5 เทรนด์เปลี่ยนโลกในทศวรรษหน้า และธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงค์จาก Mega Trends

จอห์น แนสบิตต์ (John Naisbitt) นักอนาคตศาสตร์และนักวิเคราะห์ชื่อดังชาวสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ว่า The Most Reliable Way to Forecast The Future is To Try Understand The Present. หรือพูดง่ายๆ คือ วิธีที่จะคาดการณ์อนาคตอย่างแม่นยำ คือ การพยายามเข้าใจปัจจุบันให้ได้

เขาได้นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง 5 คนของ Price Waterhouse Cooper (PwC) บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำระดับโลก ซึ่งเผยแพร่ในรายงาน PwC Global Annual Review 2013 เกี่ยวกับวิสัยทัศน์และมุมมองของ Maga Trends ที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้ามาให้เผยแพร่เราได้ทราบกัน
แม้จะดูเหมือนเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว แต่หลายประเด็นเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงและเห็นผลกระทบบ้างแล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพโอกาสทางธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นผมจะยกตัวอย่างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงค์จาก Mega Trends ดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย

ชื่อ:  1378115_853225784687670_4185116025543701762_n.png
ครั้ง: 9746
ขนาด:  230.9 กิโลไบต์

::::::::::::::::::

เทรนด์ที่1: การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic Shifts)
หลังสิ้นสุดยุค Baby Boom ในช่วงปี 1965-1970 ประกอบกับวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาส่งผลให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของครอบครัวจากครอบครัวที่มีขนาดใหญ่เปลี่ยนไปสู่ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รวมถึงการแต่งงานมีครอบครัวและมีบุตรมีแนวโน้มลดลงจึงทำให้สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ขณะเดียวกันสัดส่วนประชากรวัยแรงงานก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทั้งการผลิตและการบริโภค ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2050 สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21 ของประชากรโลก สูงกว่าปัจจุบันที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 10 ของประชากรโลก
ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ บริการ ดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาล อาหารเพื่อสุขภาพ / อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เครื่องจักร / หุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนแรงงาน

::::::::::::::::::

เทรน์ที่2: การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลก (Shift in Global Economic Power)
จากเดิมที่เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะกลุ่ม G7 (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี และแคนาดา) แต่ขั้วอำนาจของเศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่อาทิ กลุ่มประเทศ E7 (จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย อินโดนีเซีย แม็กซิโก และตุรกี) ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวยังมีทรัพยากรสมบูรณ์และมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจได้อีกมาก ทั้งการค้า การลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับจำนวนประชากรมหาศาลและมีระดับรายได้ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย
ในปี 2009 GDP ของกลุ่มประเทศ E7 มีขนาดราวสองในสามของ GDP ของกลุ่มประเทศ G7 แต่คาดว่าในปี 2050 GDP ของกลุ่มประเทศ E7 จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของ GDP ของกลุ่ม G7 ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตและแหล่งแรงงานราคาถูก ก้าวไปสู่การเป็นตลาดบริโภคแห่งใหม่ของโลก
ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ธุรกิจส่งออกที่ปรับสินค้าให้สอดคล้องกับรสนิยมการบริโภคของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม E7 ซึ่งแต่ละประเทศมีรสนิยมและวัฒนธรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน รวมถึงธุรกิจที่เติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ อาทิ สินค้าฟุ่มเฟือย บริการสุขภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

::::::::::::::::::

เทรนด์ที่3: การเติบโตของสังคมเมือง (Accelerating Urbanisation)
ปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง แต่หากย้อนหลังไปในปี 1950 จะพบว่ามีเพียงร้อยละ 30 ของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมือง เนื่องด้วยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ส่งผลให้วิถีชีวิตของประชากรในเมืองมีความสะดวกสบายมากขึ้น อาทิ ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค อาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย
ประชากรที่เคยอาศัยอยู่ในชนบทก็เริ่มย้ายเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น เพื่อแสวงหารายได้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ขณะเดียวกันนโยบายของหลายประเทศที่มุ่งกระจายรายได้และการพัฒนาไปสู่ชนบทมากขึ้น ช่วยยกระดับและพัฒนาสังคมชนบทไปสู่การเป็นสังคมเมือง ทำให้คาดว่าในปี 2050 สัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะสูงถึงร้อยละ 72 โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ (Sub-Saharan Africa) และเอเชีย ที่สังคมเมืองเริ่มมีแนวโน้มพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว
ข้อสังเกต: แต่ละประเทศมีนิยามของ “สังคมเมือง” ที่แตกต่างกันออกไป (สามารถดูเพิ่มเติมได้จากรายงาน World Urbanization Prospects 2011 Revision, UN) แต่ภาพรวมจะพิจารณาจากจำนวนประชากร ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งอำนวยความสะดวกธุรกิจที่คาดว่าจะได้ประโยชน์: ธุรกิจก่อสร้าง / วัสดุก่อสร้าง พลังงาน โทรคมนาคม / อินเทอร์เน็ต อาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้า / เครื่องประดับ รถยนต์

::::::::::::::::::

เทรนด์ที่4: การลดลงของทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ (Resource Scarcity and Climate Change)
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกส่งผลให้การบริโภคทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะการใช้พลังงาน ทั้งจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการบริโภคน้ำและอาหาร ที่นับวันทรัพยากรดังกล่าวมีแต่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริโภคทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ มลภาวะที่เกิดจากการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ขยะและของเหลือใช้ที่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์จากรถยนต์
ทั้งนี้ การประเมินว่าหากรูปแบบการบริโภคทรัพยากรยังเป็นดังเช่นปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศของโลกและทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้ร 0.5-1.5 องศาเซลเซียสในอีก 20 ปี ข้างหน้า ตลอดจนยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ อาทิ ฝนแล้ง น้ำท่วม และการเปลี่ยนแปลงของระดับความเข้มข้นในน้ำทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการเกษตรและการผลิตอาหารของโลก
ดังนั้นทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงในภาคธุรกิจที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อลดหรือชะลอผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์: ธุรกิจสีเขียว (ธุรกิจที่ใช้วัสดุหรือมีกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือควบคุมการปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม) บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ พลังงานทางเลือก เกษตร / อาหารอินทรีย์ รีไซเคิลขยะและของเสีย ที่ปรึกษาและออกแบบการผลิตโรงงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริการวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

::::::::::::::::::

เทรนด์ที่5: ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี (Technological Breakthroughs)
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปอย่างมากจากในอดีตทั้งรูปแบบวิถีชีวิต รวมถึงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการภายในกิจการ
นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ได้ง่ายในเพียงชั่วข้ามคืน อาทิ ธุรกิจออนไลน์ โดยอาศัยประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก่อให้เกิดสังคมเครือข่ายออนไลน์ (Social Network) แพร่หลายดังเช่นในทุกวันนี้ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดของระยะทาง ทำให้สามารถทำตลาดได้อย่างไร้ขอบเขต
ทั้งนี้ปัจจุบันประชากรโลกมีอุปกรณ์สื่อสารมากกว่า 1.84 เครื่องต่อคน เพิ่มขึ้นจาก 0.08 เครื่องต่อคนต่อในปี 2003 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.47 และ 6.58 เครื่องต่อคนในปี 2015 และปี 2020 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการที่เทคโนโลยีจะก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ธุรกิจในอนาคตจึงควรให้ความสำคัญกับการไขว่ค้วาโอกาสจากความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึงไม่พลาดที่จะติดตามทิศทางของเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคผ่านเทคโนโลยีสื่อสารต่างๆ ที่นับวันจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่างธุรกิจที่คาดว่าจะได้ประโยชน์: ธุรกิจออนไลน์ (ธุรกิจที่ทำตลาดหรือให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์) โทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสาร บริการคอนเท้นท์ออนไลน์ พัฒนาซอฟต์แวร์ / แอพพลิเคชั่น


::::::::::::::::::
เรื่องโดย : คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย
ที่มา : วารสาร Marketeer ฉบับเดือนสิงหาคม 2557
ขอบคุณ : Maruey Knowledge and Resource Center