ชื่อ:  001.PNG
ครั้ง: 10477
ขนาด:  689.6 กิโลไบต์


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


คอลัมน์ พินิจ พิเคราะห์ โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ


พัฒนาการของตลาดทุนไทย เริ่มต้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 โดยได้มีการจัดตั้งตลาดหุ้นกรุงเทพ (Bangkok Stock Exchange) ในสมัยนั้นมีมูลค่าซื้อขายที่น้อยมาก เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจ จนปี พ.ศ. 2511 มีมูลค่าการซื้อขายทั้งปีเป็นจำนวน 160 ล้านบาท แล้วค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดตลาดหุ้นกรุงเทพก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2515 โดยมีมูลค่าซื้อขายในปีนั้นเพียง 26 ล้านบาทเท่านั้น เทียบกับมูลค่าซื้อขายในปัจจุบันซึ่งตกวันละประมาณ 40,000-60,000 ล้านบาทต่อวัน เหมือนดูหนังคนละม้วนเลยทีเดียว

เรามาดูสถิติย้อนหลังที่น่าสนใจว่า ดัชนี (SET Index) มีการขึ้นลงอย่างไรกันครับ

1.SET Index ที่เริ่มต้นจากฐานที่ 100 จุด เมื่อวันแรกเปิดตลาด ได้ไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด ในเดือนมกราคม 2537 นับว่าเป็นการขึ้นที่ดีมาก คือขึ้นไปถึง 1,689.16 จุดภายในเวลา 18 ปี 9 เดือนเท่านั้น คิดเป็นผลตอบแทนในการลงทุนแบบทบต้นประมาณ 16.50% นั่นหมายความว่า ถ้าท่านลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถสร้างผลกำไรตอบแทนจากการลงทุนได้เทียบเท่าการขึ้นมาของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็จะได้รับผลตอบแทนดังกล่าว บวกกับอัตราเงินปันผลที่ได้รับจากการถือครองหุ้นอีก ซึ่งปกติ Dividend Yield เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4%

ดังนั้นผลตอบแทนรวมที่ท่านได้รับจะเท่ากับ 20% (แบบทบต้น) โดยประมาณ ยิ่งถ้าท่านสามารถบริหารพอร์ตการลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนี ที่ผมใช้เป็น Benchmark ผลตอบแทนยิ่งจะสูงขึ้นไปอีก

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ดึงดูดผู้มีเงินออมให้นำเงินออมมาลงทุนในตลาดหุ้นทั้งทางตรง (ลงทุนซื้อหุ้นเอง) และทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุน)

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ Black Monday (ตุลาทมิฬ) ที่สร้างความเสียหายให้แก่นักลงทุนทั่วโลกรวมทั้งไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาที่มีการเทขายอย่างหนักหน่วง ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาตกระเนระนาด พลอยทำให้ตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกต้องถูกแรงขายเทกระหน่ำ ราวกับว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะเจ๊ง โดยเฉพาะ SET Index ของเราลงจาก 472.86 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 243.97 จุด คิดเป็น 48.41% ภายในเวลาเพียง 2 เดือน และหลังจากที่ SET Index ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 1,789.16 จุด เมื่อเดือนมกราคม 2537 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ก็เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง หลังจากที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นมาตลอดช่วงเวลา 18 ปี 9 เดือน โดยลงไปถึง 204.59 จุด ในเดือนกันยายน 2541 คือลงไปถึง 1,584.57 จุด หรือ 88.60% ภายในเวลาเพียง 4 ปี 8 เดือน

ลองคิดเล่น ๆ ดูสิครับ ว่าถ้าท่านอยู่ในตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้น ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไร เงินลงทุนของท่าน สมมุติว่า 1 ล้านบาท จะเหลือเพียง 114,000 บาท มีนักลงทุนที่ฆ่าตัวตายทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวหลายคนเลยทีเดียว สุภาษิตบทหนึ่งที่เขียนไว้เตือนใจนักลงทุนก็คือ "อย่าเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว" เพราะว่ามันจะแตกง่าย ถ้าช่วงนั้นท่านนำทรัพย์สินทั้งหมดมาลงทุนในตลาดหุ้น

ลองเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจในการลงทุนครั้งต่อ ๆ ไปของท่าน เพื่อให้การลงทุนของท่านมีความระมัดระวัง และรอบคอบมากขึ้น และลงทุนไม่เกินตัว

สำหรับนักลงทุนมาร์จิ้น ถ้าเจอสภาพแบบนี้เงินลงทุนของท่านจาก 1 ล้านบาท ซื้อหุ้นไป 2 ล้านบาท (ใช้วงเงินมาร์จิ้นจากโบรกเกอร์อีก 1 ล้านบาท) หุ้นตก 48.41% เท่ากับขาดทุนไป 968,200 บาท เมื่อบวกกับดอกเบี้ยเงินกู้มาร์จิ้น ท่านแทบจะไม่เหลือเงินเลย นั่นหมายถึงการสูญเงินลงทุนทั้งจำนวน นั่นหมายถึงเงินออมที่อดออมมาจากน้ำพักน้ำแรงที่ท่านอุตสาหะ ต้องแทบจะหมดสิ้นเนื้อประดาตัวทีเดียว

สาเหตุที่ SET Index ลงวินาศสันตะโร ขนาดนั้น เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นจากประเทศไทยแล้วแพร่ระบาดไปหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แม้กระทั่งเกาหลีเองก็โดนผลกระทบวิกฤตนี้ ค่าเงินบาทที่เคยผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ 27 บาทต่อดอลลาร์ก็อ่อนปวกเปียกจนไปถึงเกือบ 60 บาทต่อดอลลาร์

ผมจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่า ควรจะมีการจัดสรรเงินลงทุนลงในสินทรัพย์หลายประเภท ซึ่งในหนังสือ "ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน" ผมได้เขียนถึงสินทรัพย์ในแต่ละประเภทที่ท่านควรจะลงทุนและสัดส่วนที่เหมาะสมตามช่วงวัย ขนาดของเงินลงทุน อุปนิสัยส่วนตัว ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ฯลฯ ฉบับหน้าผมจะนำสถิติของ SET Index มาเล่าให้ฟังกันต่อครับ