วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หลุมดำเศรษฐกิจสหรัฐ คอลัมน์ วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2556


หลุมดำเศรษฐกิจสหรัฐ

คอลัมน์ วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2556
ผู้เข้าชม : 947 คน

นักวิเคราะห์หุ้นที่ชอบตะโกนเสียงดังในเรื่องร้าย พากันบอกว่า ทุนเก็งกำไรกำลังไหลกลับไปสหรัฐ และจะไม่กลับมาเอเชียง่ายๆ อาจจะท่องจำคำนี้มากเกินไปจนลืมข้อเท็จจริงที่กำลังสวนทางกันว่า หลุมดำของเศรษฐกิจสหรัฐที่จะทำให้ทุนที่ถอนกลับไปนั้น ติดหล่ม ยังมีอีกมากมาย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐนั้น ยังไม่ใช่สวรรค์ของการลงทุนแต่อย่างใด
หนึ่งในหลุมดำของเศรษฐกิจสหรัฐถูกเปิดเผยขึ้นมาโดยรัฐมนตรีคลัง เจคอบ ลูว์ ซึ่งได้ส่งจดหมายลงวันที่ 27 สิงหาคม ถึงสภาคองเกรสว่า ขอให้รัฐสภากรุณาปรับยืดเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลให้สูงขึ้นจากเพดานปัจจุบัน เพราะว่า หนี้สินดังกล่าวจะทะลุระดับเพดานจำกัดกลางเดือนต.ค. ที่จะถึงนี้
ในจดหมายดังกล่าวระบุถึงความจำเป็นเอาไว้ว่า หากทะลุเพดานหนี้สินระดับปัจจุบัน 1.67 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯจะมีปัญหาการกู้เงินรุนแรง หมดความสามารถในการกู้เงินเพิ่มอื่นๆ นอกจากเงินสดที่มีอยู่เท่านั้น  และภาครัฐจะไม่สามารถทำตามพันธะผูกมัดต่อหน่วยงานต่างๆ เช่น โครงการเพิ่มการประกันสังคม การเพิ่มจ่ายเงินปลดเกษียณ รวมทั้งจ่ายเงินเดือนต่างๆ ที่จำเป็นได้
ข้อเรียกร้องดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะว่า มาตรการทางการคลังชั่วคราวต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการทางการเงินของเฟดฯ ในการพิมพ์ธนบัตรออกมาซื้อจังค์บอนด์ของธุรกิจเอกชน ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐสภาคองเกรสใกล้จะสิ้นสุดการบังคับใช้ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้พอดีเช่นกัน ซึ่งหากความสามารถก่อหนี้เพิ่มของภาครัฐลดลง จะทำให้ภาครัฐทั่วโลกภาวะขาดแคลนเงินสดอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐหยุดชะงักทันที เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุคเริ่มต้นของประธานาธิบดีบิล คลินตันเมื่อ 22 กว่าปีก่อน
ข้อเท็จจริงเช่นนี้ หักกลบมายาภาพของการไหลกลับของทุนเก็งกำไรจากเอเชียและทั่วโลกไปยังตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุนของสหรัฐอย่างตรงกันข้าม
ตัวเลขของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่าในหลายเดือนมานี้ ธนาคารกลาง และกองทุนจากตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายแหล่ ที่เคยเข้าไปถือตราสารหนี้ของทางการสหรัฐระยะสั้น   stock swaps และตราสารหนี้ระยะยาว 10 ปี ได้ถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐอย่างต่อเนื่องเดือนต่อเดือน โดยเฉพาะอย่างหลังสุดในเดือนมิถุนายน มีตัวเลขขายออกมากถึง 6.69 หมื่นล้านดอลลาร์ จนยังผลให้ยอดเงินคงค้างสุทธิในในเดือนมิถุนายนปีนี้ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ตัวเลขในเดือนสิงหาคม  2551 เป็นต้นมา  และสถานการณ์ยังไม่หยุดง่ายๆ หากว่า แนวโน้มฐานะการคลังและหนี้สาธารณะของรัฐบาลอเมริกันเลวร้ายกลายเป็นหลุมดำดังที่เกิดขึ้น (ดูตารางประกอบการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้สหรัฐ)
มีคนให้ข้อคิดเชิงสมมติแบบกลับหัวกลับหางว่า ในกรณีที่กองทุนเก็งกำไร พาทุนร้อนไหลกลับเข้าไปในสหรัฐ ในยามที่ฐานะการคลังของรัฐบาลอเมริกันเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง แล้วธนาคารกลางชาติกำลังพัฒนาที่ถือตราสารหนี้ของสหรัฐทั้งหลายแห่ง พากันเทขายตราสารหนี้และหลักทรัพย์ทุกชนิดที่ถือในสหรัฐฯออกจากมือ เพื่อหนีปัญหาหลุมดำจะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบย่อมเห็นความน่าสะพรึงกลัวของการเงินสหรัฐฯ ในอนาคตไม่น้อย เพราะเจข้าหนี้ ของตราสารหนี้รัฐบาลอเมริกัน จากตัวเลขล่าสุด3 เดือนล่าสุดของปีนี้ สิ้นสุดเดือนมิถุนายน จะเห็นได้ชัดว่า มีประเทศเอเชียปะปนเข้าไปเป็นส่วนผสมที่สำคัญไม่น้อย นับแต่ จีน ญี่ปุ่นไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย และฟิลิปปินส์ (ดูตารางประกอบเจ้าหนี้ตราสารหนี้รัฐบาลอเมริกัน)
โดยเฉพาะไทยนั้น ติดอันดับเจ้าหนี้รายใหญ่อันดับ 23 ของรัฐบาลสหรัฐฯทีเดียววงเงินล่าสุดอยู่ที่ 5.02 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว
หากชาติในเอเชียเหล่านี้ ถอนตัวขายตราสารหนี้ดังกล่าว เลิกจมปลักกับหลุมดำของฐานะการคลังที่มีแนวโน้มเลวร้ายได้ รับรองว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะพังพินาศแบบไม่ธรรมดา
แล้วใครหน้าไหนที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวและมีเสน่ห์มากสำหรับทุนเก็งกำไรที่หนีออกจากเอเชียยามนี้ ลองตรองให้ดี จะเห็นสัจจะที่แยกออกจากมายาคติของนักวิเคราะห์ประเภท “โง่แต่เสียงดัง” ที่ช่วยซ้ำเติมอารมณ์ทางลบของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยยามนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น