วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ดร.ดูม กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2556

ดร.ดูม กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์

คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2556 
ผู้เข้าชม : 6 คน 

ท่ามกลางมุมมองทางลบครอบงำตลาดหุ้นไทยยามนี้ หากมองย้อนหลังกลับไปถึงทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นไทยหลายเดือน จะพบว่า เดือนสิงหาคมปีก่อนนี้ ก็มีอารมณ์ทำนองนี้ท่วมตลาดเช่นกัน แล้วหากมองย้อนกลับไปหลายๆ ปี ก็จะพบพฤติกรรมซ้ำซ้อนกันอย่างน่าประหลาดใจไม่น้อย

                หากเป็นที่ตลาดวอลล์สตรีท จะต้องมีคนบอกว่า ปรากฏการณ์หุ้นตกแรง และมุมมองเชิงลบครอบงำตลาดนั้น เป็น August Effect ของตลาดหุ้นไทย ก็คงไม่ผิดอะไร

                ภายใต้สถานการณ์ยามนี้ คำพูดของคนประเภท ดร.ดูม จึงมีเสียงดังมากกว่าปกติ โดยเฉพาะหลังจากปรากฏการณ์ ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงแรงติดต่อกัน 4 วันต่อเนื่อง พร้อมกับพอร์ตกองทุนเก็งกำไรต่างชาติ (ETFs และ hedge funds) ขายออกทุกวันแรง ตามสมทบด้วยพอร์ตโบกรเกอร์ที่ร่วมหัวสมคบคิดทุบเอาของราคาถูก ทั้งที่ว่าไปแล้ว หากฉุกคิดกันแบบมีสติ ไม่ใช่เป็นกระต่ายตื่นตูม จะเห็นได้ว่า ดร.ดูมนั้น 98% ไม่เคยถูกต้อง จะมีบังเอิญบางครั้งเท่านั้นที่สถานการณ์มาพ้องกัน เพื่อให้สมอ้างเชื่อกันเป็นมายาคติ

                นักลงทุนมือเซียนระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ จึงกล่าวเยาะเย้ยเสมอมาว่า พวก ดร.ดูมทั้งหลายนั้น มีไว้หลอกนักลงทุนขวัญอ่อน แต่เป็นเครื่องมือชั้นดีสำหรับการซื้อของวีไอ.เสมอ

                คำกล่าวของบัฟเฟต ควรแก่การรับฟังไว้เตือนสตินักลงทุน ทำนองเดียวกับกับคำพูดของลอร์ด นาธาน รอธไชลด์แห่งตลาดไนลอนดอนเมื่อ 200 ปีก่อนที่ว่า เมื่อเสียงฟืนดังขึ้นและเลือดนองถนน นั่นคือเวลาซื้อที่สำคัญยิ่ง

ในด้านพฤติกรรมสังคม คำพูดของคนที่ถูกตั้งฉายาว่า ดร.ดูม ซึ่งหมายถึงคนที่ชอบป่าวประกาศถึงความมืดมนอนธการแห่งอนาคต หรือดีสโตเปีย จะมีแรขับของจิตสำนึกพลานุภาพของด้านมืดแห่งทุนนิยม ด้วยจินตนาการที่พิสูจน์ได้ยาก บางครั้งไม่รู้จะอ้างอะไรก็อ้างศาสตร์แห่งดวงดาวอะไรอย่างเรื่อยเจื้อยด้วย ปลายลิ้นอันไร้ยางอายในยามที่สถานการณ์กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และผู้คนกำลังสับสน
ดร.ดูม คนแรกของไทยแลนด์แดนสยามคือ คนที่ลงมือเขียน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เมื่อก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง พ.ศ. 2310 นั่นเอง
สำหรับ ดร.ดูม ในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วไป คือคนที่พยายามป่าวประกาศการพยากรณ์เชิงลบว่า หุ้นจะตก เศรษฐกิจจะล่มสลาย เงินจะเฟ้อหนัก และคนจะตกงานมหาศาล ซึ่งคำพยากรณ์ทางร้ายดังกล่าว มักจะถูกนักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิเคราะห์จิตตก ปัญญาชนไร้สมอง และสื่ออคติ  หยิบยกเอาไปใช้เป็นเชิงอรรถประกอบความเห็นส่วนตัวอย่างแพร่หลาย
เชื้อชั่วของ ดร.ดูมไม่เคยตาย โดยเฉพาะไม่เคยตายจากบรรดานายธนาคารกลางทุกแห่งของโลก ทั้งที่ว่าไปแล้ว ต้นกำเนิดของ ดร.ดูม มาจากนิยายภาพราคาถูกที่ในสหรัฐฯ ของสำนักพิมพ์มาร์เวล ที่โผล่เรื่องมาพร้อมกับคำทำนายถึงหายนะล่วงหน้าที่เกิดจากน้ำมือของตนเองล่วงหน้า ซึ่งลงท้ายมักจะผิดเสมอ
สองปีก่อน ดร.ดูมที่อ้างว่าเชี่ยวชาญเรื่องยุโรป ระบุว่า สหภาพยุโรปที่ผิดธรรมชาติจะล่มสลาย แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไรย่อมชัดเจน เพราะล่าสุด ยุโรปกำลังเริ่มดีวันดีคืน พ้นจากก้นเหวแล้ว แม้จะยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ไม่มีใครพูดถึงการล่มสลายของสหภาพอีกเลย
เช่นดียวกับ ตอนที่สหรัฐใช้ QE หลายๆ ครั้งติดต่อกัน ก็มีคนบอกว่าดอลลาร์จะลงจากระดับปัจจุบันอีกถึง 20% เพราะสหรัฐฯจะไม่สามารถชี้นิ้วสั่งโลกได้อีก ผลลัพธ์ก็เป็นที่ทราบกันดี เพราะที่ตลาดหุ้นและการเงินวุ่นวายยามนี้ก็เพราะ เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังจะฟื้นตัวจนไต้องหาทางลด QE ให้น้อยลง
ปีที่แล้ว ใครก็พูดกันถึงมหัศจรรย์ของเอเชีย และ BRICS แต่ปีนี้ เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวเกินคาด และตัวเลขการค้าระหว่างประเทศถดถอย และราคาหุ้นตกทั่วโลก สัญญาณร้ายจาก ดร.ดูม ก็กลับมากระหึ่มอีกครั้ง
คำแนะนำให้ถอนตัวจากตลาดหุ้น ย้ายไปตลาดบอนด์ หรือ  เตรียมรับมือความผันผวน  จึงกลายเป็นคำพูดคำโตที่แพร่กระจายไปในสื่ออย่างกว้างขวาง จนแทบจะไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่า เป็น ”คำเตือนด้วยปรารถนาดี” หรือ ”เจตนาของเด็กเลี้ยงแกะ” กันแน่
เมื่อวานนี้ จีนประกาศตัวเลขว่า PMI หรือดัชนีผลผลิตพุ่งโดดเด่นเกินคาด หักล้างการคาดเดาของนักวิเคราะห์ทุกสำนัก จากระดับ 47.7 จุดเมื่อเดือนก่อน เป็น 50.1 จุด และคาดว่า จีดีพี.สิ้นปีนี้จะกลับมาดีขึ้นที่ระดับ 7.5% ไม่ใช่ 7.0% แบบที่คนเชื่อกัน
ข้อเท็จจริงดังกล่าว สวนทางกันกับการนำเสนอของสื่อตะวันตกที่บอกว่าทุนกำลังไหลออกจากเอเชียกลับไปสู่ตลาดตราสารหนี้ในสหรัฐอย่างเอาเป็นเอาตาย และควรขายหุ้นในเอเชียทิ้งเพราะไม่คุ้มการลงทุน ซึ่งโดยนัยก็คือ การขายของกองทุนเก็งกำไรดังกล่าวเป็นการ “ขายหมู” เพราะเชื่อทัศนคติที่ถูกครอบงำโดยนักวิเคราะห์แบบ ดร.ดูม
                นักลงทุนที่ไม่ได้พลั้งเผลอกับการซื้อหุ้นพื้นฐานเลวแต่ราคาหวือหวา ต้องตัดสินใจให้ชัดว่า การคิดแบบ ดร.ดูม กับคิดแบบวอร์เรน บัฟเฟตต์นั้น ให้ผลลัพธ์ต่างกัน เพราะว่า คนแรกนั้น พยากรณ์ผิดเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนหลังซื้อหุ้นผิดน้อยมาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น