วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สันดานดิบอเมริกัน คอลัมน์ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556


สันดานดิบอเมริกัน

คอลัมน์ วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556
ผู้เข้าชม : 6 คน

กรรมการระดับสาขาย่อยของเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ ออกมาแก้ต่างแทนเบน เบอร์นันเก้ ผู้ว่าฯ ที่ถูกกระหน่ำจากหลายด้านว่า การลดอัดฉีดเงินตามมาตรการ QE3-4 ที่กำลังถกเถียงกันยามนี้ เป็นการทำให้ทุนไหลออกจากชาติกำลังพัฒนาทั่วโลก ซ้ำเติมให้ภาวะเศรษฐกิจโลกซวนเซว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบของตนเอง เพราะพันธกิจของพวกเขาคือ การทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวตามเงื่อนไขที่มีต่อรัฐสภาอเมริกัน
คำพูดดังกล่าว ด้านหนึ่งเป็นความจริง  อีกด้านหนึ่งเป็นสันดานอหังการที่แก้ไม่หายของชนชั้นนำสหรัฐฯที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก โดยไม่แยแสต่อชะตากรรมของชาติอื่นๆ 
 ในด้านของความเป็นจริง  คำถามของบรรดากรรมการสาขาเฟดฯ ว่า มาตรการ QE ทุกครั้ง คือ การพิมพ์ธนบัตรออกมาซื้อจังค์บอนด์ (ตราสารหนี้คุณภาพต่ำ ดอกเบี้ยแพง) ของบริษัทเอกชนโดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ซวนเซอย่างรุนแรงห้ำพ้นวิกฤต ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นมาแล้ว การอัดฉีดเงินซื้อจังค์บอนด์ไม่มีกำหนด ย่อมไร้ประโยชน์ และทำให้เกิดการดื้อยา การยกเลิกจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น
ประเด็นที่พวกเขาตั้งคำถามก็คือ ทำไมชาติต่างๆในโลก จึงไม่หาทางรับมือที่จะช่วยตัวเองกับสถานการณ์ ทำนองเดียวกันกับที่สหรัฐเลิกอุ้มชูจังค์บอนด์
แม้คำพูดของคนเหล่านี้จะมีส่วนจริง แต่ก็เป็นความจริงเพียงด้านเดียว เพราะ ไม่อาจปฏิเสธว่า วิกฤตซับไพรม์ที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐฯนั้น ได้ลากจูงให้ชาติต่างๆ ตกอยู่ในฐานะตัวประกันของสหรัฐฯ ธนาคารชาติต่างๆจำต้อง เข้าไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอเมริกันเพื่ออุ้มชูค่าดอลลาร์  โดยเฉพาะจีนที่กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบัน
 มาตรการ QE  ซึ่งมีสาระหลักที่การโอนย้ายภาระหนี้การเงินของเอกชนเป็นหนี้สาธารณะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ย่อยยับ วิธีการที่เฟดฯ พิมพ์ธนบัตรมหาศาลเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วเอาเงินดังกล่าวเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินตราสารหนี้จากธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจเอกชนทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ไร้ค่าแล้วเพื่อหยุดยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามจนธุรกิจล่มสลาย
การพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาล พร้อมกับการออกพันธบัตรมาขายธนาคารกลางชาติต่างทั่วโลก จะบอกว่า เป็นการช่วยเหลือตนเองฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ย่อมเป็นการพูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วเข้าคนอื่น อย่างน่าด้านๆของกรรมการสาขาของเฟดฯ อย่างแท้จริง เข้าข่าย “เสร็จนา ฆ่าโคถือ” ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้น เพราะหากสหรัฐมีความรับผิดชอบ พวกเขาย่อมรู้ดีว่า เศรษฐกิจสหรัฐนั้น ไม่อาจจะดีขึ้นมาได้โดยลำพังในขณะทีเศรษฐกิจโลกอาจจะซวนเซหรือล่มสลายในบางประเทศ
การไหลกลับของทุนเก็งกำไรผ่านกองทุน ETFs ที่กำลังเกิดขึ้นยามนี้ในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ในประเทศต่างๆโดยเฉพาะในเอเชีย เป็นผลเกี่ยวโยงกันระหว่างสหรัฐฯกับสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจในกระแสโลกาภิวัตน์ที่แยกไม่ออก การร่วงลงของค่าเงินต่างๆ ในเอเชีย ด้านหนึ่งสะท้อนการไหลออกแบบหมดเสน่ห์ของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศเหล่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง มันคือการสร้างศักยภาพใหม่ในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศให้กับชาติต่างๆทั่วโลก เมื่อเทียบค่าราคาสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ
ข้อดีในระยะสั้นของการที่ค่าดอลลาร์แข็งแกร่งจากการลดมาตรการ QEลง อยู่ที่ทำให้สงครามค่าเงินที่จะเกิดขึ้นในโลกดังที่เคยวิตกกังวลเมื่อหลายเดือนก่อน สิ้นสุดลงชั่วคราว เพราะมีเรื่องที่น่ากังวลอื่นมาทดแทน นั่นคือ การเติบโตและการว่างงานที่เลวร้ายลงของชาติต่างๆทั่วโลกที่เป็นจุดไหลออกของเงินทุนเก็งกำไร
การแข่งขันทางการค้าจากนี้ไป ในช่วงที่ค่าดอลลาร์แข็งแกร่งเพราะทุนไหลกลับเข้าสหรัฐมากขึ้น จากการเก็งกำไรว่าราคาสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นในอนาคต สามารถคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่าว่าในช่วง 6 เดือนจากนี้ไป ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐจะเริ่มกลับมาเลวร้ายลง จนกระทั่งสหรัฐฯอาจจะต้องงัดมาตรการกีดกันทางการค้ามาปกป้องตัวเอง และหากว่า การขาดดุลการค้ารุนแรงถึงขั้นดุลบัญชีเดินสะพัดเลวร้ายเป็นผลพวงต่อเนื่อง ทุนเก็งกำไรก็จะไหลออกจากสหรัฐฯกลับไปหาความปลอดภัยในชาติกำลังพัฒนาอื่นๆระลอกใหม่
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นวัฏจักรที่ไม่หลาบจำของสหรัฐเอง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว จนเกิดปรากฏการณ์ “3 ขาดดุล ” (ขาดดุลงบประมาณ ขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด) เรื้อรังมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว
นักคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองอเมริกันที่มีมุมมองแบบเอียงซ้าย เปรียบเปรยว่ามาตรการ เอาดีคนเดียว คนอื่นหายนะ” ของอเมริกันนี้ เปรียบได้กับคำพูดคร่ำครึของนักคิดกรีกโบราณ ไดโอจีนีส แห่งไซน็อป ที่พยายามปลอบใจตนเองว่า ความยากจนสิ้นไร้ทางวัตถุคือความสุขสมบูรณ์ทางจิตของมนุษย์
คำพูดอย่างอหังการของกรรมการเฟดฯ สาขาเซนต์หลุยส์ ที่บอกว่า “เฟดฯ ไม่เคยมีการกำหนดนโยบายที่ตั้งบนรากฐานของความผันผวนของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่เลย” จึงเป็นท่าทีอกตัญญูที่ชาติทั้งหลายทั่วโลก จะต้องพากันจดจำกันให้ดีในฐานะคำพูดแห่งประวัติศาสตร์ เพราะสมมติฐานว่า เศรษฐกิจอเมริกันดี เศรษฐกิจโลกย่อมดีด้วย และเศรษฐกิจอเมริกันแย่ คือเศรษฐกิจโลกแย่ที่ต้องช่วยกันโอบอุ้ม เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างถึงที่สุด
 การขายหุ้นเพื่อนำทุนเก็งกำไรกลับไปยังสหรัฐฯของกองทุน ETFsในตลาดหุ้นทั่วเอเชีย จึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์แก่นักลงทุนได้ว่า แม้เศรษฐกิจชาติกำลังพัฒนาจะเปิดกว้าง แต่การหาทางสกัดกั้นทุนเก็งกำไรไม่ให้ไหลเข้าออกรวดเร็ว จนเกินควบคุมได้ เป็นมาตรการที่พึงกระทำ หากไม่ต้องการเป็นทาสของทุนเก็งกำไรอเมริกันไม่จบสิ้น
ข้อเสนอของนักคิดอังกฤษ เฮลีน เรย์ จาก London Business School, และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส ฌอง ปิแอร์ ล็องดอ ที่ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนา จะต้องหาเครื่องมือบริหารการไหลเข้าออกของทุนเก็งกำไรอย่างมีขั้นตอนเพื่อปกป้องตนเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งขาขึ้นและขาล่อง แม้ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่ก็มีน้ำหนักเหมากับสถนการณ์
อย่างน้อยที่สุด บรรดานักวิเคราะห์ท้องถิ่นสันดานทาสที่อวดฉลาดแต่งมโง่ ซึ่งพากันใส่แว่นสีมองเห็นกองทุนต่างชาติเป็นสรณะ ทำอะไรก็มีเหตุผลไปเสียทุกอย่าง จะได้เลิกขายความคิดทาสที่แพร่กระจายกันเสียที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น