วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

พร็อพเทรดQ4 จ่อขาดทุนยับ วอลุ่มหายวูบ

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: พร็อพเทรดQ4
จ่อขาดทุนยับ
วอลุ่มหายวูบ
ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 28 มกราคม 2557
ผู้เข้าชม : 7 คน
ธุรกิจหลักทรัพย์ส่อแววขาดทุนยับ หลังวอลุ่มลดลงเกินครึ่ง พ่วงงาน IPO หดหาย รับการเมืองตัวฉุดบรรยากาศการลงทุน เชื่อกำไร Q4/56 ลดลงทั้ง QoQ จากไตรมาสก่อนหน้า และ YoY แนะลงทุน MBKET อัตราผลตอบแทนยังสูง



นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ไตรมาส 4/56 จะออกมาลดลงทั้ง QoQ จากไตรมาสก่อนหน้า และ YoY จากปีก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักเกิดจากวอลุ่มตลาดที่ลดลงหายไปเกิน 50% ประกอบกับงาน IPO ลดลงทำให้กำไรของธุรกิจหลักทรัพย์ลดลงตามไปด้วย

“แนวโน้มไม่ดี ดูจากวอลุ่มตลาดที่ลดลง ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบปี โดยกำไรธุรกิจหลักทรัพย์จะหายไปตามวอลุ่มตลาด โดยหุ้นก็ลงไปมากทำให้เงินกำไรจากการลงทุนมีโอกาสสูงที่จะขาดทุน ซึ่งไตรมาส 4/56 เชื่อว่าผลประกอบการจะออกมาไม่ดี ลดลงทั้ง QoQ และ YoY บางบริษัทอาจขาดทุนไปเลยก็ได้” นายธนเดช กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากจะซื้อหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์แนะนำหลีกเลี่ยงไปก่อน แต่ถ้าจะถือก็คงจะมีเรื่องดีเรื่องเดียว คือ ปันผล โดยแต่ละบริษัทจะมีวิธีการบริหารพอร์ตการลงทุนอย่างไรในสภาวะการเมืองที่ผันผวน และ แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/57 จะสู้ไตรมาส 1/56 ไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ถ้าจะให้แนะนำยังให้แค่ “ถือ” เพื่อรับเงินปันผล แม้ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มปรับลดลงเป็นระดับต่ำสุดของปีในไตรมาส 4/56 แต่เพราะหุ้น ASP (บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)) จ่ายอัตราผลตอบแทนสูง โดยคาด ASP จะจ่ายเงินปันผล 0.20 บาท/หุ้น สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 56 ซึ่งขึ้นเครื่องหมาย XD กลางเดือนมี.ค. 57 และรับเงินปันผลราวกลางเดือนพ.ค. 57 และ คาดจ่ายเงินปันผล 0.31 บาท/หุ้นสำหรับปี 57

“กำไร Q4/56 ลด ถือว่าต่ำสุดในรอบปี บริษัทขนาดเล็กมีโอกาสขาดทุนสูง ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ก็อาจจะมีกำไรอยู่ แต่เชื่อว่าลดลง” นายธนเดช กล่าว

นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แรงกดดันจากปัญหาการเมืองที่ต่อเนื่องมากว่า 2 เดือน และมีแนวโน้มยืดเยื้อ รวมถึงการปรับลดวงเงิน QE กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯมีผลตั้งแต่เดือนม.ค. 57 จะกดดันเงินลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่องส่งผลทำให้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในงวดไตรมาส 4/56 เหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาท จาก 3.7 หมื่นล้านบาทในงวดไตรมาส 3/56 จึงคาดว่ารายได้ค่านายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์ และ สัญญาอนุพันธ์ล่วงหน้ามีแนวโน้มลงลด

ประกอบกับรายได้ธุรกิจวาณิชธนกิจที่ลดลง เพราะบริษัทจดทะเบียนที่เข้าเทรดใหม่ในตลาดฯ (IPO) ในงวด มีมูลค่าตลาดลดลงจากงวดไตรมาส 3/56 ราว 58% เหลือเพียง 10,000 พันล้านบาทเช่นเดียวกับกำไรจากพอร์ตลงทุนที่คาดจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะดัชนีตลาดปรับตัวลงต่อเนื่องไม่สามารถใช้จังหวะขายทำกำไรได้เหมือนงวดไตรมาส 3/56 ที่ดัชนีตลาดผันผวนหนัก

ทั้งนี้ กำไรงวดไตรมาส 3/56 และ 9 เดือน ปี 56 คิดเป็น 22% และ 89% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 56 ของกลุ่มตามลำดับ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยคงประมาณการเดิม โดยคาดกำไรสุทธิของกลุ่มหลักทรัพย์ทั้งปี 56 จะเติบโตถึง 79% จากปีก่อน

สำหรับปัญหาการเมืองมีแนวโน้มเรื้อรัง ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง สวนทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนได้จากการเริ่มชะลอวงเงินอัดฉีดเงิน QE กระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนม.ค. 57 ส่งผลให้คาดหวังการไหลกลับเข้ามาอีกครั้งของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ค่อนข้างน้อยลงมาก

อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยได้กำหนดสมมติฐานมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปี 57 แบบอนุรักษนิยมลดลงจาก 4.5 หมื่นล้านบาทต่อวันเหลือเพียง 3.5 หมื่นล้านบาทในประมาณการกำไรปี 57 ในขณะที่รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจยังมีแนวโน้มทรงตัวจากปี 56 เพราะมีบริษัทที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดในปี 57 มากกว่า 30 บริษัท โดยหลายบริษัทมีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 พันล้านบาท อาทิ ICHI (บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด มหาชน) และ KTIS (บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน))

ส่วนการทำกำไรจากพอร์ตการลงทุนยากขึ้น โดยนอกจากภาวะตลาดที่ทำกำไรยากแล้วยังมีปัจจัยกดดันจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้ออกกฎเกณฑ์ลดเพดานวงเงินการซื้อขายของพอร์ตเก็งกำไรซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์จาก 75% ของส่วนผู้ถือหุ้นเหลือ 50% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 56 ซึ่งมีเพียงบริษัทเดียวที่มีการซื้อขายสูงเกินเพดานใหม่ คือ KGI (บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) โดยพึ่งพากำไรพอร์ตลงทุนมากถึง 20-30% ของรายได้รวม ส่งผลให้ประมาณกำไรสุทธิในปี 57 ลดลงจากปีก่อนหน้า 21% โดยอยู่ที่ 3,924 ล้านบาท

นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มธุรกิจที่ชะลอตัวลงดังกล่าวข้างต้นทำให้ฝ่ายวิจัยคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม “น้อยกว่าตลาด” โดยแนะนำให้ “ซื้อรับปันผล” ซึ่งแนะหุ้นที่มี Div. yield สูง โดยฝ่ายวิจัยปรับมาใช้มูลค่าเหมาะสมใหม่ของปี 57 โดยอิง PER 10 เท่ายกเว้นเพียง MBKET (บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) ที่อิง 12 เท่า เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากสุด

โดยเลือก MBKET (FV@B25.2) เป็น Top pick กลุ่ม เพราะมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 และ ไม่มีพอร์ตการลงทุนจึงได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดน้อยกว่า บวกกับราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 23.5% และยังมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงถึง 10.3% และ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” UOBKH (บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) (FV@B4.58) เพราะถือเป็นหุ้น Undervalue โดยมี P/BV ปี 57 เพียง 0.66 เท่า และมี Upside 30%, ขณะที่ปรับลดคำแนะนำ CGS (บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) (FV@B1.11), FSS (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)) (FV@B4.58) และ GBX (บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน)) (FV@B0.88) จากเดิม “ถือ” เป็น “ขาย” เพราะราคาเต็มมูลค่าแล้ว

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น