ชื่อ:  ดาวน์โหลด.jpg
ครั้ง: 339
ขนาด:  9.5 กิโลไบต์

สัปดาห์นี้เรื่องการแก้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและการตัดสินของศาลโลก ซึ่งเป็นเหตุให้ความขัดแย้งทางการเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคงจะเป็นเรื่องที่เป็นข่าวมากที่สุด แต่ในส่วนของเศรษฐกิจนั้นตัวเลขต่างๆ ก็ค่อนข้างจะผิดหวังอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขการส่งออกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งผมเป็นห่วงว่าคงจะต้องปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงกันอย่างถ้วนหน้าทั้งในปีนี้และปีหน้า และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากกว่าลดลงคงจะเพิ่มความเสี่ยงในเชิงขาลงให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไปอีก

เมื่อ 10 วันที่แล้วได้มีการประกาศตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในเดือนกันยายนของไทยซึ่งต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่น่าผิดหวังอย่างมากคือ

1. การส่งออกเดือนกันยายนมีมูลค่าเพียง 19,300 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.09% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าและต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ประมาณ 21,000 ล้านดอลลาร์อย่างมาก เนื่องจากการส่งออกมีมูลค่าเกือบ 2/3 ของจีดีพี แปลว่าเมื่อการส่งออกไม่ฟื้นเศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นเช่นกัน ทั้งๆ ที่เดือนกันยายนซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 และเป็นเดือนที่ไทยควรจะเริ่มส่งออกสินค้าไปขายในช่วงเทศกาลสิ้นปีและปีใหม่ในประเทศตลาดหลัก แต่ก็ไม่เห็นแววของการฟื้นตัวแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามบอกว่าเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 และกำลังฟื้นตัวในไตรมาส 3 แต่ก็ยังไม่เห็นการส่งออกขยับไปในทิศทางบวกเลย กล่าวคือตัวเลขเดือนกันยายนทำให้ค่อนข้างจะมั่นใจว่าในปี 2013 นี้มูลค่าการส่งออกของไทยจะไม่สูงกว่าในปี 2012 เลย และเป็นการสะท้อนว่าการส่งออกของไทยเกือบจะไม่ฟื้นตัวหลังจากประสบปัญหาน้ำท่วมในปลายปี 2011 กล่าวคือ รัฐบาลเคยคาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัว 15% ในปี 2012 และ 8% ในปี 2013 แต่ปรากฏว่าการส่งออกขยายตัวเพียง 3% ในปี 2012 และอาจไม่ขยายตัวเลยในปี 2013 (ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ)
2. การนำเข้าก็ลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีก่อนหน้า ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 457 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นข้อดีที่ช่วยทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพไม่อ่อนตัวลงเพราะดุลบริการก็น่าจะเกินดุลด้วยเพราะรายได้จากการท่องเที่ยวดีมาโดยตลอด แต่การคำนวณดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นมีข้อพิจารณาในเชิงเทคนิคที่สลับซับซ้อนกล่าวคือบริษัทต่างชาติที่ทำกำไรได้มากในประเทศไทยนั้นในทางบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยจะบันทึกกำไรดังกล่าวเป็นการคืนกำไรกลับไปยังประเทศแม่ทำให้ดุลบริการขาดดุลได้มากและเมื่อพบว่ากำไรดังกล่าวมิได้ถูกนำออกจากประเทศไทยก็จะบันทึกเป็นการไหลเข้าของเงินทุน (การลงทุนต่างประเทศ) กล่าวคือจะบันทึกว่ามีกำไรไหลออกจากดุลบริการ (service account deficit) และมีการบันทึกเงินทุนไหลเข้า (capital account surplus) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายของเงินแต่อย่างใด

3. ได้มีการกล่าวถึงการที่ประเทศไทยนำเข้าและส่งออกทองคำเป็นมูลค่าสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งไทยเป็นประเทศที่นำเข้าทองคำสูงเป็นที่ 3 ของโลกรองจากจีนและอินเดีย ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่จะไม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว (เพราะไทยมีประชากร 67 ล้านคนไม่ใช่ 1 พันล้านคนเช่นเดียวกับจีนและอินเดีย) แต่การนำเข้าและส่งออกทองคำดังกล่าวอาจบิดเบือนตัวเลขการค้าของไทยได้ ในกรณีของการส่งออกนั้นหากแยกการส่งออกทองคำออกมาก็จะพบว่าการส่งออกลดลงเพียง 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีก่อนและลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม แปลว่าการส่งออกก็ยังไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกให้เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
นอกจากนั้นในสัปดาห์เดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2013 และ 2014 ลดลงซึ่งพอจะสรุปนัยสำคัญได้ ดังนี้

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยลดการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีลงจาก 4.2% ในปี 2013 เป็น 3.7% และจาก 5.0% ในปี 2014 เป็น 4.8% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับตัวเลขของบริษัทหลักทรัพย์ภัทรฯ ในปัจจุบันมาก แต่ทางเราคงจะต้องปรับการคาดการณ์ของเราลงไปอีกทั้งในปีนี้และปีหน้าเพราะยังมองไม่ค่อยเห็นปัจจัยที่จะมาขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้จนถึงระดับดังกล่าวได้

2. ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อลงทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจาก 2.6% เป็น 2.4% และในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน (ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน) นั้นจะเหลือเพียง 1.2% จาก 1.4% ซึ่งหากพิจารณาจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตั้งเป้าเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องบอกว่านโยบายการเงินนั้นกำลังตึงตัวโดยปริยาย กล่าวคือตามเงื่อนไขอย่างเป็นทางการนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะอิงนโยบายการเงินเอาไว้กับเงินเฟ้อพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริงนั้นเงินเฟ้อไหลลงมาโดยตลอดในปีนี้ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับ 1.6% ในเดือนมกราคมและลดลงเหลือ 0.6% ในเดือนกันยายน ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอยู่ที่ 2.75% ตอนต้นปีก็แปลว่าในเดือนมกราคมดอกเบี้ยจริงเท่ากับ 1.15% (2.75%-1.6%) แต่ในเดือนกันยายนดอกเบี้ยจริงเพิ่มขึ้นเป็น 1.9% (2.5%-0.6%) แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนพฤษภาคม หากคำนวณโดยดูจากเงินเฟ้อทั่วไปก็จะได้คำตอบเช่นเดียวกันเพราะเงินเฟ้อลดจาก 3.4%ในเดือนมกราคมมาเหลือเพียง 1.4% ในเดือนกันยายน
3. แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่าจะไม่ลดดอกเบี้ยเพราะมองว่าดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วโดยคาดว่าเงินเฟ้อจะขยับขึ้นในปีหน้าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและเมื่อรัฐบาลเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (2 ล้านล้านบาท) นอกจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังมองว่าปัญหาของไทยไม่ใช่ปัญหาการขาดอุปสงค์ (กำลังซื้อไม่พอ) แต่เป็นปัญหาอุปทาน (ผลิตสินค้าไม่ได้เพราะมีปัญหาโครงสร้างเช่นแรงงานขาดแคลน) แต่ตรงนี้ผมต้องขอแย้งว่าลักษณะของปัญหาอุปทานนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการลดลงของเงินเฟ้อและการอ่อนตัวของค่าเงินบาท กล่าวคือผมเห็นว่าอุปสงค์เป็นปัญหาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปสงค์ภายในประเทศหรือการส่งออก

4. ที่สำคัญสำหรับการประเมินทิศทางของนโยบายการเงินคือการดูว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีข้อกังวลอะไรบ้างซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่ามีข้อกังวลหลักอยู่ 3 เรื่องคือ
4.1 การลดทอนคิวอีของสหรัฐ (ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในที่สุด) เสี่ยงต่อการส่งผลให้เงินทุนไหลเข้า-ออกได้อย่างฉับพลัน จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยระยะยาวผันผวนได้อย่างมาก
4.2 หนี้ครัวเรือนซึ่งยังสูงอยู่และยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าการขยายตัวจะชะลอลงบ้าง
4.3 ประเทศไทยจะเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือธนาคารแห่งประเทศไทยว่าไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 6,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 และ 7,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014

จะเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้เป็นห่วงว่าเศรษฐกิจขยายตัวช้าหรือไม่ฟื้นตัว บอกเพียงแต่ว่าการฟื้นตัวเกิดขึ้นช้ากว่าคาด ที่สำคัญคือข้อกังวลทั้ง 3 ข้อของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นข้อกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพซึ่งจะต้องพึ่งพาดอกเบี้ยระดับสูงเป็นมาตรการหลัก เช่น การต้องการลดหนี้ครัวเรือนหรือการกำหนดดอกเบี้ยให้สูงเพื่อมิให้ใช้จ่ายเกินตัวเพิ่มขึ้นอันจะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หรือแม้กระทั่งการลดทอนคิวอีที่จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นก็ป้องกันไม่ให้เงินทุนไหลออกอย่างฉับพลันได้โดยการดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมและกำหนดดอกเบี้ยไม่ให้ต่ำเกินไป
จึงสรุปได้ว่าประเทศไทยคงจะไม่สามารถหวังให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้นครับ


ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 4/11/56