วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

TRUEล้างขาดทุนฯเหี้ยน ลุ้นปีนี้จ่ายปันผลครั้งแรก :JAS-DTAC-ADVANC-ทรูลุยประมูลคลื่น 1800

TRUEล้างขาดทุนฯเหี้ยน ลุ้นปีนี้จ่ายปันผลครั้งแรก :JAS-DTAC-ADVANC-ทรูลุยประมูลคลื่น 1800

2015-10-01 
วันนี้ TRUE เริ่มเทรดพาร์ใหม่ 4 บาท ตัวเบาล้างขาดทุนสะสมเกลี้ยง จับตาปีนี้เริ่มจ่ายปันผล งบไตรมาส 3 มีกำไรต่อเนื่อง ฟาก 4 เอกชน “JAS-DTAC-ADVANC-TRUE” ตบเท้าเข้ายื่นซองประมูลคลื่น 1800 MHz           
จากกรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้ประกาศการลดทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว ดังนั้น ตั้งแต่งวดวันนี้ (1 ต.ค. 2558) เป็นต้นไป ทางบริษัทจะเริ่มใช้มูลค่าที่ตราไว้ใหม่ (พาร์) เป็นที่ระดับ 4 บาท จากเดิมใช้พาร์อยู่ในระดับ 10 บาท
โดยในช่วงวันที่ 25 ก.ย. 2558 ทางTRUE ได้ดำเนินการจดทะเบียนลดทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อย จึงส่งผลให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วจำนวน 98,431,712,600 บาท จากเดิม 246,079,281,500 บาท ภายใต้พาร์ 4 บาท
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ทาง TRUE ได้กำหนดแนวทางล้างขาดทุนสะสมเพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลได้ เมื่อมีกำไรสุทธิและกระแสเงินสดเพียงพอ จึงมีมติด้วยการโอนทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 34,880,969 บาท และจำนวนสุทธิของส่วนเกินมูลค่าหุ้นและส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัท จำนวน 110,563,603,494 บาท รวมทั้งทำการลดมูลค่าพาร์ที่ตราไว้จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 4 บาท
ดังนั้น จะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัท ลดลงจาก 246,079,281,500 บาท เป็น 98,431,712,600 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัท ณ สิ้นปี 2557 ที่มีอยู่จำนวน 37,152,258,078 บาท และหลังจากบริษัทโอนทุนสำรองตามกฎหมาย และจำนวนสุทธิของส่วนเกินมูลค่าหุ้นและส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัท
อีกทั้งทำการลดพาร์เป็นหุ้นละ 4 บาทแล้ว ส่งผลให้คงเหลือผลขาดทุนสะสมอีกเล็กน้อย จำนวน 33,411,703 บาท  อย่างไรก็ตาม การลดทุนครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นเพียงการหักลบตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น โดยภายหลังการล้างขาดทุนสะสม ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 98,398,300,897 บาท
ขณะที่นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เคเคเทรด จำกัด ประเมินว่า งวดไตรมาส 3/58 ของ TRUE จะมีกำไรสุทธิ 69 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ขาดทุน 2,642 ล้านบาท แต่จะปรับลดลงจากงวดไตรมาส 2/58 ที่มีกำไรสุทธิ 1,302 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานสุทธิที่รวมรายการพิเศษของ TRUE ในไตรมาส 3/58 อาจจะถูกกดดันจากปัจจัยได้แก่ 1.การสั่งซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศในขณะที่เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งคาดทำให้เกิดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงราว 600-700 ล้านบาท แต่มีโอกาสที่ TRUE ไม่ต้องบันทึกรายการนี้ เพราะได้ป้องกันความเสี่ยงไว้เต็มจำนวนแล้ว
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ในไตรมาสก่อนมียอดเป็นบวก 519 ล้านบาท จากการใช้ประโยชน์จากภาษีเงินได้รอตัดบัญชี แต่ในไตรมาส 3/58 อาจต้องบันทึกเป็นยอดติดลบ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 รายการ จึงคาดจะทำให้มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/58 เพียง 69 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากกำไรงวดไตรมาส 3/58 เป็นไปตามคาดการณ์ จะทำให้กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 จะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 59% ของประมาณการทั้งปี 2558 ของฝ่ายวิเคราะห์ ทำให้มีโอกาสที่จะต้องปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทในปี 2558-2559 หลังประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 3/58 ในช่วงกลางเดือนพ.ย. 2558
โดยแม้มีปัจจัยบวกหลังบริษัทลดทุนด้วยการลดพาร์จาก 10 บาท เหลือ 4 บาท เพื่อล้างขาดทุนสะสม ซึ่งไม่กระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เพราะจำนวนหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่จะทำให้สามารถจ่ายปันผลได้ โดยคาดจะจ่ายได้ครั้งแรกสำหรับงวดผลประกอบการปี 2558
ส่วนงวดไตรมาส 4/58 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เพราะจะได้แรงหนุนจากผลของฤดูกาลที่ช่วงปลายปี ซึ่งผู้บริโภคมักมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือสูง บวกกับคาดจะมีการนำมือถือรุ่นใหม่อย่างไอโฟน 6S โดยจะช่วยผลักดันมาร์จิ้นของการขายเครื่องมือถือโดยรวมให้สูงขึ้น
* 4 เอกชนยื่นซองประมูลคลื่น 1800
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. เปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
โดยช่วงเช้ามีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 3 ราย ซึ่งในเวลา 08.30 น. นายสมบัติ พันศิริพัฒน์ กรรมการ บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS เป็นตัวแทนเข้ายื่นใบคำขอรับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นรายแรก
ขณะที่เวลา 08.48 น. นายรัฐฉัตร ศิริพานิช ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยนายรวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC เป็นตัวแทนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ DTAC เข้ายื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นรายที่ 2
ส่วนเวลา 10.30 น. นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC เป็นตัวแทนเข้ายื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นรายที่ 3 
สำหรับในช่วงบ่ายมีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน1800 MHz จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ ผู้อำนวยการบริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ TRUE เป็นตัวแทน บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ TRUE เข้ายื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นรายสุดท้าย ในเวลา 16.04 น.   
สำหรับขั้นตอนในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มี 3 ขั้นตอน เริ่มจากการลงทะเบียนและลงเวลา จากนั้นยื่นเอกสาร ได้แก่ แบบคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน พร้อมเอกสารประกอบพร้อมสำเนาเอกสาร 2 ชุดและเอกสารที่บันทึกลงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมค่าพิจารณาคำขอรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 535,000 บาท และวางหลักประกันการประมูลเป็นเช็คเงินสดจำนวน 796 ล้านบาท กับสำนักงาน กสทช. และขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการตรวจเอกสารเบื้องต้น
ส่วนราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น เนื่องจากมีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มากกว่าจำนวนใบอนุญาตที่เปิดประมูลจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ดังนั้นราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 15,912 ล้านบาทต่อใบอนุญาต คิดเป็น 80% ของมูลค่าคลื่นความถี่ และเคาะราคาเพิ่มครั้งละ 5% คิดเป็น 796 ล้านบาท ทำให้เคาะเพิ่มครั้งแรกราคาจะอยู่ที่ 16,708 ล้านบาท เมื่อเคาะราคาครั้งที่ 5 จะทำให้ราคาประมูลขึ้นไปเท่ากับ 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ และตั้งแต่ครั้งที่ 6 เป็นต้นไป เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 2.5% คิดเป็น 398 ล้านบาท  
ขณะเดียวกัน มองว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะดุเดือด เนื่องจากมีผู้ร่วมประมูล 4 ราย แต่มีเพียง 2 ใบอนุญาต และส่งผลให้มีรายได้เข้ารัฐถึง 40,000 ล้านบาท รวมทั้งคาดว่าโดยรวมภายใน 2 ปีข้างหน้าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตฯ แล้วจึงนำเสนอ กทค.พิจารณา โดยจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารคำขอครบถ้วน หรือหลังจากวันที่ 16 ต.ค. 2558 และจะแจ้งผลการพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้ผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตทราบ ซึ่งผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตสามารถอุทธรณ์ผลการพิจารณาได้ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
โดยจากนั้นจะนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่จัดการประมูล ที่อาคารอำนวยการชั้น 3 สำนักงาน กสทช.ในวันที่ 3 พ.ย. 2558 และจะมีการชี้แจงรายละเอียดและจัดการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. 2558 และจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในวันที่ 11 พ.ย. 2558 คาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ภายใน 7 วัน หลังจากการประมูลสิ้นสุด
นายฐากร กล่าวว่า กรณีของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ที่ไม่เห็นด้วยในการนำคลื่น 900 MHz มาประมูลหลังจากอายุสัญญาสัมปทานคลื่น 900 MHz ระหว่าง ADVANC และ TOT ที่หมดลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันว่าหากศาลยังไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทาง กสทช.ยังคงดำเนินการตามกรอบการประมูลที่วางไว้ ส่วนผู้ที่ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G บนคลื่น 900 MHz ที่มีอยู่ 2.4 ล้านเลขหมาย ยังคงใช้งานได้ต่อไป จนกว่าจะมีการออกใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แล้วเสร็จ
ส่วนนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่ ADVANC กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับหนังสือแจ้งขอให้ชำระผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมจากการแก้ไขข้อตกลงแนบท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างบริษัท กับ TOT ครั้งที่ 6 ปี 2544 เรื่องการปรับลดส่วนแบ่งรายได้ระบบเติมเงิน และครั้งที่ 7 ในปี 2545 เรื่องการหักค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่ง รวมเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าการแก้ไขสัญญานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นในวันเดียวกันบริษัทได้ทำหนังสือโต้แย้งไปยัง TOT และได้ดำเนินการนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นหมายเลขคดีดำเลขที่ 78/2558
ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง สุจริต และด้วยความยินยอมร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งการแก้ไขสัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญามาตลอด โดยมิได้มีการขอยกเลิกหรือเพิกถอนการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจาก TOT จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญาในวันที่ 30 ก.ย. 2558 ดังนั้นบริษัทจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมตามที่ TOT เรียกร้องแต่อย่างใด
* JAS พร้อมร่วมประมูล 4G
นายสมบัติ พันศิริพัฒน์ กรรมการ บริษัทแจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ผู้สนใจเข้ายื่นคำขอในวันวานนี้ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.
ดังนั้น ถือเป็นฤกษ์ดีของแจสโมบายบรอดแบนด์ ที่ได้เข้ายื่นเอกสารเป็นรายแรก ซึ่งบริษัทได้เตรียมเอกสารทั้งหมด พร้อมหลักประกันการประมูลมูลค่า 796 ล้านบาท และค่าพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตอีก 5 แสนบาท นอกจากนี้ แจสโมบายบรอดแบนด์ยังยืนยันความตั้งใจและความพร้อมที่จะเข้ามาในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยเมื่อมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาคงจะทำให้ตลาดคึกคักมากขึ้น และผลดีก็จะตกอยู่ที่ผู้ใช้บริการ ซึ่งหลังจากวันที่ 30 กันยายน 2558 กสทช.จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติประมาณ 15 วัน แล้วจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ และเข้าสู่กระบวนการทดลองการประมูลในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. 2558 ก่อนจะมีการประมูลจริงในวันที่ 11 พ.ย. 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น