วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ต่างชาตินกรู้เข้าเก็บหุ้นแบงก์ทหารไทย ดักรอรัฐบาลใหม่เปิดดีลซื้อขาย TMB วอลุ่มพุ่ง 3.4 พันล้านบาท ราคาทำนิวไฮรอบ 7 ปีกว่า ผ่าน 2 โบรกฯใหญ่ คาดราคาขายทหารไทยสูงถึง 3 เท่าบุ๊คแวลู หรือ 4.35 บาท ล่าสุดครองแชมป์สินเชื่อเพิ่มขึ้นมากสุดในระบบแบงก์พาณิชย์

ต่างชาติดักเก็บTMB
เก็งรัฐบาลใหม่ดันดีล
*ทำนิวไฮรอบ 7 ปีกว่า วอลุ่มทะลัก 2 โบรก
ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557
ผู้เข้าชม : 10 คน
ต่างชาตินกรู้เข้าเก็บหุ้นแบงก์ทหารไทย ดักรอรัฐบาลใหม่เปิดดีลซื้อขาย TMB วอลุ่มพุ่ง 3.4 พันล้านบาท ราคาทำนิวไฮรอบ 7 ปีกว่า ผ่าน 2 โบรกฯใหญ่ คาดราคาขายทหารไทยสูงถึง 3 เท่าบุ๊คแวลู หรือ 4.35 บาท ล่าสุดครองแชมป์สินเชื่อเพิ่มขึ้นมากสุดในระบบแบงก์พาณิชย์



วานนี้ราคาหุ้น TMB ทำนิวไฮในรอบ 7 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2549 ที่ราคาปิดสูงสุดที่ 3.12 บาท โดยวานนี้หุ้นแบงก์ทหารไทยปิดที่ระดับ 3.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3,477ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามาเก็บหุ้นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ เก็งดีลซื้อขายกิจการ

แหล่งข่าวจากตลาดทุน เผยว่า วอลุ่มซื้อขายหุ้นแบงก์ทหารไทย หรือ TMB ที่เข้ามามากผิดปกติวานนี้ ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อจากต่างประเทศผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ และบล.ภัทร โดยเฉพาะทิสโก้มีคำสั่งซื้อจากกลุ่มนักลงทุนในประเทศสิงคโปร์ผ่านมาทางดอยช์แบงก์

“วอลุ่มซื้อขายวานนี้เป็นแรงซื้อเก็งกำไร หลังจากที่สภาฯลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะมีรัฐบาลภายในเร็วๆ นี้ และจะมีการผลักดันดีลซื้อขายหุ้นแบงก์ทหารไทยอีกครั้ง”

ทั้งนี้ดีลซื้อขายแบงก์ทหารไทยชะลอมาหลังจากที่รัฐบาลเก่า (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ประกาศยุบสภาฯเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งแบงก์ต่างชาติให้ความสนใจเป็นอันมาก ทั้งกลุ่มแบงก์จากประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมทั้งจีน โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์จากประเทศมาเลเซียที่มีแผนการขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ อย่างเช่น เมย์แบงก์ ที่ต้องการแข่งขันเป็นเบอร์หนึ่งกับแบงก์ซีไอเอ็มบีที่มีแผนควบรวมกิจการกับแบงก์ RHB ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา โดยราคาที่คาดว่าจะสว็อปหุ้นกันอยู่ที่ระดับ 3 เท่าของมูลค่าทางบัญชี

ดังนั้นกรณีดีลซื้อขายหุ้น TMB จึงมีความเป็นไปได้สูง หากซื้อขายกันที่ 3 เท่าของมูลค่าทางบัญชี หรือ 4.35 บาท (บุ๊คแวลู 1.45 บาท) ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังก็พอใจที่จะขายหุ้นที่ถืออยู่ 26.1% ได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนที่ 3.86 บาท

ขณะที่แบงก์จากประเทศสิงคโปร์ก็พยายามรักษาตำแหน่งอันดับหนึ่งของภูมิภาคไว้ ดังนั้นจึงสนใจที่จะเข้ามาแข่งขันในการซื้อหุ้นแบงก์ทหารไทยเช่นกัน

ด้านบล.ทิสโก้ มองว่าการเก็งกำไรหุ้น TMB เนื่องจากโอกาสในการเป็นเป้าหมาย takeover จะกลับมาใน 4Q57 ทั้งนี้คาดว่ารัฐบาลทหารจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ในเดือนกันยายนนี้ โดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่น่าจะอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร จะสามารถสร้างเสถียรภาพและความยืดหยุ่นสำหรับ ING และกระทรวงการคลัง สำหรับการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง นอกจากนี้ ROE ของ TMB ที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง ดังนั้น ING และกระทรวงการคลังอาจจะขายหุ้น TMB ด้วยมูลค่าหุ้นที่อยู่ในระดับพรีเมียม

โดยปรับมูลค่าเหมาะสม TMB มาอยู่ที่ 3.5 บาท (จาก 2.5 บาท) มาจากการเฉลี่ย P/BV ที่ 2.1x สำหรับ 2557-2558F (จาก 1.6x), COE ที่ 11.2%, ROE ที่ 15% (จาก 13.2%) และการเติบโตระยะยาวที่ 7.7% ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1) ค่าธรรมเนียม cross-selling ที่ชะลอตัว 2) การที่อัตราเงินเฟ้อ/ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพ SME และสำรอง LLR ที่เร็วกว่าคาด และ 3) การสิ้นสุดของมาตรการสินเชื่อโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า

ทั้งนี้ ทิสโก้ปรับประมาณการผลประกอบการปี 2557-2559F เพิ่มขึ้น 24% จาก LLR ส่วนเกิน และการผลักดันมาตรการสินเชื่อ SME จากรัฐบาลจะทำให้ต้นทุนเงินทุนลดน้อยลง และการสร้างการเติบโตของรายได้ที่ดีจากธุรกิจ SME ซึ่งมีอัตรากำไรสูง นอกจากนี้ ถ้าเป้าหมาย ROE ระยะกลางของธนาคารอยู่ที่ 16% เป็นไปตามคาด มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ถือหุ้นเดิมจะลดสัดส่วนการถือลงทั้ง ING และกระทรวงการคลัง ถ้ามูลค่าหุ้นอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้แบงก์ทหารไทยยังมีปัจจัยบวกมาจากยอดสินเชื่อเดือนก.ค.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบ เมื่อเทียบกับทุกแบงก์ โดยล่าสุดปรับเพิ่มขึ้น 2.9%

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า สินเชื่อของแบงก์ใหญ่ส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยสินเชื่อเดือนก.ค.ของ BAY และ KTB เพิ่ม 0.6% M-M โดยธนาคารทหารไทย (TMB) มีสินเชื่อขยายตัวสูงที่สุด ขณะที่แบงก์เช่าซื้อยังเห็นการหดตัวของสินเชื่อ โดย TISCO, TCAP, KKP มีสินเชื่อหดตัว 0.5% M-M โดย KKP หดตัวมากสุด -0.9% M-M

บล.กรุงศรี ระบุว่า สินเชื่อของธนาคาร (ยกเว้น BAY KTB) ในเดือนก.ค. แนวโน้มยังค่อนข้างอ่อนแอ โดยมีเพียง KBANK และ TMB ที่สินเชื่อขยายตัว สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังอ่อนแอตามยอดขายรถยนต์

ทั้งนี้ ธนาคาร 8 แห่ง (ไม่รวม BAY KTB) รายงานสินเชื่อเดือน ก.ค. ลดลง 0.1%MoM ธนาคารส่วนใหญ่มีสินเชื่อลดลง แบ่งเป็น (1) กลุ่มธนาคารที่สินเชื่อเติบโต คือ TMB (+2.9%) KBANK (+1%) และ (2) กลุ่มที่สินเชื่อหดตัว โดยที่ SCB มีสินเชื่อลดลงมากที่สุด -1.1%MoM รองลงมาเป็น KKP (-0.9%) BBL (-0.6%) LHBANK (-0.5%) TISCO (-0.5%) TCAP (-0.3%)

ด้านบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุ TMB Break ขึ้นจากกรอบ Ascending Triangle ด้วยวอลุ่มหนาแน่น คาดเดินหน้าต่อได้ "เก็งกำไร" แนวรับ 2.96 บาท แนวต้าน 3.08 บาท, 3.16 บาท cut loss 2.92 บาท

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น