วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตลาดหุ้นน่าจะผันผวนต่อไป

ตลาดหุ้นน่าจะผันผวนต่อไปในสัปดาห์นี้

ต่างประเทศ วันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2557 
ผู้เข้าชม : 2 คน 

บิสิเนสไทม์ - ราคาน้ำมันที่ลดลง ข้อมูลที่ซบเซาของยูโรโซน และนโยบายดอกเบี้ยของเฟด เพิ่มความวิตกให้นักลงทุน ตลาดหุ้นน่าจะผันผวนต่อไปในสัปดาห์นี้  นอกเสียจากว่าผลกำไรของธนาคารหรือยอดขายปลีกสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นสหรัฐประสบกับความผันผวนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 เนื่องจากเทรดเดอร์พากันเข้าๆ ออกๆ ตลาด ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และอนาคตของความรุ่งเรืองของน้ำมันชั้นหินในสหรัฐ
ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเกือบ 272 จุด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเพียงเพื่อที่จะดีดตัวขึ้น 274 จุดในวันพุธ ซึ่งเป็นการดีดตัวเป็นจุดมากสุดของดาวโจนส์ในปีนี้   จากนั้นดัชนีก็ปรับตัวลง 335 จุดโดยทันทีในวันพฤหัสฯ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากสุดในปีนี้ โดยสรุปแล้ว ดาวโจนส์มีการเคลื่อนไหวมากกว่า 1,000 จุดใน 5 วัน นั่นถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวมากสุดในประวัติศาสตร์ของดาวโจนส์
ความผันผวนของตลาดหุ้นกระจุกตัวอยู่ในภาคพลังงานซึ่งมีแรงเทขายอย่างหนักนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2551  องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ไม่ได้ส่งสัญญาณที่จะลดการผลิตแม้ว่าซัพพลายน้ำมันในสหรัฐเพิ่มขึ้น  ในขณะนี้ราคาน้ำมันดิบต่ำระดับที่พุ่งสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมมากกว่า 20%
กลุ่มบริษัทที่ให้บริการในอุตสาหกรรมน้ำมันเจอแรงเทขายรุนแรงกว่านั้น  บริษัทเหล่านี้สร้างแท่นขุดเจาะที่บริษัทน้ำมันได้ซื้ออย่างเสรีในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งสามารถทำเงินจากการเปิดแหล่งน้ำมันชั้นหินในเท็กซัส นอร์ท ดาโกต้า  ไอไฮโอ และเพนซิลวาเนีย
เนื่องจากราคาน้ำมันใกล้ระดับที่บริษัทขุดเจาะจะถึงจุดคุ้มทุน เนื่องจากต้องใช้เทคนิคแยกน้ำมันที่มีราคาแพง  จึงมีความวิตกว่าบริษัทน้ำมันจะชะลอการซื้ออุปกรณ์หรือหยุดกิจกรรมในการขุดเจาะน้ำมันทั้งหมด
นับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม กองทุนอีทีเอฟมาร์เก็ต เวคเตอร์ส ออย เซอร์วิส ซึ่งเป็นตะกร้าซัพพลายเออร์แหล่งน้ำมัน ปรับตัวลงมากกว่า 20%  ส่วนบริษัท ฮาลลิเบอร์ตันก็ได้ปรับตัวลงเป็นจุดมากสุดนับตั้งแต่ปี 2554 เมื่อวันศุกร์
ลอเรนโซ ดิ แมตเทีย ผู้จัดการกองทุน ซิบิลลา โกลบัล ฟันด์ กล่าวว่า พฤติกรรมของหุ้นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับน้ำมัน ชี้ว่าเทรดเดอร์รายใหญ่ได้ตกที่นั่งลำบากและถูกบีบให้เทขาย  นอกจากนี้ นักลงทุนจำนวนมากไม่ทันระวังที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ เนื่องจากมีปฏิกิริยาต่อแผนการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐ
ชนวนอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นพลังงานในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือข้อมูลจากยูโรโซนซบเซาอย่างน่าประหลาดใจ  เยอรมนีรายงานว่า กิจกรรมในภาคการผลิตลดลงและการส่งออกชะลอตัวลงในเวลาเดียวกัน นี่ชี้ว่าโรคเส้นโลหิตตีบที่ได้ลุกลามจากระบบการเงินของยูโรโซนไปยังประเทศเล็กๆ ได้ลามไปถึงหัวใจของเศรษฐกิจยุโรปหรือเยอรมันแล้ว
ในสัปดาห์นี้ข้อมูลในภาคผลิตของจีนอาจทำให้เกิดความวิตกในแบบเดียวกัน ส่วนในสหรัฐ นักลงทุนอาจจะพบว่ามีความสดใสอยู่ในการปรับตัวลงของน้ำมันเมื่อกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขยอดขายปลีกของเดือนกันยายน   นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่ายอดขายปลีกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  อย่างไรก็ดี ข้อมูลสหรัฐในช่วงหลังๆ มานี้ได้ดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้
สำหรับผู้สังเกตการณ์บางคน แรงเทขายของตลาดหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุผลมากกว่าการดีดตัวในก่อนหน้านี้ พวกเขาบอกว่าในระยะสั้น แนวโน้มมีแต่แพ้กับแพ้  ไม่ว่ายูโรโซนและจีนจะมีการชะลอตัว หรือหากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงบูมต่อไป อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้นและความรุ่งเรืองในก่อนหน้านี้ก็จะมลายหายไป
รายงานของดิ แมตเทีย ที่ทำให้กับลูกค้าระบุว่า เหตุผลที่ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องเลื่อนการเข้มงวดนโยบายมากกว่าหนึ่งหรือสองเดือนเป็นเพราะเงื่อนไขเดียวคือ เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก ซึ่งจะทำให้กำไรลดลงและสินทรัพย์เสี่ยงปรับฐานมาก  พูดง่ายๆ ก็คือ การเข้มงวดนโยบายทำให้เกิดปัญหา ในขณะที่การไม่เข้มงวดนโยบายจะเป็นผลให้เกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่งตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น