอยู่อีกราว 2 ปีเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะฟื้นมาเติบโตได้เหมือนในช่วงก่อนหน้า
"ปัจจัยลบของเศรษฐกิจในขณะนี้ เราให้น้ำหนักในเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จากเดิมที่อยู่ระดับประมาณ 60% ของจีดีพี ตอนนี้ปรับขึ้นมาอยู่เกือบ 80% ของจีดีพีแล้ว ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเร็วมาก โดยหนี้ครัวเรือนของเราส่วนใหญ่จะเติบโตจากการผ่อนรถ สินเชื่อส่วนบุคคลและเครดิตการ์ด ขณะที่หนี้ครัวเรือนของต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากหนี้บ้าน ส่วนหนี้สินเชื่อบุคคลหรือบัตรเครดิตน้อยมาก ต่างประเทศเมื่อสภาพคล่องแย่จริงๆ ยังสามารถขายบ้านมาโปะได้ แต่ของไทยไม่ได้เลย กลายเป็นหนี้ที่พอกพูนขึ้นไป" นายอมรเทพ ระบุ
ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้น
ส่วนการส่งออกในปี 2557 นั้น เขาคาดการณ์ว่า น่าจะเติบโตได้มากกว่าในปีนี้ เนื่องจากฐานการส่งออกปีนี้ถือว่าต่ำมาก หรือจะเรียกว่าไม่โตเลยก็ได้ โดยคาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะอยู่ในระดับการเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากขณะนี้สหรัฐถือเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดแรงงาน เพราะค่าแรงที่ต่ำลง ราคาน้ำมันที่ถูกกว่าไทย ทำให้อัตราการแข่งขันของสหรัฐดีกว่าประเทศเรา
ทั้งนี้ หากไทยจะเดินหน้าแข่งขันเพื่อให้สามารถแข่งกับสหรัฐได้ ไทยต้องมีการปรับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ควบคู่กับการทำงาน
ขณะที่ภาคธุรกิจของไทยในปีหน้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางขนส่ง, ท่องเที่ยว และโรงแรมจะเติบโตได้ดีมาก ส่วนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและรถยนต์จะเติบโตได้ช้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการกระตุ้นจากภาครัฐจนเกินความต้องการไปบางส่วนแล้ว
ห่วงการเมืองเดือด ต่างชาติทิ้งหุ้น
สำหรับปัจจัยการเมืองนั้น นายอมรเทพ มองว่า จากการสำรวจตั้งแต่ช่วงหลังการปฏิวัติรัฐประหาร พบว่า สถานการณ์การเมืองจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ชินกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น หากเป็นเพียงการชุมนุมที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงใดๆ ก็จะไม่กระทบกับการบริโภคภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองมากที่สุด คือ ตลาดหุ้น ซึ่งจะมีการเทขายของนักลงทุน โดยเฉพาะต่างชาติที่ไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง
2 ล้านล้านหนุนจีดีพีปี 57 โต 4.7%
ด้าน นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตประมาณ 3.4% จากก่อนหน้านี้ที่เรามองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโตดีขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่เมื่อผ่านไตรมาส 1/2556 การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง ทำให้ทั้งปีเรามองว่าน่าจะโตได้ในระดับนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขของสถาบันอื่นๆ
ส่วนในปีหน้าเราประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเติบโตประมาณ 4.7% ซึ่งจะเติบโตจากการลงทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน และการส่งออก โดยธนาคารมองว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัติการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านสภา และสามารถเดินหน้าได้ จะมีหลายโครงการที่เริ่มลงทุนได้ทันที
อย่างเช่น รถไฟฟ้าในเมือง ซึ่งผ่านการกระบวนการทุกขั้นตอนแล้ว รวมถึงการลงทุนขยายทางหลวงด้วย และเชื่อว่าภาครัฐจะมีการเร่งการลงทุน การเบิกจ่ายงบประมาณ และลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีมากยิ่งขึ้น เช่น อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น
"การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปีหน้าจะรวดเร็วมากกว่าปีนี้ และบางโครงการก็สามารถเดินหน้าได้เลย อย่างโครงการรถไฟฟ้าในเมือง และโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นตามการลงทุนของภาครัฐ แต่สิ่งที่เราต้องจับตา คือ ราคาสินค้าเกษตร หากปลายปีเศรษฐกิจโลกฟื้น ราคาสินค้าเกษตรก็จะปรับขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้นด้วย" นายเบญจรงค์ ระบุ
สหรัฐ-ยุโรปฟื้น ส่งออกโต 5.5%
สำหรับการส่งออกในปีหน้า ธนาคารประเมินอัตราการเติบโตไว้ที่ประมาณ 5.5% โดยเชื่อว่าสัญญาณการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปและสหรัฐจะเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปยุโรป ขณะที่การค้าชายแดนจะเติบโตมากขึ้นด้วยจากการขยายธุรกิจของประเทศในแถบเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)
ส่วนภาคธุรกิจที่จะเติบโตมากในปีหน้า คือ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวตามจังหวัดหัวเมืองที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จ.อุดรธานี และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะที่ธุรกิจที่เชื่อว่าจะเติบโตมากในปีหน้าคือกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะทีวี ซึ่งรัฐบาลน่าจะเริ่มสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนทีวีเพื่อรองรับทีวีดิจิทัลมากขึ้น ทำให้การเติบโตในส่วนนี้น่าจะสูงมาก
ป้ายกำกับ:
เศรษฐกิจของไทย
ตำแหน่ง:
Pak Kret, Pak Kret
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น