ทิศทางนโยบายเฟดทุบหุ้น-เงินเอเชียต่อ
ต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2556 ผู้เข้าชม : 5 คน
วอลล์สตรีท เจอร์นัล - ความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่เกี่ยวกับทิศทางนโยบายของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเอเชียในวงกว้าง แม้ว่าข้อมูลในภาคผลิตของจีนที่ดีขึ้น จะช่วยดึงให้หุ้นในบางตลาดขยับตัวขึ้นได้บ้าง
รายงานการประชุมเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมของธนาคารกลางสหรัฐไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มลดการซื้อพันธบัตร มีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนที่มองว่าจะมีการเคลื่อนไหวในเร็วๆ นี้ ในขณะเดียวกันก็มีไม่กี่คนที่เห็นว่าควรอดทนไว้ก่อน
วอลล์สตรีทมีปฏิกิริยาในทางลบต่อรายงานการประชุมของเฟด ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 0.7% เมื่อคืนวันพุธ จึงนำตลาดเอเชียให้ติดลบไปด้วย
นิโคลัส สมิธ นักกลยุทธ์หุ้นของซีแอลเอสเอ ในโตเกียว กล่าวว่า คนที่เชื่อว่าเฟดจะเริ่มลดการซื้อพันธบัตรในเดือนกันยายนก็ยังคงเชื่อเช่นนั้นอยู่ ในขณะที่ผู้ที่จินตนาการว่าจะเริ่มลดในเวลาต่อมายังคงแน่วแน่เช่นนั้น
ความวิตกที่เฟดจะลดมาตรการกระตุ้นเป็นสาเหตุให้เกิดแรงเทขายในเอเชียในช่วงต้นสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หุ้นอินโดนีเซียปรับตัวลง 7.7% ในช่วงวันจันทร์ถึงวันพุธ ในขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลง 6.3% ในช่วงเดียวกัน
แนวโน้มดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาถึงเมื่อวานนี้ ดัชนีคอมโพสิตพีเอสอี ของฟิลิปปินส์ ปรับตัวลง 6% เมื่อตลาดเปิดการซื้อขายอีกครั้งหลังจากที่ปิดไปสามวัน ขณะที่ดัชนีเจเอสเอ็กซ์ของอินโดนีเซียปรับตัวลงอีก 1.1%
สกุลเงินในเอเชียก็ยังคงได้รับแรงกดดัน โดยเงินรูปีอินเดียอ่อนค่าทำสถิติใหม่ถึง 65.22 รูปีต่อดอลลาร์ ขณะที่ริงกิตมาเลเซียก็อ่อนสุดในรอบสามปีอีกครั้ง โดยอยู่ที่ 3.32 ริงกิตต่อดอลลาร์
ตัวเลขในเบื้องต้นของเดือนสิงหาคมที่ชี้ว่ามีการฟื้นตัวมากในภาคโรงงานจีนได้ช่วยฉุดบางตลาดในเอเชียให้พ้นจากการอ่อนตัวรุนแรงในช่วงเช้าได้ ดัชนีฮั่งเส็งปรับตัวลง 0.7% ก่อนแต่ในที่สุดสามารถปิดในแดนบวกได้ 0.36% แต่ดัชนีคอมโพสิตเซี่ยงไฮ้ ปรับตัวขึ้นหลังมีการเปิดเผยดัชนีพีเอ็มไอจากเอชเอสบีซี แต่เมื่อปิดตลาด ดัชนีกลับปรับตัวลง 0.28%
ดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่น ปรับตัวลง 0.44% โดยค่าเงินเยนอ่อนตัวลงหลังจากที่ข้อมูลจากจีนออกมา จึงช่วยให้ดัชนีกระเตื้องขึ้น โดยเงินเยนอ่อนลงไปอยู่ที่ 98.13 เยนต่อดอลลาร์ เทียบกับ 97.70 เยนต่อดอลลาร์เมื่อคืนวันพุธ ในขณะเดียวกันหุ้นญี่ปุ่นยังมีปฏิกิริยาต่อข่าวลบของบริษัทด้วย เช่น บริษัทโตเกียว อีเล็กโทรนิค พาวเวอร์ ยังคงได้รับแรงกดดัน โดยปรับตัวลง 4.1% หลังจากที่มีรายงานของนิกเกอิ ว่า น้ำกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ได้ไหลเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว
ส่วนตลาดอื่นๆ ในเอเชีย ดัชนี S&P/ASX 200 ของออสเตรเลียปรับตัวลง 0.48% ขณะที่ดัชนีคอสปิ ปิดลดลง 0.98% ส่วนดัชนีสเตรทไทม์ของสิงคโปร์ ลดลง 0.63% แต่ ตลาดหุ้นอินเดียฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ปิดเพิ่มขึ้น 2.21%
ตลาดยุโรปและเงินยูโรเด้งกลับได้เมื่อผลการสำรวจธุรกิจครั้งใหม่ยืนยันการคาดการณ์ที่ว่ามีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และทำให้มีความต้องการหุ้นธนาคารและกลุ่มการเงิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น