วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เสถียรภาพที่ก้นเหว คอลัมน์ วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2556

เสถียรภาพที่ก้นเหว

คอลัมน์ วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 6 คน 

ตัวเลขล่าสุดจากยุโรป ชี้ให้เห็นว่าครึ่งแรกของปีนี้ จะเป็นช่วงที่ความเลวร้ายทั้งหลายที่ดำเนินมายาวนานหลายปีของยูโรโซน 17 ชาติ (ไม่นับอังกฤษ) ได้พบก้นเหวแล้ว และครึ่งหลังของปีมีตัวเลขหลายอย่างที่ส่งสัญญาณเชิงบวกว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆ กำลังเกิดขึ้น ท่ามกลางปัญหาที่ยังคงทับถมกันอยู่โดยเฉพาะเรื่องการว่างงานที่ยังเลวร้ายระดับเหนือกว่า 12% โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว
ตัวเลขจากการสำรวจโดยหน่วยวิจัยร่วมของ Barclays Plc และ JPMorgan Chase & Co ระบุว่า ในภาพรวมของ17 มีการเจริญเติบโตอีกครั้ง หลังจากที่เคยปรากฏมาก่อน 6 ไตรมาสติดต่อกัน โดยเริ่มตั้งแต่ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจการเงินที่เริ่มทำกำไรระลอกใหม่กันให้เห็นมากขึ้น
ผลประกอบการที่ดีขึ้นซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหุ้นทั่วยูโรโซน คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่ออกมาปรากฏในดัชนีตลาดหุ้นที่กลับทิศเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ชัดเจนในสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการทำนิวไฮในรอบหลายเดือนให้เห็น เฉลี่ยแล้ว 8 ในช่วง 3 เดือน
กลุ่มธนาคารเครดิต สวิส ได้ทำการวิเคราะห์หุ้นของกิจการที่คาดว่าจะ “ดีกว่าตลาด” ที่มีแนวโน้มกำไรสูงต่อเนื่องในอนาคต เพราะจะสามารถสร้างความได้เปรียบในช่วงเศรษฐกิจยุโรปเป็นขาขึ้นได้ดีกว่า โดยระบุว่า มี 19 บริษัท ที่จะทำกำไรรวดเร็วที่สุด ประกอบด้วย Cie de Saint-Gobain SA ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ สุดของยุโรป และ Siemens AG บริษัทวิศวกรรมหัวแถวของโลก โดยที่ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทเหล่านี้มีราคาหุ้นบวกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25%  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย
โรงงานในเยอรมนี รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือนเมื่อสิ้นสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี นักลงทุนต่างเพิ่มความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจได้พ้นจากจุดต่ำสุดมาแล้ว แม้ว่าจะยังคงมีปัญหาทางการเมืองภายในแต่ละประเทศสมาชิกอยู่ค่อนข้างสูงเช่นในอิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส
นอกจากนั้น ผลตอบแทนของตราสารหนี้ (บอนด์ยีลด์) ซึ่งสะท้อนว่า อนาคตของเศรษฐกิจยุโรปจะสดใสกว่าในปัจจุบัน โดยอัตราผลตอบแทนที่ต่ำสุดในรอบ 10ปี เป็นการยืนยันซ้ำที่น่าสนใจ
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในโปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก เติบโตขึ้นแรงในเดือนกรกฎาคม จากแรงสั่งซื้อจากดตลาดยูโรโซนด้วยกันเอง จีนมีตัวเลขส่งออกมายังยูโรโซนเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนเดียวกัน และสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมายูโรโซนก็เพิ่มขึ้น 8.6% ในช่วงเดียวกันเช่นกัน ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกของยูโรโซนไปยังชาติคู่ค่าก็เพิ่มขึ้น 3% ในช่วงไตรมาสแรกกของปีนี้ และต่อเนื่องถึงไตรมาสสองซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกต่อไป
บริษัทไอบีเอ็ม และ 3M ของสหรัฐฯมีกำไรเพิ่มขึ้นจากรายได้หลักในยุโรปในสัดส่วนสูงมากกว่าปกติ และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอเมริกันหลายราย ก็ปรับแผนธุรกิจใหม่เตรียมรุกเปิดสาขาแฟรนไชส์ในตลาดยูโรโซนมากขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ และตลอดปีหน้า
ตัวเลขสัญญาณดังกล่าว ไม่ได้หมายว่า เศรษฐกิจยุโรปตะวันตกจะกลับฟื้นคืนจากซากศพเสมือนนกฟีนิกซ์ในตำนานกรีกโบราณ แต่อย่างน้อยที่สุด โลกก็มีความหวัง ขึ้นมาว่า เสถียรภาพของเศรษฐกิจเริ่มปรากฏให้เห็นรำไร และสามารถมองหาอนาคตที่สดใสกว่าเดิมได้มากขึ้น ไม่หดหู่เสียจนทำอะไรไม่ถูก เพราะพะวงกับเรื่องหนี้สาธารณะและการตัดทอนงบประมาณลงจนกระทั่งโครงการขนาดใหญ่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแผ่วเบาลงไป
ขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ของเศรษฐกิจยูโรโซนในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากถึง 20% ทำให้มีการประเมินว่า เมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจยุโรปโตขึ้น 1% จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.7% เลยทีเดียว ที่สำคัญก็อยู่ที่จีนในฐานะชาติส่งออกที่มียุโรปเป็นคู่ค้าหลักรอบจากสหรัฐ ก็จะฟื้นคืนจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น เป็นห่วงโซ่ที่น่าสนใจ
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่า เศรษฐกิจยูโรโซนปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3% เทียบกับหดตัวลง 0.5% ในปีก่อน และสินค้านำเข้าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 3.7% หลังจากหดตัวลงมา 2 ปีติดต่อกัน
มุมมองเชิงบวกเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมานานกว่า 4 ปีแล้ว สำหรับยูโรโซนนับแต่วิกฤตการคลังของรัฐบาลกรีซเกิดขึ้น จนกระทั่งคนทั่วไปเริ่มจะเชื่ออย่างปลงตกว่า ยุโรปกำลังจะกลายเป็นเรือไททานิคที่รอวันล่มสลายจากปัญหาที่ยุ่งเหยิงยากจะแก้ ท่ามกลางสถานการณ์ลำบากที่ปิดไม่มิด จนถึงขนาดเอกันว่ายูโรโซนจะแตกสลาย หากยังขืนจะรวมยุโรปอย่างผิดธรรมชาติ
มาถึงวันนี้ ยุคสมัยของการที่ประเทศสมาชิกบางรายอย่าง กรีซ ไอร์แลนด์ ไซปรัส สเปน โปรตุเกส และแม้กระทั่งฝรั่งเศส ถูกหั่นเครดิตอันดับเรตติ้งครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ต้องเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้วมีส่วนทำให้ลุกลามเป็นปัญหาทางการเมืองตามมา จน รัฐบาลของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างน้อย 5 ประเทศ ต้องหลุดจากอำนาจ และที่มาแทนก็ไม่มั่นคง
ฝันร้ายของยุโรป จนถึงขั้นมีคำถามที่ท้าทายขึ้นมาว่า หากยูโรโซนล่มสลายเพราะแนวทาง เตี้ยอุ้มค่อม” ไม่ทำงานแล้ว เพราะชาติร่ำรวยให้ชาติร่ำรวยไม่อาจทนแบกรับภาระของชาติยากจน ดูเหมือนจะเกิดมุมมองใหม่กลายเป็นฝันดีมากขึ้น ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับชาวโลก
ในสถานการณ์ที่กำลังกลับขั้วใหม่เช่นนี้ มีคำถามว่าชาติคู่ค้า หรือชาติกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับยูโรโซน มีวิสัยทัศน์มากน้อยเพียงใด สำหรับรองรับและหาโอกาสไขว่คว้าประโยชน์เป็นของตนเอง
คำถามนี้ รวมถึงผู้ประกอบการและคนไทยในสังคมที่กำลังปริร้าวไม่รู้จบเพราะปัญหาความเชื่อเรื่องสีเสื้ออันไร้สาระเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น