วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

การประท้วงจำกัดการเคลื่อนไหวของธปท.?

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: การประท้วงจำกัดการเคลื่อนไหวของธปท.?

ต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2557
ผู้เข้าชม : 0 คน


การเคลื่อนไหวอย่างน่าประหลาดใจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้แทนที่จะลด อาจชี้ว่าธนาคารกลางมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายเงินแล้วท่ามกลางการประท้วงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวกับซีเอ็นบีซี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการ 4 คน เห็นว่า นโยบายเงินที่เอื้อเฟื้อมากขึ้นไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้

“ความไม่แน่นอนทางการเมืองน่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดความล่าช้าในการใช้จ่ายงบประมาณและกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และถึงแม้ว่าภาคส่งออกดีขึ้นเพราะดีมานด์ทั่วโลกมีความแข็งแกร่ง ก็น่าจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับดีมานด์ภายในประเทศที่ลดลง” โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว

คณะกรรมการนโยบายเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยลงมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% เมื่อวันพุธ เทียบกับที่มีการคาดการณ์เป็นส่วนใหญ่ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อช่วยต่อต้านการเติบโตที่ชะลอตัวลงเนื่องจากการประท้วงยังคงสร้างความวุ่นวายให้กับเศรษฐกิจ

แม้ว่ามติมีเสียงแตก โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการทุกคนมีความเห็นเหมือนกันเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และธนาคารกลางได้ลดการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของปี 2556 จากประมาณ 3% เหลือไม่ถึง 3% และลดประมาณการเติบโตของปี 2557 ลงเหลือประมาณ 3% จาก 4%

เศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลงอยู่แล้วก่อนที่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลจะเริ่มขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม โดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการที่เงินทุนไหลออกหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณเป็นครั้งแรกถึงความเป็นไปได้ที่จะเริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ แม้การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยอาจจะถูกขัดขวาง แต่นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่านี่เป็นเพียงการชะลอเวลาที่จะลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่การปฏิเสธที่จะลดอัตราดอกเบี้ย

“วิกฤติการเมืองยิ่งยืดเยื้อนานเท่าไหร่ ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจจะมากขึ้นเท่านั้น” คริสตัล ตัน นักเศรษฐศาสตร์เอเชียของ แคปิตอล อีโคโนมิคส์ ตั้งข้อสังเกต “การคุมเชิงเป็นเวลานาน อาจขัดขวางโครงการสาธารณูปโภคที่สำคัญของรัฐและสร้างความเสียหายเพิ่มอีกให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเนื่องจากรัฐบาลรักษาการมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีแรงกดดันที่จะต้องเพิ่มดีมานด์”

นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ก็คาดว่าธนาคารกลางไทยจะถูกบีบให้ดำเนินการ

“ในที่สุดแล้วธนาคารกลางจะถูกบังคับให้ใช้กระสุนที่เหลืออยู่แค่เล็กน้อยในเดือนที่จะมาถึง และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสองครั้ง โดยลดครั้งละ 0.25% ก่อนที่จะหมดครึ่งปีแรก และดูเหมือนว่าจะไม่มีการยุติเกมอย่างแท้จริง เนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์อาจจะไม่ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงและฝ่ายค้านพอใจ” บทวิเคราะห์ของเอชเอสบีซีระบุ

รัฐบาลไทยประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเวลา 60 วันเมื่อค่ำวันอังคาร เพื่อตอบโต้ต่อความรุนแรงที่เกี่ยวกับการประท้วงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน การประกาศภาวะฉุกเฉินทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงมีอำนาจหลายๆ อย่าง เช่น บังคับใช้เคอร์ฟิวกักขังผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และห้ามชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่

ในขณะที่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลได้หลีกเลี่ยงที่จะบังคับใช้มาตรการเหล่านี้อย่างเคร่งครัด แต่กำลังมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดว่ามีการใช้อำนาจอย่างไรเนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเป็นสถานการณ์อันรุนแรงที่จะทำให้การประท้วงรุนแรงยิ่งขึ้นได้

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น