ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ตลาดหุ้นไทยช่วงกว่า 2 เดือนแรกของปีดัชนีแกว่งตัวขึ้นน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ ฟากโบรกฯแนะได้จังหวะซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี และมีโอกาสทำกำไรจากราคาที่ปรับตัวขึ้นเกินกว่า 20%
ชื่อ:  0.jpg
ครั้ง: 13810
ขนาด:  141.1 กิโลไบต์
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (18 มี.ค. 58) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% ซึ่งต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% และน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ดัชนีเพิ่มขึ้นกว่า 11.6% จีน 10.8% ฟิลิปปินส์ 8.1% เกาหลีใต้ 6.4% ไต้หวัน 4.6% อินโดนีเซีย 4.3% อินเดีย 3.9% ฮ่องกง 3.7% มาเลเซีย 2.7%

ทั้งนี้เป็นผลมาจากตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยใหม่สนับสนุน จึงทำให้ดัชนีไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้ไกลนัก อย่างไรก็ตาม จากการที่ตลาดเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับการที่ดัชนีและราคาหุ้นปรับลดลงมาค่อนข้างมาก จึงเป็นจังหวะที่ีเหมาะสมในการสะสมหุ้น เพราะปัจจุบันราคาหุ้นของหลายบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ได้ปรับลดลงจนมี Upside (แนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น) ที่น่าสนใจ

โดยฝ่ายวิจัยได้คัดเลือกหุ้น ด้วยการกำหนดคุณสมบัติบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่น่าสนใจ คือ มีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ปี 2558 สูงกว่า 20% อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นที่คาดหวัง (Expected PER) ต่ำกว่า 12 เท่า ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่า 5% ขึ้นไปในงวดปี 2558 และมีโอกาสทำกำไรจากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (Upside) เมื่อเทียบกับราคาที่เหมาะสมสูงกว่า 20% โดยผลการคัดกรอง ทำให้ได้หุ้นที่น่าสนใจลงทุน 5 บริษัท (ดูตาราง) ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนในช่วงนี้

ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2/2558 ทิศทางตลาดหุ้นน่าจะอยู่ในช่วงพักฐาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้า ส่งผลให้ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นไทยจะถูกกดดันจากการปรับลดคาดการณ์ผลการดำเนินงานลงอีกระลอก

อย่างไรก็ตามแนะนำนักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นรายตัว โดยหาจังหวะเข้าซื้อสะสมในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลงในระดับต่ำ ขณะที่กลุ่มหุ้นที่ฝ่ายวิจัยแนะนำนักลงทุนเลือกลงทุนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1) กลุ่มหุ้นขนาดกลาง ที่มีแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการที่ดี ได้แก่ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP), บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR), บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) และ บมจ.เอสทีพีแอนด์ ไอ (STPI)

2) กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้อานิสงส์จากอำนาจการผูกขาดธุรกิจและได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังได้แก่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS), บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)

3) กลุ่มหุ้นที่อิงรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI), บมจ.บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี (BJCHI) และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มรับเหมาวางระบบไอซีทีที่จะได้รับอานิสงส์จากงานโครงการภาครัฐ ได้แก่ บมจ.แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT), บมจ.อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น (IRCP)