วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หวั่นกระทบเคลื่อนย้ายทุน

หวั่นกระทบเคลื่อนย้ายทุน
การเมือง วันศุกร์ที่ 03 ตุลาคม 2557 


นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการเงิน การคลัง เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาประจำปี EIC Conference 2014: Thailand in Transformation กล่าวว่า มาตรการของภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งอัดฉีดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบจะเป็นแรงส่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 58 ขยายตัวได้ถึง 4.8% ตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ล่าสุดค่อนข้างแน่นอน

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศล่าสุดเป็นมาตรการที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการเบิกจ่ายของภาครัฐ รวมทั้งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบ ทั้งเงินช่วยเหลือชาวนา 4 หมื่นล้านบาท และงบไทยเข้มแข็ง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นการแก้ปัญหาของรัฐบาล

ส่วนประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าวจะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องดูผลที่ส่งผ่านไปยังภาคเอกชนว่าจะเกิดการลงทุนตามหรือไม่ เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจมากกว่าลงทุนภาครัฐ และเชื่อว่าผลจากมาตรการนี้จะเกิดต่อเศรษฐกิจในปี 58 ซึ่งความมั่นใจของภาคเอกชนจะช่วยให้มีการลงทุน และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการเติบโตตามที่คาดไว้

“ภาวะเศรษฐกิจในช่วงต่อไปมี 2 ประเด็นที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แม้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนในระยะนี้ก็ตาม เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างช้าๆ และไม่เสมอภาค ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนเนื่องจากการเคลื่อนย้ายทุน และสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนานๆ จะส่งผลกระทบต่อการออม เพราะคนจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป”

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ยังมีข้อเสนอแนะที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปใน 3 ด้าน คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนภาครัฐเข้าสู่ระบบเพื่อแก้ไขปัญหาตัวฉุดรั้งทั้งด้านแรงงานและโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการคมนาคม รวมไปถึงสนับสนุนการวิจัยพัฒนา เพราะหากไม่ดำเนินการก็จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

และจะต้องรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งต่อไป เพราะการที่ประเทศไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคเข้มแข็งทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราการจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทำให้แม้ประเทศไทยจะประสบปัญหาการเมืองแต่ก็ไม่มีผลกระทบรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างชาติให้ความสนใจ

ส่วนมาตรการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท และสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ไม่ใช่มาตรการประชานิยม เนื่องจากมีการจำกัดวงเงินไว้เพียง 4 หมื่นล้านบาทในระยะ 1 ปี ซึ่งไม่ส่งผลกระทบให้กลไกราคาตลาดบิดเบือน และเป็นการมุ่งเน้นช่วยเหลือชาวนาที่เป็นรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยมาตรการนี้เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น หลังจากนี้ควรจะมีมาตรการระยะยาวเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนด้วย

กรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติให้ ธปท.เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Bank) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและประสิทธิภาพขององค์กร ขณะนี้คงเร็วเกินไปที่จะพูดว่าจะมีการควบรวมกิจการหรือไม่ คงต้องรอให้มีการจัดทำแผนที่มีความชัดเจนก่อน โดยขั้นตอนต่อไปน่าจะมีการปรับแก้เรื่องกฎหมาย และตอนนี้ยังอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น