VGIวิ่งฉิวก่อนแตกพาร์
ฟรีโฟลตถูกใจรายย่อย
ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 09 สิงหาคม 2556ผู้เข้าชม : 112 คน
VGI ก่อนแตกพาร์ราคาหุ้นวิ่งฉิว ประเมินหลังแตกพาร์ราคาหุ้นถูกใจนักลงทุนรายย่อย สัดส่วนการปรับตัวขึ้นก็เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าเท่าตัว ด้าน MAKRO เอาบ้าง ขอแตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 0.50 บาท โชว์ไตรมาส 2 กำไร 959 ล้านบาท
นางศุภรานันท์ ตันวิรัช ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการเงิน บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เปิดเผยว่า บริษัทจะนำแผนการแตกพาร์ (split par) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องจากพาร์ 1 บาท เป็น 0.10 บาท เข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 กันยายน 2556 โดยจะมีการกำหนดขึ้นเครื่องหมายวันปิดสมุดทะเบียนไม่ได้สิทธิเข้าประชุม (XM) วันที่ 13 สิงหาคม 2556
สำหรับวัตถุประสงค์ของการแตกพาร์ เนื่องจากสภาพคล่องปัจจุบันถือว่ายังต่ำอยู่ แม้จะสูงกว่าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด โดยบริษัทมีสภาพคล่องอยู่ที่ 33.65% หรือคิดเป็น 111 ล้านหุ้น ถือว่ายังไม่เพียงพอ เนื่องจากนักลงทุนที่ถือหุ้นบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก
“ช่วงแรกที่เข้าตลาดหุ้นมามีนักลงทุนอยู่ 1.2 หมื่นราย แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 5 พันรายเท่านั้น เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากเกิน 100 บาท ซึ่งหากหุ้นมีการแตกพาร์ก็จะทำให้มีปริมาณสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น และทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถมีส่วนในการเข้าลงทุนหุ้นบริษัทได้ง่ายขึ้น และมีกำลังซื้อได้มากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของการแตกพาร์” นางศุภรานันท์ กล่าว
ปัจจุบันปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยของหุ้น VGI อยู่ที่ประมาณ 139 ล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา จนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวว่า ปกติหุ้นราคาที่เกิน 100 บาท มีการแตกพาร์ ส่วนใหญ่จะมีผลต่อราคาหุ้นก่อนที่จะแตกพาร์ โดยจะมีการดันราคาหุ้นขึ้นไปก่อนที่จะมีการแตกพาร์จริง และจะดันต่อหลังแตกพาร์ ยกตัวอย่างหุ้น VGI หากเทียบราคาที่ปัจจุบันที่ระดับ 130 บาทต่อหุ้น การปรับขึ้น 1 ช่อง จะปรับขึ้น 0.50 บาท หรือคิดเป็น 0.3%
หากภายหลังจากแตกพาร์จาก 1 บาท เป็น 0.10 บาท จะทำให้ราคาหุ้นหลังแตกพาร์อยู่ที่ 13 บาท การปรับขึ้น 1 ช่อง จะปรับขึ้น 0.10 บาท หรือคิดเป็น 0.70% ซึ่งทำให้หุ้นมีความคึกคักและปรับขึ้นก่อนแตกพาร์ และหลังแตกพาร์หุ้นจะปรับตัวขึ้นอีกในทางจิตวิทยา เพราะ 1 ช่องสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าก่อนแตกพาร์
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า การแตกพาร์จะเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น ลดความเสี่ยงจากสภาพคล่องและ WACC ดังนั้น ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2556 ของเราเพิ่มขึ้นเป็น 150 บาท จากเดิม 134 บาท
“เราชอบหุ้น VGI จากแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว ขณะที่การแตกพาร์จะลดความเสี่ยงจากสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นลงได้ ปัจจุบันระดับซื้อขายของหุ้น VGI อยู่ที่ PER ปี 2556/57 27 เท่า เทียบเท่ากับระดับ PEG ปี 2556/57 ที่ 0.5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นกลุ่มสื่อภายใต้การวิเคราะห์ของเราที่ 0.6 เท่าเพียงเล็กน้อย” บทวิเคราะห์ ระบุ
-MAKRO ขอแตกพาร์บ้าง
นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานบริหารการเงิน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2556 วันที่ 7 ส.ค. 56 มีมติอนุมัติการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นสามัญของบริษัทจากเดิมมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ให้เป็นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยการแตกหุ้นสามัญจำนวน 1 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ให้เป็นหุ้นสามัญจำนวน 20 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
และอนุมัติการแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นของบริษัท โดยทุนจดทะเบียนจำนวน 2,400 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นสามัญ 4,800 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท
รวมถึงมีมติกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2556 ในวันที่ 22 ส.ค. 56 (Record Date) และให้รวบรวมรายชื่อตามมาตรา 225 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นในวันที่ 23 ส.ค. 56 และกำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2556 ในวันที่ 20 ก.ย. 56 เวลา 15.00 น. ณ ห้องจตุรทิศ ชั้น 3 โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอรีน กรุงเทพฯ
นางเสาวลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/56 บริษัทมีกำไรสุทธิ 959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.7% เป็นผลมาจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น และการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราเดิม 23% มาอยู่ที่ 20% ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2556
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/56 บริษัทมีรายได้รวม 31,587 ล้านบาท เติบโต 13% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของยอดขายแม็คโครสาขาเดิม (same store sales growth) และยอดขายจาก 6 สาขาใหม่ (ณ สิ้นไตรมาส 2 มีแม็คโคร 61 สาขา เพิ่มขึ้นจาก 55 สาขา ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นกระจายในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งสินค้าอาหารสด อาหารแห้ง และสินค้าอุปโภคบริโภค ในระหว่างไตรมาสนี้ บริษัทมีการเปิดสาขาใหม่ 2 สาขา คือสาขาสตูล (สาขา 59) และสาขาตราด (สาขา 60) ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 56 และ วันที่ 15 พ.ค. 56
ขณะเดียวกันบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารเพิ่มขึ้น 19.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 6.3% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 6.7% ในไตรมาสนี้
นอกจากนี้ บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น 20.3% เนื่องมาจากการขยายสาขา การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน ซึ่งมีผลบังคับทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.ปีนี้ ประกอบกับอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นและการปรับขึ้นของค่าใช้จ่ายอื่นที่มีผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ค่ารักษาความปลอดภัย และค่าทำความสะอาด เป็นต้น
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในอัตรา 17.7% เนื่องจากค่าใช้จ่ายบุคลากรที่รับเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น ค่าฝึกอบรมพนักงาน และค่าที่ปรึกษาการเงินอิสระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น