JASกำไร2.2หมื่นล. ตัดขายสินทรัพย์ เข้า“อินฟราฟันด์”
ข่าวหน้าหนึ่ง วันอังคารที่ 07 ตุลาคม 2557ผู้เข้าชม : 13 คน
JAS ยิ้มหลัง IFA ประเมินบันทึกกำไรจากขายสินทรัพย์ เช่าสินทรัพย์และซื้อหน่วยลงทุน 14,500-22,000 ล้านบาท ส่วนคดีความไม่เป็นอุปสรรคในการตั้งกองทุนฯ โบรกฯ ประเมินไตรมาส 3/57 กำไร 893 ล้านบาท แนะนำซื้อ เป้าหมาย 8.15 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริษัท เจวีเอส ที่ปรึกษาทางการเงิน จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้จัดทำรายงานความเห็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเกี่ยวกับรายการจำหน่ายไปและได้มาซึ่งสินทรัพย์สำหรับ JAS โดยมีความเห็นว่า มูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทที่จำหน่ายให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมินโกรท หรือ JASGIF ครั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่า มีมูลค่ายุติธรรมทางการเงินประมาณ 48,284-54,956 ล้านบาท ตามมูลค่าธุรกรรมขายสินทรัพย์หรือประมาณ 33,994-37,733 ล้านบาท ตามมูลค่าธุรกรรมเช่าสินทรัพย์
ขณะเดียวกันตามที่บริษัทคาดว่าจะมีมูลค่าจำหน่ายสินทรัพย์ประมาณ 55,000-70,000 ล้านบาทนั้น มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าธุรกรรมขายสินทรัพย์และธุรกรรมการเช่าสินทรัพย์ทั้ง 2 รายการ ทั้งนี้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่ามูลค่า 43,000 ล้านบาทเป็นมูลค่าขั้นต่ำสุดที่เหมาะสมสำหรับรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ครั้งนี้
โดยหลังเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนกองทุนรวมฯ ประมาณ 33.33% หรือ สัดส่วน 1 ใน 3 แล้ว หรือเป็นเงินลงทุนประมาณ 18,333-23,333 ล้านบาทแล้ว (คำนวณจากการระดมทุนในการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมฯประมาณ 55,000-70,000 ล้านบาท) โดยจะบันทึกกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ประมาณ 14,500-22,000 ล้านบาท ทั้งนี้การบันทึกกำไรทางบัญชีจะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
ส่วนข้อเสียและปัจจัยความเสี่ยง โดยบริษัทมีภาระการชำระค่าเช่าสินทรัพย์ให้กองทุนรวมฯ ในอนาคต และมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดการชำระค่าเช่าสินทรัพย์ในอนาคต รวมทั้งบริษัทต้องเสียภาษีจากกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์จำนวนสูงช่วง 1-2 ปีแรก และภาระค่าเช่าสินทรัพย์ที่ต้องชำระให้แก่กองทุนรวมฯอาจมีสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของเงินลงทุนของบริษัทในอนาคต
สำหรับคดีความที่สำคัญที่เกี่ยวกับรายการจำหน่ายไปและได้มาซึ่งสินทรัพย์ของ JAS เนื่องมาจากการเข้าทำธุรกรรมกับ JASGIF นั้น กรณีศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ มีความเห็นเช่นเดียวกับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายที่ให้ความเห็นว่า บริษัทจะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดหรือไม่และเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับว่ามีเจ้าหนี้มาแสดงตนและแสดงสิทธิของตนจนบริษัทเชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้ตามจำนวนที่กล่าวอ้างแล้วหรือไม่เท่านั้น หากมีข้อโต้แย้งไม่เห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าในประเด็นใดๆ เป็นกรณีที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาเพื่อหาข้อยุติกันในศาลแพ่งต่อไป
นอกจากนี้บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTT BB จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค.48 ดังนั้นสินทรัพย์ธุรกิจ บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตบริษัทและบริษัทย่อย คือ TTT BB เกิดขึ้นภายหลังแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทจึงมีความเสี่ยงต่ำที่จะมีสินทรัพย์บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนฟื้นฟูกิจการ ตามสินทรัพย์ตามรายการที่จะจำหน่ายให้กองทุนรวมฯ ยกเว้นการเรียกร้องให้บริษัทชำระหนี้เพิ่มเติมจากการที่สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อบริษัทในฐานะลูกหนี้จะกลับไปเป็นเช่นเดิมดังที่เป็นอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการดังกล่าว
ส่วนกรณีพิพาทระหว่าง บริษัท ทีที แอนด์ ที จำกัด (มหาชน) หรือ TT&T และ บริษัท อคิวเมนท์ จำกัด หรือ ACU และการยื่นร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของ TT&T นั้น ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นเช่นเดียวกับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย โดยที่ไม่ว่าผลของคดีจะเป็นประการใด คำพิพากษาของศาลในภายหลังไม่มีผลกระทบถึงความสมบูรณ์ของธุรกรรมการโอนและการเช่าทรัพย์สินที่ได้ดำเนินการไปแล้วระหว่างบริษัทและบริษัทย่อย และกองทุนรวมฯ แต่อย่างใด โดยบริษัทและบริษัทย่อยยังคงมีหน้าที่ผูกพันต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับกองทุนรวมฯทุกประการ
กรณี TT&T ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาคดีที่ TT&T เป็นโจทก์ฟ้อง TTT BB ฐานผิดสัญญา เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้บริษัทโอนทรัพย์สินของบริษัทให้แก่กองทุนรวมฯ นั้น ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นเช่นเดียวกับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายเรื่องการบังคับคดีที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ของบริษัท TTT BB นอกจากนี้จำนวนหนี้ที่ TT&T ฟ้องให้ TTT BB ชำระในคดีนี้เป็นจำนวนเงินประมาณ 228 ล้านบาทนั้น เป็นเงินจำนวนที่ไม่สูงมากหากเปรียบเทียบกระแสเงินสดและทรัพย์สินทั้งหมดของTTT BB ปัจจุบันสะท้อนความสามารถ TTT BB ในการจัดการปัญหาการชำระมูลหนี้จำนวนนี้ปัจจุบัน
บริษัทหลักทรัพย์เคเคเทรด จำกัด ประเมินว่า ไตรมาส 3/57 ธุรกิจปกติจะมีกำไร 893 ล้านบาท ใกล้เคียงไตรมาส 2/57 และเพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาส 3/56 ทำสถิติสูงสุดใหม่ ผลจากปัจจัยบวกจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาส 3/56 และ 4% จากไตรมาส 2/57 เป็น 1.6 ล้านราย
การระดมทุนด้วยการขายสินทรัพย์เพื่อจัดตั้ง IFF มูลค่าราว 55,000-70,000 ล้านบาท ทำให้ JAS มีเงินทุนก้อนใหญ่รองรับการทำตลาดเชิงรุกและมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดด จากสมมติฐานกรณีดีสุด คาดว่าจำนวนลูกค้ารายใหม่ JAS จะเพิ่มเท่าตัวในปี 2560 และคาดว่า JAS จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจากปัจจุบันที่ 33% เป็น 38% ในปี 2561 แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 8.15 บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น