วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เจาะลึกหุ้นเด่นครึ่งแรกของปี 2556 รายงานพิเศษ วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556

เจาะลึกหุ้นเด่นครึ่งแรกของปี 2556

รายงานพิเศษ วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 229 คน 


ผลการดำเนินงานไตรมาสสองและครึ่งแรกของปีผ่านไปเกือบหมดแล้ว ไม่นับบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาทางการเงิน หรือทางด้านการบันทึกบัญชี ซึ่งเป็นส่วนน้อย เราจะเห็นได้ว่า บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ล้วนมีชะตากรรมที่น่าสนใจ และส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นแตกต่างกันไป
ข้อมูลจาก นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 460 บริษัท หรือ 92.92% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 495 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่ม NC และ NPG) นำส่งผลการดำเนินงานงวดสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2556 แล้ว  โดยมีกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานจำนวน  368 บริษัท  คิดเป็น 80%  ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด
ยอดขายรวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในไตรมาส 2/56 อยู่ที่ 2,602,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.14% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 165,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.86%  แต่งวด 6 เดือน ยอดขายรวมอยู่ที่ 5,266,613 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.06% กำไรสุทธิ 409,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.74%  ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 18.28% จาก 16.86% ในปีที่แล้ว ส่วนอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 7.78% จาก 6.81% ด้านอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 1.27 เท่า
การทำกำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้ของ บจ. ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน เหมืองแร่ ปิโตรเคมีและเหล็ก มีผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือให้เป็นไปตามราคาตลาดและผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะเดียวกันการมีรายได้ที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์และจากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ เงินชดเชยค่าสินไหมน้ำท่วม ยังช่วยลดผลกระทบการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นสูงและทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
กำไรจากผลประกอบการดังกล่าว ถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งสอดรับกับข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่า  เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 และช่วงครึ่งปี ขยายตัวร้อยละ 4.1 พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ เหลือโตร้อยละ 3.8-4.3 จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 4.2-5.2
แม้ว่า มุมมองของหน่วยงานรัฐจะทำให้ตลาดหุ้นเพิ่มความผันผวนมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่นำเสนอโดย ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หลังจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล และยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤติที่รุนแรง แต่เป็นการปรับโมเมนตัมมาสู่การเติบโตตามปัจจัยพื้นฐาน หลังจากแรงผลักดันพิเศษของภาครัฐ อาทิ มาตรการรถยนต์คันแรก และการผลิตเร่งตัวหลังปัญหาน้ำท่วม
ข้อเท็จจริงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในตลาดนั้น ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปแต่อย่างใด ซึ่งหากใช้ปัจจัยนี้เป็นตัวพิจารณาราคาหุ้นของแต่ละบริษัทว่าจะขึ้นหรือลง และน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน  ต้องเริ่มจากเกณฑ์ในการตรวจวัดหลายประการ  เริ่มตั้งแต่ 1) เกณฑ์การเติบโตด้านรายได้ 2) เกณฑ์กำไร-ขาดทุนสุทธิ 3) เกณฑ์จ่ายปันผล 4)  เกณฑ์การฟื้นตัวของกิจการ
ในแง่ของรายได้  บริษัทที่มีการเติบโตทางรายได้ เป็นบริษัทที่ผู้บริหารมองไปข้างหน้าเพื่อสร้างกิจการให้เติบใหญ่รองรับอนาคตที่จะมาถึง ความขยันหารายได้ใหม่นั้น มีการทำได้ 2 วิธี คือ ขยายกิจการจากภายใน และเข้าซื้อกิจการมาเสริม ซึ่งมีข้อดีและเสียแตกต่างกันไป
จากตารางของบริษัทที่ทำรายได้เติบโตโดดเด่น 10 อันดับแรก  (ดูตารางประกอบ) จะพบว่าล้วนเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็กทั้งสิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ มีโอกาสที่จะเพิ่มขนาดของมาร์เก็ตแคป และเพิ่มขนาดของกำไรในอนาคตได้มากขึ้น ถือเป็นบริษัทที่ควรจับตาเป็นพิเศษ สำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่า
บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง GLAND หรือ บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) มีตัวเลขที่น่าสนใจอย่างมากจากโครงการ แกรนด์ พระราม 9 หรือ The Grand Rama 9 บนพื้นที่ 73 ไร่ กลางเมืองกทม. มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ที่จะใช้เวลารับรู้รายได้ยาวนานหลายปีติดต่อกันดี ถือเป็นบริษัทที่โดดเด่นและมีโอกาสเป็นยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ในอนาคตเทียบเท่ากับ 4 ยักษ์ในปัจจุบัน คือ  แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH), พฤกษา (PS), แสนสิริ (SIRI) และศุภาลัย (SPALI)
ในด้านทำกำไร ซึ่งเป็นตัวสะท้อนสุขภาพของธุรกิจในปัจจุบันได้อย่างดี โดยประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ กำไรจากการทำธุรกิจหลัก หรือ กำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์หรือเงินลงทุน ซึ่งอย่างแรกยั่งยืนกว่า (ดูตารางประกอบบริษัททำกำไรสุทธิ สูงสุด 10 อันดับแรก)
จากข้อมูลจะเห็นได้ชัดว่า PTT ยังคงมีผลกำไรที่โดดเด่นไม่เปลี่ยนแปลงในฐานะบริษัทอันดับหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์มายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อพิจารณาการเติบโตของการทำกำไร จะพบว่าในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่นั้น SCC และ PTTGC ทำกำไรเติบโตโดดเด่นกว่าหลายเท่าเลยทีเดียว
กำไรสุทธิดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นบริษัทใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่หากจะลงลึกในรายละเอียด ต้องไปดูการเติบโตของผลกำไรสุทธิว่าเพิ่มขึ้นในอัตราน่าสนใจ

(ตาราง บริษัทที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก)
จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บริษัทที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนเป็นบริษัทขนาดเล็กและกลางเป็นส่วนใหญ่  โดยที่บางบริษัทฟื้นตัวจากการขาดทุนในครึ่งปีแรกของปี 2555 ทำให้มีอัตราเพิ่มของกำไรสุทธิสูงมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ  ERW หรือ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม
เกณฑ์เงินปันผล (ดูตารางบริษัทจ่ายปันผลคิดจากสัดส่วนของกำไรสุทธิ หรือ dividend payout) จะพบว่าในด้านตัวเลขจำนวนเงินนั้น บริษัทขนาดใหญ่ ยังคงเดินหน้าจ่ายเงินปันผลที่งดงามเสมอ นำโด่งมาโดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ซึ่งได้รับผลดีจากธุรกิจวัสดุก่อสร้างและกระดาษที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ รวมทั้งการลงทุนในประเทศ  เช่น ซื้อกิจการของ GLOBAL เข้ามาในเครือ และลงทุนต่างประเทศหลายกิจการ เช่น อินโดนีเซีย ก็ผลิดอกออกผลเร็ว ทำให้มีกำไรกลับคืนมาโดดเด่น  โดยยืนยันว่า หากยังดีเช่นนี้ไปตลอดครึ่งหลังของปี อาจจะจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 15 บาทต่อหุ้นเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจก็คือ ADVANC และ INTUCH มีกำไรค่อนข้างมากก็จริง แต่ยังใจป้ำกว่าปกติ ต่อเนื่องเพราะมีการจ่ายปันผลต่อหุ้นมากกว่ากำไรต่อหุ้นที่ได้รับมาอีก หรือ dividend payout มากกว่า 100% ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะบริษัทแม่ คือ เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ไม่มีนโยบายเก็บกำไรสะสมเอาไว้
หุ้นเช่นนี้ นักลงทุนที่หวังเงินปันผลชอบเป็นพิเศษ
ยังมีเกณฑ์ที่น่าสนใจอีก คือ บริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นตัวกลับคืนจากการขาดทุนมาเป็นกำไร หรือ turnaround   (ดูตารางประกอบบริษัท ที่เคยขาดทุนแล้วกลับมาทำกำไร)  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หุ้นของบริษัทเหล่านี้ จะกลับมาโลดลิ่วอย่างสวยงามกว่าหุ้นอื่นๆ ทั่วไป ถ้าหากว่า การกลับมานั้น เป็นการกลับมาที่ยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากการขายทรัพย์สิน หรือ ตบแต่งบัญชี หรือปรับโครงสร้างหนี้ชั่วคราว
จากข้อมูล จะพบว่า  GEN เป็นหุ้นที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษ ตามมาด้วย GFPT ซึ่งได้รับผลพวงจากการส่งออกเนื้อไก่ไปยังตลาดสหภาพยุโรปที่เปิดกว้างมากกว่าคู่แข่งขันรายอื่นๆ
ส่วนเกณฑ์ร้ายที่นักลงทุนจะต้องไม่พลาดเลือกซื้อหุ้นผิดตัวเพราะเชื่อในชื่อเสียงเก่าๆ ก็คือบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนมากมาย 10 อันดับแรก (ดูตารางบริษัทขาดทุนสุทธิมากสุด 10 อันดับแรก) 
ข้อที่น่าสนใจก็คือ บริษัทที่ติดอันดับขาดทุนมากเหล่านี้ มีตัวเลขขาดทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ถือเป็นข่าวดี ซึ่งนักลงทุนบางกลุ่มที่ชอบเสี่ยงอาจชอบเพราะถือว่า อาจจะซื้อของถูกรอวันเทิร์นอะราวด์ในอนาคต
บริษัทที่เคยมีตัวเลขน่าหวาดเสียวมากที่สุด คือ SSI ซึ่งในอดีตมีผลประกอบการกินตัวเองอย่างมากนานกว่า 2 ปี ในปีนี้จะขาดทุนน้อยลงไปมาก เนื่องจากสามารถบริหารตัวเลขการขาดทุนและต้นทุนการเงินกับเจ้าหนี้ได้ยืดหยุ่นมากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือสรุปผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดครึ่งแรกของปี 2556 โดยสังเขป นักลงทุนสามารถเทียบเคียงพิจารณาได้โดยดุลยพินิจเพื่อเข้าลงทุนตามสะดวก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น