วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557

CPF’ทำดีลพิสดาร อุ้มCPALLล้างหนี้ ส่ง CPFH ออกหุ้นกู้ฯแปลงเป็นหุ้นซีพีออลล์

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ‘CPF’ทำดีลพิสดาร
อุ้มCPALLล้างหนี้
ส่ง CPFH ออกหุ้นกู้ฯแปลงเป็นหุ้นซีพีออลล์
ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2557
ผู้เข้าชม : 6 คน




"ซีพีเอฟ" ผุดไอเดียแปลก ส่งบริษัทลูกถือหุ้น 100% อย่าง CPFH ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ 290.4 ล้านเหรียญ แปลงเป็นหุ้นของ CPALL ได้ วงการเงินชี้ CPF ช่วยอุ้ม CPALL แก้หนี้ระยะสั้นจากการเข้าซื้อหุ้น MAKRO ที่มีต้นทุนทางการเงินที่สูง ขณะแต่งตั้ง "ธานินทร์ บูรณมานิต" นั่ง CEO แทน “ก่อศักดิ์” ไม่แจ้งข้อมูลตลาดหลักทรัพย์



แหล่งข่าวจากวงการเงิน กล่าวว่า กรณีที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF แจ้งว่า C.P.Foods Holdings Limited (CPFH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CPF ถือหุ้นทั้งหมด เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ (Exchangeable Bonds) มูลค่ารวม 290.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี โดยเสนอขายแก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ โดย 1 ใน 3 ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ฯ ที่ให้ผู้ถือหุ้นกู้ฯ มีสิทธิเลือก คือ แปลงสภาพหุ้นกู้ฯ เป็นหุ้น CPALL ซึ่งถือโดย CPFH นั้น มองว่าเป็นดีลพิสดาร

เพราะเป็นการทำรายการข้ามบริษัท แม้ทั้ง CPALL และ CPFH จะถือหุ้นใหญ่โดย CPF แต่ทั้ง 2 บริษัทก็เป็นคนละบริษัทกัน การที่ CPFH ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับ CPALL ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ แล้วสามารถนำมาแปลงเป็นหุ้นสามัญของ CPALL ได้จึงถือเป็นเรื่องที่แปลกอยู่สักหน่อย นอกจากนี้ การที่หุ้นกู้อนุพันธ์ของ CPFH จะแปลงเป็นหุ้นสามัญของ CPALL ได้ นั่นหมายความว่า CPFH ต้องเข้ามาซื้อหุ้นของ CPALL เพื่อรองรับการแปลงสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งอาจจะเข้ามาซื้อในกระดาน หรือซื้อผ่านบริษัทในเครือของ CPF หรือ CPALL อาจจะต้องมีการเพิ่มทุนด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนออกมาขายให้กับ CPFH หรือ CPF เพื่อรองรับการแปลงสิทธิหุ้นกู้ดังกล่าวก็เป็นไปได้

โดยข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ล่าสุดของ CPALL ณ วันที่ 8 มีนาคม 2556 พบว่า บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ใน CPALL 32.30% (CPF ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด 99.99%) ขณะที่บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CP Group ถือหุ้น CPALL 11.29%

นอกจากนี้ กรณีผู้ถือหุ้นกู้ฯ ของ CPFH ใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้ฯ เป็นหุ้น CPALL ซึ่ง CPFH มีสิทธิเลือกส่งมอบหุ้น CPALL ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ฯ หรือส่งมอบเงินสดในจำนวนเทียบเท่ากับมูลค่าหุ้น CPALL ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ฯ ก็ได้ โดยราคาที่ใช้ในการแปลงสภาพหุ้นกู้ฯ เป็นหุ้น CPALL เริ่มต้นที่ 53.30 บาทต่อ 1 หุ้น CPALL เท่ากับ 130% ของราคาปิดหุ้น CPALL ณ วันที่ 9 ม.ค. 57 ซึ่งปิดที่ราคา 41 บาท มองว่า CPF ดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาภาระหนี้ให้กับ CPALL อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากหลังการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO นั้น CPALL มีภาระหนี้ที่ต้องแบกอยู่หนักพอสมควร

อย่างไรก็ตาม จากการซื้อ MAKRO ทำให้ CPALL มีเงินกู้ระยะสั้น (Bridging Loan) มูลค่า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทต้องหาทางออกด้วยการรีไฟแนนซ์ โดยการออกหุ้นกู้ 50,000 ล้านบาทในเดือนต.ค. 56 เพื่อคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ทำให้เหลือหนี้ราว 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งป้องกับความเสี่ยงฯ ไว้เกือบทั้งหมดแล้ว

โดยหนี้สินส่วนที่เหลือ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐดังกล่าวจะถูกรีไฟแนนซ์ภายในกลางปี 2557 ด้วยการ 1.เงินกู้ระยะยาว ไม่ต่ำกว่า 5 ปี 2.ออกหุ้นกู้ประมาณ 40,000 ล้านบาท และ 3.เงินกู้ระยะสั้นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งจะชำระคืนใน 1-2 ปี ทำให้ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหมดไป ซึ่งโดยรวมแล้วจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจาก 5% ของเงินกู้ในปีนี้ เป็น 5-6% ในปี 2557

สำหรับการแก้หนี้ระยะสั้น ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินที่สูง แล้วการที่ CPF จะเข้าถือหุ้น CPALL ก็ไม่ได้มีอะไรที่เสีย จากการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) และมีกำไรจากเงินปันผลของ CPALL ในการที่ CPF เข้าไปถือหุ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วย CPALL ให้สามารถชำระหนี้ได้

นางสาวพัชรา ชาติบัญชาชัย เลขานุการบริษัท CPF กล่าวว่า บริษัทแจ้งว่า C.P.Foods Holdings Limited (CPFH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด และจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของ British Virgin Islands กำหนดราคาและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ (Exchangeable Bonds) มูลค่ารวม 290.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี โดยเสนอขายแก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ (หุ้นกู้ฯ) ทั้งนี้ CPFH มีแผนที่จะดำเนินการจดทะเบียนหุ้นกู้ฯ ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ภายในวันที่ 17 ม.ค. 57

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ฯ ผู้ถือหุ้นกู้ฯ มีสิทธิเลือก (ก) แปลงสภาพหุ้นกู้ฯ เป็นหุ้น CPALL ซึ่งถือโดย CPFH หรือ (ข) ขอไถ่ถอนหุ้นกู้ฯ จาก CPFH เมื่อครบ 2 ปี นับแต่วันที่ออกหุ้นกู้ฯ หรือ (ค) ถือหุ้นกู้ฯ ไว้จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน โดยในกรณี (ข) หรือ (ค) ผู้ถือหุ้นกู้ฯ จะได้รับชำระเป็นเงินสด

โดยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ฯ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้ฯ ใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้ฯ เป็นหุ้น CPALL ซึ่ง CPFH มีสิทธิเลือกส่งมอบหุ้น CPALL ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ฯ หรือส่งมอบเงินสดในจำนวนเทียบเท่ากับมูลค่าหุ้น CPALL ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ฯ ก็ได้ โดยราคาที่ใช้ในการแปลงสภาพหุ้นกู้ฯ เป็นหุ้น CPALL เริ่มต้นที่ 53.30 บาทต่อ 1 หุ้น CPALL เท่ากับ 130% ของราคาปิดหุ้น CPALL ณ วันที่ 9 ม.ค. 57

สำหรับการออกหุ้นกู้ฯ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนตามที่กำหนด ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามปกติของการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ผู้ถือหุ้นกู้ฯ มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นหรือผลตอบแทนเป็นหุ้นสามัญ

ส่วนกรณีที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL มีการแต่งตั้งนายธานินทร์ บูรณมานิต ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทนนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ อย่างเงียบๆ เป็นการภายในองค์กร โดยไม่มีการชี้แจงให้กับนักลงทุนทราบข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่ปรากฏข้อมูลในรายชื่อกรรมการล่าสุดนั้น

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน กล่าวต่อว่า นี่ถือเป็นเรื่องที่แปลกและพิสดารอีกเรื่องหนึ่ง เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่สำคัญและมีผลกับการเปลี่ยนแปลงหรือทิศทางการดำเนินธุรกิจของ CPALL แต่ทำไมถึงไม่มีการแจ้งข้อมูล ซึ่งจากการไปตรวจสอบข่าวที่แจ้งผ่านตลท. พบว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 56 บริษัทแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 7/2556 แต่งตั้งนายธานินทร์ บูรณมานิต ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร แต่ไม่ได้ระบุการเข้ามานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแต่อย่างใด ขณะที่นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร

ขณะที่นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร CPALL กล่าวว่า นายธานินทร์ บูรณมานิต มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเลื่อนตำแหน่งจากเดิมดำรงตำแหน่งรองกรรมการอาวุโส จัดว่าเป็นการปรับโครงสร้างภายในองค์กร และเกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น