วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

BLA ได้ขึ้นเครื่องหมาย XD เป็นวันแรก เพราะเป็นวันที่ผู้เข้าซื้อหุ้นวันนี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินปันผลที่จ่ายในงวดกลางปี


เรื่องของตัวเลข

คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 09 ตุลาคม 2557
ผู้เข้าชม : 7 คน

เมื่อวานนี้ บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA ได้ขึ้นเครื่องหมาย XD เป็นวันแรก เพราะเป็นวันที่ผู้เข้าซื้อหุ้นวันนี้จะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินปันผลที่จ่ายในงวดกลางปี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปตามสูตรเดิมคือ ราคาหุ้นร่วงไป แต่ปรากฏว่า ราคาที่ร่วงไปมี 2 ราคา คือราคาตลาดที่ซื้อขายตามปกติ (ซึ่งยังไม่ได้ปรับปรุงตามสูตรคำนวณมูลค่า) กับราคาที่ปรับปรุงแล้ว (ซึ่งอย่างหลังนี้ปรากฏบนกระดานหุ้นของบิสนิวส์ รอยเตอร์)
ราคาที่ยังไม่ได้ปรับปรุง มีการลดลงไปถึง 26.50 บาท  หรือ 30% ซึ่งนักลงทุนเรียกกันง่ายๆ ว่า ติดฟลอร์
ส่วนราคาที่ปรับปรุงแล้ว ปรากฏว่าลดลงไปแค่ 1.79 บาท หรือ 2.90%
ตัวเลขที่ห่างกันเป็นโยชน์เช่นนี้ ขึ้นกับว่าจะมีมุมมองอย่างไร
โดยข้อเท็จจริง BLA ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.45 บาท/หุ้น ประกอบด้วยปันผลเป็นเงินสด 0.05 บาท/หุ้น และจ่ายหุ้นปันผลในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นปันผล ซึ่งในทางปฏิบัติคือการเพิ่มทุนเพื่อรักษาเงินสดในบริษัทเอาไว้นั่นเอง โดยเงินสดที่จ่ายก็เพื่อเสียภาษีเท่านั้น
ตามสูตรของการเพิ่มทุนมาจ่ายปันผลเป็นหุ้นนั้น ราคาหุ้นก็คือต้องถอยร่นจาก dilution effect ตามปกติ ซึ่งหากจะว่าไปตามทฤษฎีแล้ว การเพิ่มทุนมากถึง 40% จากจำนวนหุ้นที่มีอยู่เดิม ก็น่าจะทำให้ราคาหุ้นร่วงลงไปที่ประมาณ 40% หรือต่ำกว่านั้นเล็กน้อย
การร่วงลงหลังจากขึ้นเครื่องหมาย XD เพียงแค่ 30% ถือว่า ผู้ถือหุ้นที่ได้รับปันผล ยังได้รับประโยชน์จากการถือหุ้นเก่าและใหม่พร้อมกันไป ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดหวั่นอะไรมากนัก เพราะหากคำนวณผลได้เสียหักกลบกันแล้ว ก็ยังพอมีกำไรติดปลายนวม ตามธรรมเนียมเหลืออยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย เพียงแต่อาจจะผิดคาดกันไปบ้างว่าไม่น่าจะทำให้ราคาร่วงแรงขนาดนี้ โดยดูจากประสบการณ์เก่าๆ ของบริษัทที่จ่ายปันผลเป็นหุ้นก่อนหน้า เช่น กรณีของ CPALL หรือ HMPRO เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายสำนัก เคยประเมินกันเอาไว้แล้วว่า หลังจากขึ้นเครื่องหมาย XD ราคาหุ้นของ BLA น่าจะร่วงลงไปจากระดับ 86 บาทมาอยู่ที่ระดับ 64 บาท โดยอ้างถึงปัญหาการเพิ่มทุนและจำนวนหุ้นที่เข้ามามากเป็นพิเศษ แต่ราคาหุ้นก็ตกลงไปจริง มากเกินคาด
ภายใต้สมมติฐานของนักวิเคราะห์ พวกเขาระบุคล้ายกันว่า การจ่ายปันผลเป็นหุ้นของ VLA มีรากฐานที่ไม่ปกติ เพราะโมเดลการรุกตลาดของ BLA ซึ่งอาศัยเครือข่ายของ ธนาคารกรุงเทพจำกัด จนสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งทางธุรกิจประกันชีวิตกลายเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจ แซงหน้ากลุ่ม AIA ของสหรัฐฯที่ครองแชมป์มายาวนานนั้น มีลักษณะเหมือน  “งูกลืนหางตัวเอง”  ที่ทำให้มีกำไรลดลง
ในครึ่งแรกของปีนี้ BLA มีเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรกรวมทุกประเภท สูงถึงถึง 37 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 64% จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์  ซึ่งเป็นประกันที่ขายค่อนข้างง่าย แต่ให้ผลตอบแทนต่ำ และจำเป็นที่จะตั้งสำรองสูงติดตามมา ยังผลทำให้ BLA มีผลขาดทุนจากการรับประกันเพิ่มขึ้น และมีกำไรสุทธิลดลง
ผลพวงของกำไรที่ลดลงนี้ ทำให้ราคาหุ้นร่วงแรงมาแล้วครึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะรีบาวด์กลับไป ก่อนที่จะร่วงอีกครั้งหลังจากกรรมการบริษัทตัดสินใจจ่ายปันผลเป็นหุ้น ควบเงินสด
ตามหลักการแล้ว การจ่ายปันผลเป็นหุ้น มีไว้เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต แต่การเพิ่มทุนเพื่อเอามาจ่ายปันผลเป็นหุ้นนั้น จะต้องมีผลทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ยิ่งเพิ่มมากเท่าใด โอกาสที่ราคาหุ้นจะต้องปรับฐานเพราะเกิด dilution effect ตามมาโดยปริยาย แม้ข้อดีจะทำให้ฐานเงินกองทุนแข็งแกร่งขึ้น
ตามความเห็นของนักวิเคราะห์แล้ว ทางเลือกที่ผู้บริหารของ BLA จะต้องกระทำในอนาคตคือ การหันไปเน้นขายประกันในรูปแบบอื่นที่มีผลตอบแทนสูงแทน ซึ่งจะทำให้ขายยากขึ้น และส่งผลให้การเติบโตของเบี้ยประกันสูงๆ เหมือนในครึ่งแรกของปีนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก มุมมองดังกล่าวจึงเป็นปฐมเหตุของการที่ราคาหุ้นร่วงค่อนข้างหนักเพราะพ่วงเอาการคาดเดาทางลบต่ออนาคตของบริษัทติดตามมาด้วยโดยไม่จำเป็น
ความเห็นของนักวิเคราะห์แม้จะไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด สามารถจะแก้ไขได้ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสื่อสารให้นักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัททราบข้อเท็จจริงเพื่อรับมือล่วงหน้า แต่ผู้บริหารของ BLA ก็ไม่ยอมกระทำ หรือกระทำแบบเสียไม่ได้
ปัญหาระหว่างตัวเลขที่เกิดจากการปรับปรุงแล้ว กับตัวเลขที่ยังไม่ได้ปรับปรุง จึงไม่ใช่ปัญหาในตัวเองของตัวเลข แต่เป็นผลสืบเนื่องของความล้มเหลวในการสื่อสารระหว่างผู้บริหารบริษัท กับตลาด ซึ่งจะต้องปรับปรุงและถือเป็นบทเรียนสำหรับบริษัทอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น