วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เพิ่มทุนครั้งยิ่งใหญ่ของ N-PARK<br/><br/>

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: เพิ่มทุนครั้งยิ่งใหญ่ของ N-PARK


รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 05 สิงหาคม 2557
ผู้เข้าชม : 7 คน
การตัดสินใจเพิ่มทุนครั้งยิ่งใหญ่ของบอร์ด “บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK เพิ่มทุน 200% อนุมัติออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 361,275 ล้านหุ้น หรือ 200% ของจำนวนหุ้นเดิม จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม 180,637 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาขาย 0.035 บาทต่อหุ้น และรองรับการแปลงวอร์แรนต์ที่จะออก 180,637 ล้านหุ้น ทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีจำนวนหุ้นมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ของไทย

มากกว่าอันดับ 2 คือ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC ที่มีจำนวนหุ้นหลังเพิ่มทุนล่าสุด 123,618.44 ล้านหุ้น

เป้าหมายของการเพิ่มทุนในครั้งนี้บริษัทให้เหตุผลว่าจะมีเม็ดเงินที่ระดมทุนเข้ามาใหม่กว่า 6,000 ล้านบาท โดยจะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และโครงการอื่นๆ ของบริษัทต่อไปในอนาคต

การเพิ่มทุนอีกส่วนหนึ่งจำนวน 180,637.71 ล้านหุ้น ก็เป็นไปตามสูตรของการเพิ่มทุนร่วมสมัย คือ เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (วอร์แรนต์) รุ่นที่ 1 ในอัตราส่วน 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิ 0.06 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นการแจกฟรี ในอัตราหุ้นสามัญ เดิม 1 หุ้นต่อวอร์แรนต์ 1 หน่วย โดยไม่คิดมูลค่า โดยไม่ได้กำหนดเวลาแปลงสิทธิ แต่บอกแค่ว่าวันเวลาจองซื้อจะกำหนดในภายหลัง

ในแง่มุมของการเงินบริษัท ประโยชน์ที่ N-PARK จะได้รับจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ คือ โครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและมีเงินทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ เป็นเงินทุนในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและโครงการอื่นๆ ของบริษัทต่อไปในอนาคต ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุนอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน

ผู้บริหารบริษัท นายนคร ลักษณกาญจน์ ระบุว่า หลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะขอเวลา 2 ปีที่จะให้ N-PARK กลับมาจ่ายปันผลได้ เพราะขณะนี้ เริ่มทำกำไรได้แล้ว และสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาทได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งปีหน้าคงมีการโอนโครงการหลายโครงการ จะมีกำไรเข้ามา โดยจะใช้กำไรของบริษัทมาชำระผลขาดทุนสะสม

ประกอบกับอาจจะมีการพิจารณาลดทุนจดทะเบียน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และหลังจากนั้นคงจะได้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้อีกครั้งในอนาคต

การเพิ่มทุนครั้งล่าสุดนี้ นอกเหนือจากจะทำให้บริษัทมีเงินทุนใหม่แล้ว จะส่งผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ค่อนข้างรุนแรงทีเดียว เพราะว่า เป็นการเพิ่มทุนในราคาที่ต่ำกว่าพาร์ 1 บาทอย่างมาก ทำให้เกิดส่วนต่ำมูลค่าหุ้นที่จะส่งผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นน้อยกว่าจำนวนหุ้นยิ่งไปกว่าเดิมอีก

สิ่งที่จะแก้ปัญหาส่วนต่ำมูลค่าหุ้นให้ลดลง มีวิธีการเดียวคือ วิศวกรรมการเงิน ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ในอนาคต ผู้บริหารของบริษัท จะต้องสร้างผลกำไรให้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะแม้ว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา จะปรากฏว่า N-PARK มีตัวเลขกำไรสุทธิอยู่ต่อเนื่อง (ไม่นับไตรมาสแรกของปีนี้ที่ขาดทุนสุทธิ) แต่เป็นกำไรจากการขายทรัพย์สินซึ่งถือเป็นกำไรพิเศษ ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงาน



(งบย้อนหลัง N-PARK)

ปรากฏการณ์ที่น่าติดตามต่อจากนี้ไปคือ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ยุคหลังจากที่นายประชา มาลีนนท์ ได้อำพรางตนเองหลังจากคดีทางการเมือง ให้มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่มาทดแทนนั้น จะยอมเพิ่มทุนเข้ามา หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอีกครั้ง

คำถามดังกล่าว ถือเป็นความท้าทาย เพราะ N-PARK นับว่าเป็นหุ้นที่มีประวัติอันโชกโชนที่สร้างทั้งรอยยิ้มและน้ำตาให้กับนักลงทุน จนได้ชื่อว่าเป็นสุสานแหล่งฝังเซียนหุ้นนับไม่ถ้วน

การเพิ่มทุนจนมีจำนวนมหาศาลครั้งใหม่นี้ จะยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบไปอีกยาวนาน โดยเฉพาะคำถามสำคัญว่า N-PARK จะเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ที่แท้จริงโดยไม่ตกเป็นเหยื่อของวิศวกรรมการเงินซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่า

ประวัติอันโชกโชนของ N-PARK เริ่มต้นปี 2536 ภายใต้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่นายทศพงศ์ จารุทวี ซึ่งเข้ามาบริหารกิจการและพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับเผชิญวิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เข้าเต็มที่ แต่เขาเลือกใช้วิศวกรรมการเงินภายใต้สูตรเอ็มบีเอ โดยอ้างถึงทฤษฎี Diamond Model ด้วยการเข้าซื้อกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาการเงินมาจาก บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ในราคาต่ำ จนกลายเป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก และยังขยายกิจการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศหลายแห่ง แต่ท้ายสุด วิศวกรรมการเงินดังกล่าวไม่บรรลุผล เพราะโครงการที่ซื้อกิจการเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นการทำอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ไม่สามารถทำเงินกำไรและรายได้กลับมาตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ทำให้ประสบการขาดทุน และขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก

การขาดทุนมหาศาลทำให้ยุคของนายทศพงศ์จบสิ้นลง และบริษัทต้องเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกับทยอยขายทรัพย์สินออกไป และพร้อมกับเข้าไปสมทบในหมวดหุ้นกลุ่มรีแฮบโก้ (REHABCO)

ยุคที่สอง เมื่อกลุ่มนายเสริมสิน สมะลาภา เข้ามาดำเนินการต่อไป พร้อมกับแนวคิดวิศวกรรมการเงินแบบเดิมคือ อาศัยการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยผ่านวิศวกรรมการเงิน ซึ่งหนีไม่พ้นที่บรรดานักลงทุนที่ถือหุ้นจะต้องเลือกเอาระหว่างการซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือตราสารการเงินอื่นๆ เพื่อฟื้นฟูกิจการ หรือทิ้งหุ้นในมือออกไป ซึ่งเป็นสภาพตกกระไดพลอยโจน โดยหวังว่าจะสามารถ "ถอนทุนคืน" ในอนาคตได้อย่างวัดดวงอีกครั้ง

นายเสริมสิน ได้ผลักดันให้ N-PARK มีรายได้จากโครงการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการโรงแรมสยาม เคมปินสกี้จนแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ พร้อมกับหาทางเจรจาขายหุ้น N-PARK ให้กลุ่มทุนบาห์เรนที่เข้ามาร่วมทุนในโครงการโรงแรมเพิ่ม แต่ไม่เป็นผล ท้ายสุด พันธมิตรที่เข้ามาร่วมกันก็ทยอยตักขายทิ้งหุ้นไปรายแล้วรายเล่า รวมทั้งนายเสริมสินที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ รวมทั้งทิ้งหุ้นออกไปในปี 2554 ด้วยการจบสิ้นลงพร้อมกับราคาหุ้นระดับ 1-2 สตางค์เช่นเคย เหลือไว้แต่ทรัพย์สินที่รอทยอยขายให้มีกำไรกลับคืนมาบ้าง กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เดอะแนเชอรัลพาร์ค อพาร์ทเมนท์ และโรงแรมสยามเคมปินสกี้ และเคมปินสกี้เรสซิเดนซ์ สยาม และในสิทธิเช่าที่อาคาร “ร้อยชักสาม” ของกรมธนารักษ์ ก็ยังค้างเติ่งไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด

ยุคที่สามภายใต้นายประชานั้น มาพร้อมกับสูตรสำเร็จแห่งความหวังตามปกติ และเริ่มต้นดำเนินไปได้ด้วยดี มีการอนุมัติขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาไม่ถึง 3 สตางค์ต่อหุ้นนั้น ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ทำกำไรได้ทันทีเมื่อเทียบกับราคาที่ซื้อขายกันในตลาด แต่ กลุ่มพันธมิตรของนายประชา ยืนยันว่า จะไม่ขายหุ้นออกจากมือภายใน 2 ปี และจะหาทางสร้างรายได้ใหม่ จากการเพิ่มทรัพย์สิน และเปิด 2 โครงการที่อยู่อาศัยใหม่บริเวณพระราม 4 และนครราชสีมา นอกเหนือจากโครงการโรงแรมอามันรีสอร์ท กรุงเทพ ที่ซอยเจริญกรุง 36

แผนธุรกิจของ N-PARK ยุคที่สามนี้ เริ่มทำท่าสดใส โดยดูได้จากผลประกอบการใน ปี 2555 ที่ทำกำไร 376.51 ล้านบาท ถัดมาในปี 2556 บริษัทมีกำไร 295.82 ล้านบาท จนกระทั่งเกิดปัญหาคดีของนายประชาดังกล่าวที่ทำให้ความมั่นใจถดถอยลงไป แต่เมื่อผู้บริหารออกมายืนยันว่า บริษัทนี้สามารถดำเนินงานไปได้บนพื้นฐานของมืออาชีพ ก็เป็นการบ่งบอกถึงอนาคตที่เป็นตามคำมั่นสัญญาของนายประชาและพันธมิตรได้อย่างดี ว่าธุรกิจและการเมืองนั้น สามารถแยกออกจากกันได้เด็ดขาด ไม่ปะปนกันจนเลอะเทอะไปหมด

ปัจจุบัน ผู้ที่มีบทบาทหัวขบวนของการบริหารได้แก่ นายนคร ลักษณกาญจน์ ที่ถือเป็นมืออาชีพของ นายประชา มาลีนนท์ เข้ามานั่งในตำแหน่ง MD กับความท้าทายในยุคที่สาม ในการพลิกฟื้นธุรกิจของ N-PARK ที่เข้าขั้นอาการโคม่า ให้ฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2554 ต่อจากนายเสริมสิน สมะลาภา ที่ลาออกไป แล้วได้รับการชักชวนจากนายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการบริษัท

โดยการเข้ามาตอนแรกๆ นายนครยอมรับว่า ต้องเริ่มต้นใหม่ รวมถึงการจัดการปัญหาคดีความต่างๆ โดยการนัดคุยกับเจ้าหนี้ทุกราย เพื่อหารือถึงการสะสางหนี้สินที่ค้างคาอยู่ให้จบ จนล่าสุดเมื่อช่วงกลางปีก่อนก็ได้จ่ายเงิน 250 ล้านบาท ให้กับธนาคารไอซีบีซี ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายสุดท้ายไป ก็เท่ากับว่าปัจจุบัน N-PARK ไม่มีหนี้สินและคดีความอีกต่อไป โดยเงินที่ได้มาเพื่อชำระหนี้ก็มาจากเงินเพิ่มทุนแบบ PP ที่ออกขายได้เงินมาประมาณ 1.5 พันล้านบาท และกลุ่มใหญ่ที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนั้นก็คือกลุ่มมาลีนนท์ที่ออกเงินเพิ่มทุนมากว่า 900 ล้านบาท

แผนการต่อมาคือการจัดการทรัพย์สินของบริษัท อันไหนดีก็เก็บไว้ อันไหนไม่สร้างประโยชน์แก่บริษัท ก็ตัดใจขายทิ้งไปให้หมด เพื่อให้มีเงินมาช่วยเป็นทุนหมุนเวียน จากนั้นก็พูดคุยกับผู้ถือหุ้นให้เข้าใจถึงแผนการต่อไปที่บริษัทจะทำ ก็เล่าให้เขาฟัง และทำให้เขาเชื่อให้ได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ผูกสัญญาไว้คือการกลับมาฟื้นคืนชีพของธุรกิจ และ การกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่ได้สัญญาไว้มันก็เริ่มสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมาเรื่อยๆ

ข้อดีของการเพิ่มทุน อยู่ที่ทำให้ปัญหาทางการเงินระยะสั้นหมดไป เริ่มต้นแผนการตลาดได้คล่องแคล่วมากขึ้น แม้จะมีผลต่อราคาหุ้นที่จะอยู่ในสภาพต่ำไปอีกยาวนาน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ถือหุ้นที่เชื่อมั่นในอนาคตยาวไกลเท่านั้น ไม่เหมาะกับนักเก็งกำไรระยะสั้น

เงินทุนที่ได้จากการเพิ่มทุน จะช่วยให้สามารถวางแผนการตลาดเพื่อรุกทางธุรกิจ โดยการเปิดโครงการใหม่ เช่นในปี 2557 มีการลงทุนเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ ประมาณ 4-5 โครงการ มูลค่ารวม 5,300-5,400 ล้านบาท เช่น โครงการคอนโดมิเนียมย่านรัชดาฯ ขนาด 300-400 ยูนิต มูลค่า 1,300-1,400 ล้านบาท โครงการบ้านเดี่ยว ซ.สุขุมวิท 77 ขนาด 100 ยูนิต มูลค่า 3,000 ล้านบาท และโครงการโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ และในแถบภาคใต้ มูลค่ารวมราว 1,000 ล้านบาท โดยในส่วนของโรงแรมนั้น อาจจะเป็นไปได้ทั้งการซื้อโรงแรมที่มีอยู่หรือสร้างเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจา คาดว่าปีนี้คงได้เห็นสัก 1-2 ดีล

นอกจากนี้ก็มีการตั้งงบไว้ 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินในปีนี้ ภายใต้นโยบายสำคัญคือ เน้นการลงทุนพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพ และมีการศึกษาเรื่องตลาดกลุ่มเป้าหมายและการได้รับผลตอบแทนอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อการเติบโตและมีผลกำไรอย่างยั่งยืน โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นแนวสูงหรือแนวราบ อาจเจาะกลุ่มตลาดที่หลากหลายซึ่งขึ้นอยู่กับทำเล

โครงการเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่า เป็นการปรับตำแหน่งขายทางการตลาดที่ชัดเจน ซึ่งยืนอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงทางธุรกิจ และมีความพยายามที่จะลดความเสี่ยงลง การร่วมโปรเจ็กต์กับพันธมิตรในบางโครงการ เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่ดีกว่าในการเติบโต และความรวดเร็วในการเปิดโครงการ อีกทั้งยังง่ายในเรื่องของเงินทุน

อนาคตของ N-PARK ที่ราคาหุ้นปัจจุบันต่ำติดพื้น น่าจะสดใสเช่นเดียวกับฟ้าหลังฝนได้ หลังการเพิ่มทุน หากผู้บริหารมีความตั้งใจจริง

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น