วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

SSIฉุดกำไร3แบงก์ กรุงไทยวูบ6พันลบ. :โบรกฯชี้กระทบสั้น – สหวิริยาฯยังมึนทางออก

SSIฉุดกำไร3แบงก์ กรุงไทยวูบ6พันลบ. :โบรกฯชี้กระทบสั้น – สหวิริยาฯยังมึนทางออก

2015-09-22 
กรุงไทย-ไทยพาณิชย์ และทิสโก้ พร้อมตั้งสำรองฯปัญหาหนี้สหวิริยาฯ (SSI) 100% ด้าน KTB ยอมรับดึง CoverageRatio ร่วง ต้องตั้งสำรองหนี้เสียพิเศษ Q3/58 อีก 6 พันล้านบาท ดึงตัวเลขขึ้นเหนือ 100% ส่วน SCB ใช้บุ๊คกำไรพิเศษ 7-8 พันล้านบาทเข้ามาช่วย ส่วนทิสโก้เหลือตั้งสำรองฯอีกแค่ 1.4-1.5 พันล้านบาท ด้านโบรกฯ มองเป็นผลกระทบช่วงสั้น ขณะที่ SSI ยังมึนหาทางออกไม่เจอ
วานนี้ (21 ก.ย. 2558) มีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างนายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI), นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB, นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร SCB และนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เกี่ยวกับปัญหานี้ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด (SSI UK)
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมตั้งสำรองหนี้เสียพิเศษกรณีบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI จำนวน 9,000 ล้านบาท หรือ 100% ในช่วงไตรมาส 3/58 การตั้งสำรองฯนี้จะตั้งสำรองฯทั้ง SSI ที่อังกฤษและ SSI ในไทย จากวงเงินกู้ทั้งหมดรวม 22,000 ล้านบาท
การตั้งสำรองฯ SSI ทั้งกรุ๊ปครั้งนี้ถือว่าเพียงพอแล้ว เมื่อเทียบกับหลักทรัพย์ที่ทาง SSI นำมาใช้เป็นหลักประกันมูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะประชุมบอร์ดธนาคารภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อสรุปตัวเลขกันสำรองฯอีกครั้ง โดยที่ผ่านมาธนาคารได้มีการทยอยตั้งสำรองหนี้เสียดังกล่าวไปก่อนหน้านี้รวม 11,000-12,000 ล้านบาท
แม้ว่าธนาคารจะตั้งสำรองหนี้เสียพิเศษดังกล่าวก็ไม่กระทบต่อผลประกอบการของธนาคารช่วงไตรมาส 3/58 มากนัก เพราะนอกจากธนาคารมีการทยอยตั้งสำรองฯไปก่อนหน้านี้แล้ว เงินที่นำมาตั้งสำรองหนี้เสียกรณีนี้จะมาจากเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารซึ่งมีอยู่จำนวนมากเหลือเฟือต่อการดึงมาตั้งสำรองหนี้เสียพิเศษกรณี SSI ไม่ชำระหนี้ ก็จะเป็น NPL ส่งผลให้ธนาคารปรับตัวเลขเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 3-3.5% ส่วนทั้งปีอยู่ที่ 1.5-1.7%
นอกจากนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในไตรมาส 3/58 ลดมาอยู่ที่ 90% จากปัจจุบันอยู่ที่ 125% อย่างไรก็ตาม  ธนาคารมีนโยบายรักษา Coverage Ratio  ไม่ต่ำกว่า 100% ในปีนี้ดังนั้น จะต้องการตั้งสำรองฯเพิ่ม และจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3/58 ประมาณ 6,000 ล้านบาท
ส่วนการขยายสินเชื่อรวมของธนาคาร นายวรภัค กล่าวว่าในปีนี้ธนาคารปรับลดมาเหลือการขยายตัวของสินเชื่อที่ 3% จากเดิมคาดว่าจะโต 4-6% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารได้เพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองฯกรณี SSI ไตรมาส3/58 เต็ม 100% คิดเป็นเงิน 10,000-11,000 ล้านบาท  จากวงเงินกู้กว่า 20,000 ล้านบาท การตั้งสำรองฯดังกล่าวธนาคารได้รองรับกรณีที่ SSI ในไทยที่ต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มในครั้งนี้ด้วย ก่อนหน้านี้ธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองฯไปก่อนหน้านี้กว่า 50%
ส่วนเม็ดเงินสำรองหนี้เสียพิเศษครั้งนี้ ธนาคารได้จัดตั้งมาเป็นกรณีเฉพาะเพราะไม่ต้องการดึงเงินสำรองฯส่วนเกินของธนาคารมาใช้ และเงินที่นำมาตั้งสำรองฯเฉพาะนี้มาจากผลกำไรจากการลงทุน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังไม่จัดให้ SSI เป็น NPL ในขณะนี้ต้องรอดูการชำระหนี้จาก SSI ในสิ้นเดือนนี้ก่อน
ธนาคารได้มีการดำเนินการเพื่อที่จะให้รับรู้กำไรที่เกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอยู่ในพอร์ตการลงทุนของธนาคาร โดยจะมีการบันทึกรับรู้กำไรจากการลงทุนเมื่อมีการขายหลักทรัพย์เกิดขึ้น สำหรับกำไรจากการลงทุนดังกล่าวในไตรมาสนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดผลกระทบที่มีต่อกำไรสุทธิของธนาคารอันเนื่องมาจากการตั้งสำรองฯในกรณีของ SSI ได้ในระดับหนึ่ง     
นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO กล่าวว่า ธนาคารเตรียมตั้งสำรองหนี้พิเศษกรณี SSI เพิ่มเติม 100% คิดเป็นวงเงิน 1,400-1,500 ล้านบาท ของวงเงินกู้ทั้งสิ้น 4,400 ล้านบาท สำหรับเม็ดเงินตั้งสำรองฯนี้ ธนาคารตั้งสำรองฯในส่วนที่เหลือ คือ SSI ในไทย ส่วน SSI ในอังกฤษธนาคารได้มีการตั้งสำรองฯไปหมดแล้ว
ทั้งนี้ สินเชื่อที่ให้กับ SSI ในอังกฤษธนาคารมีแผนที่จะตัดหนี้สูญภายหลังจากการตั้งสำรองฯเต็ม 100% ตามนโยบายของธนาคาร ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติ ดังนั้น NPL ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากส่วนของสินเชื่อที่ให้กับ SSI คิดเป็นประมาณ 0.34% ของสินเชื่อรวม คาดว่า SSI จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วเสร็จในระยะเวลาต่อไป
และการตั้งสำรองฯในระดับสูงดังกล่าวเป็นไปเพื่อสนับสนุนกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีประสิทธิผล โดยคาดว่าผลเสียหายสุดท้ายที่เกิดขึ้นจริงจะมีจำนวนน้อยกว่าระดับเงินสำรองฯที่ตั้งในครั้งนี้ทั้งหมด ซึ่งบริษัทจะได้รับรู้เป็นรายได้จากการหนี้สูญรับคืนในอนาคตต่อไป
นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าปัญหา SSI จะทำให้กระทบกับกำไรในไตรมาส 3/58 รวมถึงกำไรทั้งปีของทั้ง 3 ธนาคารพอสมควร แต่ไม่ถึงกับทำให้ขาดทุน
“ไม่มีอะไรน่ากังวล เป็นเพียงระยะสั้น และจะไม่ส่งผลกระทบไปถึงหนี้เสียของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์”
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่งมีการตั้งสำรองฯไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของมูลหนี้หลัก ผลกระทบจึงเหลือเพียงอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละธนาคารได้มีการออกมาพูดแล้วว่าจะมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร เช่น SCB ตั้ง 1 หมื่นล้านบาท KTB ก็จะพอๆ กัน ส่วน TISCO ก็น้อยกว่าเล็กน้อย การตั้งสำรองฯของธนาคารในครั้งนี้ เป็นการตั้งสำรองฯแค่ครั้งเดียว ไม่ได้ต่อเนื่องไปถึงอนาคตมากนัก
นายกวี กล่าวว่า การตั้งสำรองฯของธนาคาร รวมถึงธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับ SSI จะมีการตั้งสำรองฯส่วนเกินอยู่พอสมควรแล้ว โดยเฉพาะ SCB มีการตั้งสำรองฯไว้มากอยู่แล้ว อีกทั้งเงินกองทุนของแต่ละธนาคารอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นด้วยเงินกองทุนกับปริมาณการตั้งสำรองฯส่วนเกินจึงไม่ใช่ปัญหา และไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของธนาคารทั้ง 3 แห่ง และยังคงแข็งแกร่งเหมือนเดิม จึงไม่มีการปรับลดเป้าหมายราคาหุ้นของ  SCB, KTB และ TISCO
บล.ธนชาต ระบุว่า กลุ่มธนาคารรับผลกรณี SSI และ SSI UK ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะทำให้ KTB-SCB และ TISCO ต้องกันสำรองฯเพิ่ม 1.86 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไร TISCO ปี 2558 มากที่สุดถึง 32% และกระทบคาดการณ์กำไร KTB และ SCB ปีนี้ 22% และ 13% ตามลำดับ
ด้านนายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) กล่าวว่า  บริษัทและกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ให้เงินกู้แก่บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด (SSI UK)  ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ทำกิจการโรงถลุงเหล็กในอังกฤษ จะดำเนินการร่วมกันในการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ของบริษัทให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพต่อไป โดยคำนึงถึงการรักษามูลค่าทางธุรกิจของบริษัท และการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ต่อพนักงาน ลูกค้าและคู่ค้าของบริษัท
ขณะที่ยอดหนี้รวมของ SSI ที่มีอยู่กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้รายใหญ่ 3 ราย มีมูลค่ารวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)  ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท , ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และธนาคารทิสโก้ ประมาณ 4.4 พันล้านบาท โดยแต่ละธนาคารได้ทำการกันสำรองเงินสินเชื่อที่ให้แก่ SSI จนครบถ้วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้แล้ว
ส่วนการหยุดผลิตเหล็กแท่งแบน(Slab) ของโรงถลุงเหล็กนั้น สืบเนื่องจาก SSI UK ประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงาน ทำให้ต้องหยุดผลิตเพื่อเจรจากับผู้มีส่วนได้เสียของ SSI UK เช่น รัฐบาลอังกฤษ คู่ค้า และสหภาพแรงงาน ซึ่งจากการเจรจาหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โอกาสที่การผลิตเหล็กจะเปิดดำเนินการได้อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการทำความตกลงกันระหหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และยังมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่จะส่งทำให้การเปิดดำเนินการโรงถลุงเหล็กของ SSI UK ยังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ให้เงินกู้แก่ SSI UK ดังกล่าวจึงเรียกให้ SSI UK ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการกู้เงิน ซึ่งจากฐานะการเงินในปัจจุบันของ SSI UK ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ของ SSI UK จึงขอให้ SSI ร่วมรับผิดชอบในการชำระหนี้ดังกล่าว ในฐานะผู้ค้ำประกันของ SSI UK สำหรับหนี้วงเงินจำนวนประมาณ 790 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ SSI กำลังพิจารณาทางออกของโรงถลุงเหล็กดังกล่าว โดยอาจจะขายออกหรือปิดกิจการถาวร

  • 2015-09-22 12:00:00 - ช้อป9หุ้นอสังหาฯเด่นต่ำบุ๊ค-พี/อีไม่ถึง10เท่า
  • ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น