ม็อบต้านพ.ร.บ.ชี้ชะตา
3แนวทางหุ้นพุ่ง-ร่วง
จบสวยไม่ยืดเยื้อดัชนีไป 1,500 จุด-รุนแรงแนวรับ 1,400 เอาอยู่
ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 04 พฤศจิกายน 2556 ผู้เข้าชม : 9 คน
เปิด 3 เคสชุมนุมทางการเมือง ชี้ชะตาหุ้นไทย กรณีแรกไม่ยืดเยื้อ-จบสวย ดัชนีรีบาวด์วิ่งไปชน 1,500-1,520 จุด ส่วนเคสสอง “ยืดเยื้อแต่ไม่รุนแรง”หุ้นลงแต่ไม่มาก แต่หากเป็นเคสสาม ชุมนุมยืดเยื้อและรุนแรง คาดการณ์ดัชนีร่วง 70 จุด แต่รอบนี้ประเมินแนวรับ 1,400-1,380 จุดเอาอยู่ จับตาหุ้นประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 สวย ด้านสวนดุสิตโพลเผยคนไทยหนักใจม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้น และถือเป็นปัจจัยหลักที่คอยกดดันตลาดหุ้นไทยตลอดมา โดยเฉพาะเมื่อมีการชุมนุม ยุบสภา หรือเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ
ทั้งนี้ หากพิจารณาความรุนแรงของการเมืองที่มีผลต่อดัชนีแยกเป็น 3 กรณี คือ หากการชุมนุมไม่ยืดเยื้อและยุติลงด้วยดี เชื่อว่าจะทำให้ดัชนีสามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้ ส่วนกรณีที่การชุมนุมยืดเยื้อแต่ไม่มีสถานการณ์รุนแรง จากสถิติที่ผ่านมาประเมินว่าดัชนีจะปรับลดลงประมาณ 43-44 จุด และอีกกรณี คือ ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อและรุนแรง ประมาณการว่าดัชนีจะปรับลดลงประมาณ 70 จุด
สำหรับทิศทางดัชนีน่าจะอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง ซึ่งต้องจับตาดูสถานการณ์การเมืองเป็นสำคัญ หากเป็นการชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรงก็เชื่อว่าดัชนีจะแกว่งตัวแดนลบในกรอบแคบ โดยประเมินแนวรับสำคัญที่ 1,400 จุด แต่หากสถานการณ์แย่กว่าที่คาด ประเมินว่าดัชนีจะปรับลดลงโดยมีแนวรับสำคัญที่ 1,380 จุด ซึ่งถือเป็นจังหวะที่เหมาะต่อการลงทุน โดยเน้นกลุ่มที่ถือในระยะกลาง-ระยะยาว อาทิ รับเหมาก่อสร้าง พลังงาน ปิโตรเคมี เป็นต้น โดยบริษัทยังคงระดับดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,465 จุดเช่นเดิม
-ย้อนอดีตการเมืองกับหุ้นไทย
หากย้อนหลังกลับไปจากสถิติตั้งแต่ปี 2531 พบว่าการเมืองมีผลกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรงสุดประมาณ 4-5% โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 2.8% ขณะที่ปี 2549 การชุมนุมทางการเมืองที่ร้อนแรงจนมีการยุบสภาส่งผลให้ดัชนีในขณะนี้ปรับลดลงแรงสุดประมาณ 5%
ขณะที่สถิติตัวเลขที่ผ่านมา (ปี 2531-2549) มีการยุบสภาอย่างน้อย 4 ครั้ง คือ ในเดือนเม.ย. 2531, เดือนพ.ค. 2538, เดือนก.ย.2539 และ เดือนก.พ. 2549 ปรากฏว่าหลังการยุบสภา 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ดัชนีจะปรับตัวลง -3.9%, -8.8% และ -9.3% ตามลำดับ ขณะที่การปฏิวัติรัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ปรากฏว่าการตอบสนองของดัชนีหลังจากนั้น คือ 1, 3 และ 6 เดือนต่อมา จะปรับตัวลงประมาณ -1.5%, -1.8% และ -5.3% ตามลำดับ
ส่วนกรณีการชุมนุมจนเกิดความวุ่นวาย ปรากฏว่าหลังจากนั้น 1, 3 และ 6 เดือน ดัชนีปรับตัวขึ้น โดยเกิดวิกฤติการเมืองในประเทศไทยทั้งหมด 14 ครั้ง เฉลี่ยแล้วจะส่งผลต่อดัชนีในช่วง 1, 3 และ 6 เดือนต่อมา คือ -0.8%, +2% และ -1.1% ตามลำดับ
"จากสถิติที่ผ่านมาผลกระทบที่จะทำให้ดัชนีปรับลดลงแรงมากที่สุดไม่รวมผลกระทบต่างประเทศ คือ การยุบสภา ซึ่งจะทำให้ดัชนีปรับลดลงแรงประมาณ 4-5% แต่ถ้าเป็นการชุมนุมก็จะอยู่ระดับค่าเฉลี่ยประมาณ 2.8%"
-ชุมนุมไม่รุนแรง 1,400 จุดเอาอยู่
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เชื่อว่า การชุมนุมครั้งนี้จะไม่รุนแรง หรือหากยืดเยื้อเชื่อว่าจะไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากประเมินว่าแม้ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ก็ยังต้องผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมวุฒิสภาอีก และหากผ่านที่ประชุมวุฒิสภา ก็เชื่อว่าจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งในจุดนั้นเชื่อว่าจะไม่มีการชุมนุมแล้ว
สำหรับสัปดาห์นี้มีโอกาสที่ดัชนีจะปรับลดลงได้ โดยประเมินแนวรับสำคัญที่ 1,400 จุด กลยุทธ์การลงทุน แนะนำชะลอการลงทุน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ยังประเมินยาก โดยต้องจับตาการชุมนุมเป็นสำคัญ หากสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่าดัชนีมีโอกาสขึ้นไปทดสอบที่ 1,500-1,520 จุด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังจับตาในขณะนี้ คือ มาตรการคิวอี (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะชะลอมาตรการคิวอีเร็วกว่ากำหนด จากคาดการณ์เดิมที่ระบุว่า การจะชะลอคิวอีช่วงเดือนมี.ค.ปีหน้า ก็อาจปรับขึ้นมาอยู่ในช่วงเดือนม.ค.แทน
นายชัย จินเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีความรุนแรง ตลาดจะกลับไปให้น้ำหนักกับประเด็นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยกรอบการเคลื่อนไหวจะอยู่ในกรอบจำกัด แนวต้าน 1,440-1,445 จุด และแนวรับ 1,408-1,400 จุด
นอกจากนี้ ยังเตือนว่าในปลายสัปดาห์หน้าอาจจะมีแรงเทขายออก ซึ่งมาจากความกังวลต่อคำตัดสินคดีเขาพระวิหารในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
-ดุสิตโพลเผยคนไทยหนักใจม็อบ
สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความหนักใจเกี่ยวกับการเมืองไทย ณ วันนี้ พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 54.25 คือการชุมนุมประท้วงกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกลายเป็นประเด็นยืดเยื้อที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก่อให้เกิดสถานการณ์บานปลาย และคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งวิธีการแก้ไข คือควรชุมนุมประท้วงอย่างสันติ อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากัน อันดับ 2 ร้อยละ 31.97 คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด ซึ่งสาเหตุมาจากการเมืองไทยยังมีระบบอุปถัมภ์เข้ามาเกี่ยวข้อง นักการเมืองขาดคุณธรรม จริยธรรม มุ่งแต่กอบโกยผลประโยชน์
ส่วนอันดับ 3 ร้อยละ 13.78 คือ ความขัดแย้ง แตกแยก ขาดความสามัคคีของนักการเมือง มุ่งเอาชนะกัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประเทศชาติไม่พัฒนา ล้าหลัง นักการเมืองต้องการแต่อำนาจ เอาชนะ วิธีการแก้ คือ นักการเมืองควรมีจิตสำนึก มีคุณธรรม จริยธรรม
-นักธุรกิจสีลมนัดชุมนุมต้านนิรโทษฯ
นายมานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า เที่ยงของวันนี้ (4 พ.ย.) กลุ่มเครือข่ายนักธุรกิจจะจัดชุมนุมเพื่อระดมคนทำงานในย่านสีลม จะแสดงพลังชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ด้านชมรมนักธุรกิจประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้ โดยระบุว่าเป็นการใช้อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ แทรกแซงล้มล้างอำนาจตุลาการ ละเมิดต่อหลักนิติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญไทย จึงขอเชิญชวนร่วมกันแสดงพลัง "สีลม สีเขียว ต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษ คนโกงชาติ" บนทางเท้าถนนสีลมในวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2556 นี้ และจะจัดนิทรรศการ "ต้านคนโกงชาติ" ทุกวันจันทร์ ที่ถนนสีลม จนกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะถูกยกเลิกไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น