บจ.กำไรทรุดต่ำสุดรอบ5ปี เหลือ3%-ส่องหุ้น4กลุ่มเสี่ยง
บจ.กำไรทรุดต่ำสุดรอบ5ปี เหลือ3%-ส่องหุ้น4กลุ่มเสี่ยง
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
โบรกฯคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้เติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปีเหลือแค่ 3% เท่ากับปี 2554 ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ชี้แนวโน้มกำไร บจ.ไทยลดลงต่อเนื่อง หลายอุตสาหกรรมเริ่มอิ่มตัว ต้องวิ่งไปหาตลาดต่างประเทศ ขณะที่หลายธุรกิจโดนปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจโลกฉุดความสามารถการทำกำไร ทรุด เผย 4 กลุ่มธุรกิจที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนช่วงนี้
กำไร บจ.ปีนี้ต่ำสุดในรอบ 5 ปี
นาย อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิรวมประมาณ 7.9 แสนล้านบาท หรือเติบโตเพียง 3% จากปีก่อนที่ทำได้ 776,900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้มีโอกาสต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยมีอัตราการเติบโตเท่ากับในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่จนทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ประสบปัญหาอย่างหนัก
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการเติบโตกำไรของ บริษัทจดทะเบียนปีนี้ลดลงมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อและกินช่วงระยะเวลาเกือบครึ่ง ปีแรก ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอการเติบโตน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น แม้ปัญหาความวุ่นวายจะเริ่มทุเลาเบาบางไปบ้างแล้ว แต่การบริโภคภายในประเทศก็ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน หลังกำลังซื้อประชาชนยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ขณะที่ภาค การส่งออกที่เคยเป็นแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยปีนี้ก็กลับยังไม่ค่อยสด ใสมากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าที่สำคัญอย่าง กลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ยังมีเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทำให้สินค้าคอมโมดิตี้และสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย อาทิ ยางพารา ข้าว ปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดัน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กำไรของบริษัทจด ทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของกำไรบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ลุ้นไตรมาส 4 ช่วยประคอง
นาย อภิชาติกล่าวต่อว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 3/2557 จากภาวะที่กำลังซื้อยังชะลอตัวอยู่ คาดว่าจะทำให้กำไรสุทธิลดลงจากไตรมาส 2/2557 ที่มีมูลค่าประมาณ 1.94 แสนล้านบาท และทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขกำไรในไตรมาสแรกอยู่ที่ 2.24
อย่างไรก็ตามประเมินว่าใน ช่วงไตรมาส 4/2557 แนวโน้มกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนมีทิศทางที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของหลายกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและ กลุ่มพาณิชย์ ที่ได้รับอานิสงส์จากฤดูการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่า ไตรมาสอื่น ๆ ประกอบกับคาดว่าจะเริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐเริ่ม ออกมามากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตกว่าทั้งไตรมาส 3 และช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ได้คาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทจด ทะเบียนในปี 2558 ว่าจะกลับมาเติบโตในอัตราที่ประมาณ 16% จากปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากฐานการเติบโตของกำไรที่ต่ำในปีนี้ ประกอบกับคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาด ว่าจะเริ่มเบิกจ่ายเต็มที่ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งจะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนได้รับอานิสงส์ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ดีขึ้นกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น และหนุนความสามารถการทำกำไรของผู้ประกอบการพลิกกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ
จาก ข้อมูลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2553 อยู่ที่ 575,927 ล้านบาท เติบโต 43% ปี 2554 อยู่ที่ 591,405 ล้านบาทเติบโต 3% ปี 2555 กำไรสุทธิ 710,114 ล้านบาท เติบโต 20% และปี 2556 กำไรสุทธิ 776,900 ล้านบาท เติบโต 9%
เทรนด์กำไร บจ.โตลดต่อเนื่อง
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากฐานกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันที่ถือว่าใหญ่มากแล้ว และเริ่มอิ่มตัวในหลายอุตสาหกรรม ขณะที่ปีนี้หลายธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากภาวะปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากดดันเศรษฐกิจทั้งปัญหาการเมืองและภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว ซึ่งกระทบความสามารถการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยลดต่ำลง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการแต่ละบริษัทต้องเร่งปรับตัวและขยายฐานธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น ด้วยการออกไปหาตลาดในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายฐานดีกว่าการจมอยู่กับที่เก่า นอกจากนี้อยากเสนอให้ภาครัฐควรขจัดอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อความสามารถทำกำไร ของบริษัทไทยมากขึ้น
โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ข้อบังคับและกฎหมายต่าง ๆ บางตัวที่ยังไม่เอื้ออำนวยมากเท่าที่ควร ซึ่งทำให้บริษัทของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับบริษัทจากต่างประเทศ
"ปัจจุบัน อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และนโยบายทิศทางการบริหารประเทศที่ไม่ต่อเนื่องและชัดเจน โดยนโยบายภาครัฐช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยต่อเนื่องมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมาก แตกต่างจากประเทศใกล้เคียงที่มีเสถียรภาพมากกว่า นอกจากนี้ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนไทยยังมีการวิจัยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ในอนาคตหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขจะทำให้อัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจด ทะเบียนไทยค่อย ๆ ถดถอยลง" ดร.ก้องเกียรติกล่าว
แนะเปิดตลาดต่างประเทศ
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ความสามารถการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับตัว ลดลง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน อาทิ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้นักลงทุนจะไม่ได้ย้ายฐานการผลิตเดิมที่มีอยู่ในประเทศไทยออกไป แต่ก็ไม่มีการเพิ่มเครื่องจักรหรือป้อนผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆสู่ฐานการ ผลิตในไทยมากนัก ซึ่งถือเป็นการลดการเติบโตของกำลังการผลิตในไทยและส่งผลให้ความสามารถการทำ กำไรของผู้ประกอบการไทยลดต่ำลง หรือเติบโตในอัตราที่คงที่
อย่างไรก็ ตาม อยากให้ผู้ประกอบการไทยมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ซึ่งหากตลาดในประเทศเริ่มเติบโตไม่ได้ หรืออิ่มตัวแล้ว ก็ควรออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็น CEO บริษัทจดทะเบียน 77 บริษัท ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ซึ่งร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ยังสะท้อนประเด็นที่ต้องการให้ภาครัฐปฏิรูปเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจไทยที่ควร เร่งดำเนินการ อันดับแรก ได้แก่ การปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐให้มีความคล่องตัวและรับกับการเปลี่ยนแปลง อันดับสอง คือ การส่งเสริมนวัตกรรม R&D เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอันดับ 3 คือ การส่งเสริมการพัฒนาระยะยาวผ่านการระดมทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ชี้กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงลงทุน
ด้าน นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิรวมราว 4.26 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47.88% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2557 ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าจะอยู่ที่ 8.74 แสนล้านบาท ดังนั้นหากจะให้ได้ตามที่คาดการณ์ ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องเติบโตจากช่วงครึ่งปีแรกในอัตราที่ไม่ น้อยกว่า 8.87% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดด
แต่จาก สถิติในอดีตพบว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 มักจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 2 ในอัตราที่แรงกว่า เนื่องจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น ประกอบกับสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบทั้งจากดอลลาร์แข็งค่า และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะต้องบันทึกขาดทุนสต๊อกสินค้ามากขึ้น
นาย ประกิตยอมรับว่า มีโอกาสที่ฝ่ายวิจัยจะปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนลงจากเดิม หากผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ไม่สดใส โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มท่องเที่ยวกลุ่มค้าปลีก และกลุ่มส่งออก เป็นต้น
โดยกลุ่มธุรกิจ ที่คาดว่าผลประกอบการจะชะลอตัวในช่วงไตรมาส 3 และควรหลีกเลี่ยงในการลงทุน ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตร-ยางพารา ซึ่งได้รับผลกระทบสถานการณ์ราคายางโลกยังอยู่ในช่วงขาลง 2.กลุ่มพลังงานและโรงกลั่น ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 3.กลุ่ม สายการบิน ที่ยังมีความเสี่ยงเผชิญขาดทุนเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และ 4.กลุ่มค้าปลีก ซึ่งปกติไตรมาส 3 จะเป็นโลว์ซีซั่น และปีนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคยังค่อนข้างระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ ยังอยู่ในระดับสูง
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ไตรมาส 3/2557 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบจากไตรมาส 2 และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3 ปีนี้ที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ประมาณ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับการขาดทุนจากการสำรองน้ำมัน และฉุดค่าการกลั่นในงวดดังกล่าวให้ปรับลดลงตามลำดับ
นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่ยังมีทิศทางที่ชะลอตัวลง ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง ทำให้ราคาสินค้าพลาสติกและโพลีเมอร์ได้รับผลกระทบไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น